เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนโดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวหรือระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม เด็กๆ มักจะป่วยและมาหาหมอที่โรงพยาบาลบ่อย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงและมักจะรับเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะไวรัส RSV ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ส่งผลรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้ ซึ่งยังไม่มียารักษาและวัคซีน
พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจเด็ก โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า RSV (Respiratory Syncytial Virus) จริงๆ แล้วเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้ทางเดินหายใจอักเสบในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่อาการจะเป็นมากในช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยตั้งแต่ วัยbaby จนถึงช่วงวัยเข้า nursery ค่ะ ในประเทศไทยมักมีการระบาด ในช่วงฤดูฝน โดยเด็กๆ จะติดเชื้อ RSV จากการรับเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จากการสัมผัส หรือละอองน้ำมูกของผู้ป่วยคนอื่น และมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน สามารถเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ส่วนบนจนถึงส่วนล่าง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีอาการปอดบวม ไอ หอบได้ง่าย เด็กจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย บางครั้งเป็นมากจะหายใจดัง “วี้ด” ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการหายใจล้มเหลวได้ นอกจากนั้นยังส่งผลให้เด็กบางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหอบหืดในอนาคตได้อีกด้วยลูกเป็นไข้หวัดธรรมดา หรือเป็น RSV
เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัดเลยค่ะ คือ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก แต่สิ่งที่พ่อแม่สามารถสังเกตเห็นว่าลูกอาจจะติดเชื้อ RSV ได้แก่- ไอมาก เสมหะเยอะและเหนียวข้น
- อาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจแรง หน้าอกบุ๋ม
- อาจมีเสียงหายใจดังวี้ด ๆ
- ไม่กินอาหารและน้ำ
- ไข้สูง
- มักจะซึม หรือหงุดหงิด กระสับกระส่าย
“ทำอย่างไร ห่างไกล RSV”
เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ทำให้เด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสในช่วงที่แพร่ระบาดได้มากโดยเฉพาะสถานที่ที่เด็กอยู่กันมากๆ เช่น โรงเรียนอนุบาลหรือ nursery ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยไม่ป่วยจากโรคนี้ คือ การมีร่างกายที่แข็งแรงและรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ด้วยวิธีดังต่อไปนี้- ล้างมือบ่อยๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนกินอาหาร เพราะไวรัส RSV สามารถติดต่อได้จาก น้ำลาย น้ำมูก ไอ จาม
- ไม่ควรให้ลูกอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด โดยเฉพาะหากโรงเรียน หรือ nursery มีการระบาดอยู่
- ทำความสะอาดของเล่น
- ผู้ป่วยต้องปิดปากหรือใส่หน้ากากอนามัยเวลาไอจามเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด
- เมื่อลูกต้องอยู่ในอากาศที่หนาวเย็น ควรทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ