โรคหัวใจ เป็นโรคที่มีความหมายกว้างมาก และอาการเจ็บป่วยของโรคหัวใจนั้น ก็อาจจะเกิดจากการเจ็บป่วยของโรคอื่นก็ได้
ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น หมายถึงกลุ่มโรคที่มีผลกระทบต่อระบบหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจล้มเหลว โรคหัวใจอักเสบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคหัวใจรูมาติก ฯลฯ
สาเหตุการเกิดโรค
พล.อ.นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบมากและเป็นอันตรายที่สุดคือ อาการหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่นำพาไปสู่อาการหัวใจวาย (Heart Attack) ซึ่งแต่เดิม การแพทย์เชื่อว่า เกิดจากการสะสมของไขมันบนผนังหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน
แต่ปัจจุบันอาการหัวใจวาย ที่พบบ่อยมักเกิด จากการที่ผนังหลอดเลือดด้านในแตกจนเกินการสะสมของลิ่มเลือด และนำไปสู่การอุดตันของลิ่มเลือดแบบเฉียบพลัน ซึ่งการแตกของผนังหลอดเลือดด้านในนี้ เกิดจากภาวะการอักเสบ (Inflammation) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากอารมณ์แปรปรวน อาหาร อนุมูลอิสระ ตลอดจนถึง ภาวะความร้อนในร่างกาย การทำงานของฮอร์โมน การทำงานของประสาทอัตโนมัติ
ข้อบ่งชี้การเกิดโรค
อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญืแต่เราเองก็สามารถสังเกตอาการบางอย่างเพื่อสันนิษฐานเบื้องต้น เช่น เป็นโรคอ้วย เครียดมาก ใจร้อน รวมถึงภาวะอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ เป็นต้น
ส่วนระยะการแสดงอาการ จะแสดงออกในระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น วิ่ง เดิน ขึ้นบันได หรือเมื่อโกรธ จะเจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจขาดเลือด จะแตกต่างจากการเจ็บแบบอื่น โดยจะเจ็บแน่นๆ บริเวณหน้าอกด้านซ้าย หรือสองด้าน บางรายจะเจ็บร้าวไปที่แขนซ้าย หรือปวดไปถึงกรามคล้ายเจ็บฟัน บางรายที่เป็นมาก แม้จะหยุดออกกำลังกายก็ยังเจ็บอยู่ นอกจากนี้ ยังมีอาการหอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ ใจสั่น ขาบวม และอาจจะเป็นลมหรือวูบร่วมด้วย
การดูแลป้องกัน
โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใชชีวิต
– อาหาร ความอ้วนและอาหารมัน จะทำให้เกิดไขมันเกาะตามหลอดเลือด การรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมกับช่วงวัย จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้มาก
– อารมณ์ ต้องหมั่นควบคุมอารมณ์ไม่ให้เครียด ใจร้อน
– การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตและเป็นยาวิเศษที่ต้านทานโรคได้ดี
การรักษาทางการแพทย์
เมื่อเกิดภาวะบ่งชี้ของโรค เช่น เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก ใจสั่น และขาบวม ให้สันนิษฐานว่า อาจเป็นโรคหัวใจและพาคนป่วยมาพบแพทย์ทันที ยิ่งถึงมือแพทย์เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่แพทย์จะแก้ไขเส้นเลือดอุดตันให้เลือดไหลเวียน ก็จะทำได้อย่างเร็วและมีประสิทธิภาพ
การดูแลหลังการรักษา
แต่ก่อนเราเชื่อว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจทำอะไรไม่ได้อีก แต่ปัจจุบันความเชื่อนั้นเปลี่ยนแปลงไป คนผ่าตัดหัวใจแล้ว ยังสามารถไปทำงานได้ตามปกติ สามารถออกกำลังกายได้ไม่แพ้คนปกติ บางคนแข็งแรง สามารถเล่นกีฬาได้เหมือนนักกีฬาอาชีพ แต่การฟื้นฟูร่างกายนั้น คนไข้ควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจ ซึ่งจะทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้