ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่ใช้งานข้อมือหนัก ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้คนส่วนมากมีการใช้งานคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนอยู่เป็นประจำ ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ข้อมืออักเสบมากขึ้น หากปล่อยปละละเลย ไม่ทำการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้อาการอักเสบรุนแรง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ในที่สุด
Key Takeaways
- ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ คือ การอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่ใช้กางนิ้วหัวแม่มือที่อยู่บริเวณข้อมือ ทำให้เกิดอาการปวดข้อมือด้านโคนนิ้วหัวแม่มือ โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อมือร่วมกับออกแรงกดที่นิ้วหัวแม่มือ
- สาเหตุที่ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ได้แก่ การใช้งานข้อมือหนัก ใช้งานข้อมือด้วยท่าทางซ้ำ ๆ อุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บ หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางอย่าง เป็นต้น
- การป้องกันเอ็นข้อมืออักเสบสามารถทำได้ด้วยการหยุดพักการใช้งานข้อมือ บริหารข้อมือสม่ำเสมอ รวมถึงการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม
สารบัญบทความ
- ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ คืออะไร?
- อาการที่พบบ่อยเมื่อปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ มีอะไรบ้าง?
- ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบเกิดจากสาเหตุใดบ้าง?
- ใครบ้างเสี่ยงเป็นปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ?
- วิธีการรักษาปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ มีอะไรบ้าง?
- ไม่อยากปวดข้อมือจากปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ มีวิธีป้องกันอย่างไร?
- ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบอย่าปล่อยไว้ รีบรักษา ให้ข้อมือกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีอีกครั้ง
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ
ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ คืออะไร?

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s Tenosynovitis, Radial styloid tenosynovitis) คือโรคที่ปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมือเกิดการอักเสบหรือหนาตัวขึ้น จากการเสียดสีระหว่างเส้นเอ็นที่ช่วยในการเหยียดและกางนิ้วหัวแม่มือ (Extensor Pollicis Brevis และ Abductor Pollicis Longus) กับปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ (Extensor retinaculum) ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อมือหรือขยับนิ้วหัวแม่มือ
อาการที่พบบ่อยเมื่อปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ มีอะไรบ้าง?
ผู้ป่วยปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบมักจะมีอาการปวดข้อมือใกล้ ๆ โคนนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งอาการปวดจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการใช้แรงจากข้อมือหรือมีการขยับข้อมือ ในบางรายอาจพบอาการชาที่โคนนิ้วหัวแม่มือไปยังปลายนิ้วหัวแม่มือ หากอาการเอ็นข้อมืออักเสบรุนแรงอาจพบอาการบวม ร้อน แดง ที่เห็นได้ชัด
ทั้งนี้ อาการเอ็นข้อมืออักเสบอาจเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด หรือเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เอ็นข้อมืออักเสบ
ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบเกิดจากสาเหตุใดบ้าง?
โรคเอ็นข้อมืออักเสบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บทันทีทันใด หรือเกิดจากการบาดเจ็บสะสมเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยมีดังนี้
- การใช้งานข้อมือด้วยท่าทางซ้ำ ๆ หรือใช้งานข้อมือด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น การทำงานบ้าน, ซักผ้า, กวาดถูบ้าน, ยกของหนัก, อุ้มเด็ก หรือแม้แต่การใช้งานคอมพิวเตอร์ จับโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาก็มีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดเอ็นข้อมืออักเสบ
- อุบัติเหตุที่สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เอ็นข้อมือรุนแรง ทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือขึ้นได้ เช่นการล้มเอามือยันพื้น
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางอย่าง เช่น ข้ออักเสบ, โรครูมาตอยด์, โรคเบาหวาน, ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ฯลฯ
ใครบ้างเสี่ยงเป็นปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ?

ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดเส้นปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบมีดังนี้
- นักกีฬาที่มีการใช้งานข้อมือหนัก ๆ เช่น แบดมินตัน เทนนิส ฯลฯ
- ผู้ที่ประกอบอาชีพบางอย่างที่ต้องใช้งานข้อมือซ้ำ ๆ เช่น เชฟ ช่างฝีมือ พนักงานออฟฟิศที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ ฯลฯ
- ผู้ที่มีอายุ 30-50 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีโอกาสใช้งานข้อมือหนักซ้ำ ๆ จากการทำงานและกิจวัตรประจำวัน
- ผู้หญิงมีโอกาสเกิดเอ็นข้อมืออักเสบมากกว่าผู้ชาย
- คุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบวมของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน เป็นต้น
วิธีการรักษาปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ มีอะไรบ้าง?
แนวทางการรักษาปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ แพทย์จะพิจารณาจากระดับความรุนแรงของโรค โดยสามารถแบ่งวิธีการรักษาออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
รักษาอาการเบื้องต้น
กรณีที่อาการเอ็นข้อมืออักเสบไม่รุนแรงมาก ในเบื้องต้นสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยตนเอง เช่น
- หยุดพักการใช้งานข้อมือ และพยายามให้ข้อมืออยู่ในระนาบเดียวกับแขน
- ใช้อุปกรณ์พยุงข้อมือ เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ
- ประคบอุ่นเพื่อลดอาการปวด บวม อักเสบ
ในทางการแพทย์ นอกจากการรักษาด้วยตนเองเบื้องต้นแล้วยังสามารถทำกายภาพบำบัด หรือเข้าเฝือก เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวข้อมือและนิ้วหัวแม่มือ ลดการบาดเจ็บและอักเสบซ้ำ หรือแพทย์อาจจ่ายยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เพื่อลดการอักเสบ
รักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์
กรณีที่อาการอักเสบรุนแรงปานกลาง เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการปวดและอักเสบของบริเวณปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ ทั้งนี้ ควรรักษาแบบประคับประคองอาการร่วมด้วย เพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุด
รักษาด้วยการผ่าตัด
กรณีที่ผ่านการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วยังไม่สามารถลดอาการปวดข้อมือได้ หรือกลับเป็นซ้ำอีก แพทย์จะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นเพื่อลดการเสียดสีระหว่างเส้นเอ็นกับปลอกหุ้มเอ็น ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาไม่นาน หลังผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
ไม่อยากปวดข้อมือจากปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ มีวิธีป้องกันอย่างไร?
เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสเกิดปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการหิ้วหรือยกของหนัก หรือควรใช้เครื่องมือช่วยยกหรือเคลื่อนไหวของแทน
- หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือแบบซ้ำ ๆ หากมีความจำเป็น โดยอาจเว้นระยะการใช้งาน ปรับเปลี่ยนบริบทบ้างให้ข้อมือได้มีการพักบ้าง หรือหาวิธีทุ่นแรงเพื่อลดการใช้ข้อมือลง
นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันด้วยการบริหารข้อมือสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กับข้อมือ รวมถึงการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม จะช่วยลดการเกร็งของข้อมือได้เป็นอย่างดี
ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบอย่าปล่อยไว้ รีบรักษา ให้ข้อมือกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีอีกครั้ง
แม้ว่าปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็สามารถสร้างความเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างมาก อย่าปล่อยให้อาการเจ็บปวดเรื้อรัง รีบเข้ารับการรักษาปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับมาใช้งานข้อมือได้เป็นปกติอีกครั้ง
ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า เราให้คำแนะนำและทำการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางประจำศูนย์รักษ์ข้อ พร้อมดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยหลังรับการรักษาโดยนักกายภาพบำบัด เพื่อให้ผลลัพธ์การรักษาเป็นที่น่าพึงพอใจ สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อีกครั้งในเวลาไม่นาน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ
ทำไมผู้หญิงถึงเป็นเอ็นข้อมืออักเสบมากกว่าผู้ชาย?
เนื่องจากกิจวัตรประจำวันของผู้หญิงส่วนใหญ่อย่างการทำงานบ้าน, ซักผ้า, กวาดถูบ้าน หรือยกของหนัก ทำให้มีการใช้งานข้อมือในลักษณะเดิมซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จึงมีโอกาสเกิดเอ็นข้อมืออักเสบได้มาก
มีอาการปวดแบบไหน ถึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด?
การผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบจะทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดข้อมือรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และผ่านการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผลหรือเป็นซ้ำ
References
De Quervain’s Tendinosis. (2023, June 14). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/10915-de-quervains-tendinosis
Satteson, E., & Tannan, S. C. (2023, November 22). De Quervain tenosynovitis. In StatPearls. StatPearls Publishing. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK442005/