บทความนี้จะมาบอกถึงแนวทางและขั้นตอนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) แบบอัปเดตล่าสุด ซึ่งในปัจจุบันมีราคาไม่แพงอย่างที่คิด เพื่อให้เราทุกคนสามารถรู้เท่าทันความเสี่ยงของโรคนี้ พร้อม ๆ ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างปลอดภัย
เนื่องจากในทุก ๆ ปี ไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นอีก 1 ภัยคุกคามที่น่ากลัวไม่แพ้โควิด 19 เลยทีเดียว เนื่องจากโรคนี้มีความเสี่ยงต่อทุกกลุ่มอายุแล้วยังสามารถแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย
สารบัญ
- ทำไมองค์การอนามัยโลก จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?
- ไข้หวัดใหญ่คืออะไร มีสายพันธุ์อะไรบ้างที่เฝ้าระวัง?
- ไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ที่ต้องรู้
- สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย
- ทำไมเราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์?
- ควรฉีดเมื่อไหร่ และฉีดถี่แค่ไหนจึงจะเหมาะสม?
- ใครควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ้าง?
- ข้อแนะนำก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- แนวทางป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่ควรปฏิบัติร่วมกันกับการฉีดวัคซีน
- หากเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรทำอย่างไร?
- สรุป
ทำไมองค์การอนามัยโลก จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?
เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดซ้ำได้เรื่อย ๆ บางครั้งก็สามารถแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก (pandemic) และทำให้มีผู้ป่วยรวมถึงเสียชีวิตในหลักล้านคนเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงให้ความสำคัญกับโรคนี้มาก โดยมีข้อแนะนำให้เราฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และลดโอกาสกลายพันธุ์ของเชื้อ

แต่ก่อนที่จะรีบไปฉีดวัคซีนกัน เราลองมาทำความรู้จักกับไข้หวัดใหญ่กันก่อน จะได้เข้าใจถึงลักษณะของโรคนี้ และเตรียมความพร้อมที่จะป้องกันตัวเองได้อย่างเหมาะสม
ไข้หวัดใหญ่คืออะไร มีสายพันธุ์อะไรบ้างที่เฝ้าระวัง?
โรคไข้หวัดใหญ่ คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) มีลักษณะโรคเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน
ไข้หวัดใหญ่จะมีสายพันธุ์หลักอยู่ 3 ชนิด คือ influenza A influenza B และ influenza C แต่ที่มีการเฝ้าระวังกันอย่างจริงจังจะมีแค่ชนิด A และ B เนื่องจากชนิด C พบได้น้อย มีอาการไม่รุนแรง และไม่เกิดการแพร่ระบาดได้มากเท่ากับ 2 ประเภทแรก
ไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ที่ต้องรู้

เมื่อพิจารณาจากสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง จะแบ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B โดยสามารถแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ย่อยได้ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ด้วยกัน ซึ่งในประเทศไทย เรามีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์นี้แล้ว ได้แก่
1) ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ฟลู A มีด้วยกันร้อยกว่าชนิดโดยจะมีชื่อตามชนิดโปรตีน H และ N แต่ที่พบระบาดในคนบ่อยคือ 2 สายพันธุ์คือ A(H1N1) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงที่สุด เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก เช่น ไข้หวัดสุกร, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น โดยมักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
2) ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B หรือเรียกสั้น ๆ ว่าฟลู B แบ่งเป็นสายพันธุ์แยกย่อยได้เป็น สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria และ สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata
สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย
สำหรับสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยในช่วงนี้ คือ สายพันธุ์ A และ สายพันธุ์ B ซึ่งมักแพร่ระบาดได้ดีในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
โดยจากสถิติการแพร่ระบาดของโรคนี้ พบว่าไข้หวัดใหญ่จะระบาดแบ่งเป็น 2 ระลอก คือ ช่วงฤดูหนาว (ต้นปี) กับช่วงฤดูฝน (ช่วงค่อนท้ายปี) แต่เนื่องจากการระบาดในช่วงฤดูฝนมักจะหนักหน่วงกว่า จึงมักมีการรณรงค์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วงก่อนเข้าฤดูฝน

ปกติแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนจะเป็นช่วงเดือน มิถุนายน ของทุกปี แต่สำหรับปี 2564 นี้ เพื่อไม่ให้สับสนกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ลดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อน จึงได้เลื่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้เร็วขึ้นเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงเดือนสิงหาคม
ข้อมูลเพิ่มเติม: แนวทางการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลปี 2564
ทำไมเราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์?
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีทั้งแบบ 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ ซึ่งในวัคซีนจะสามารถป้องกัน influenza A ได้เหมือนกัน 2 ชนิด แต่จะแตกต่างกันที่จะป้องกัน influenza B ได้ 1 ชนิดในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ และป้องกันได้ 2 ชนิดในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์

เนื่องจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย จะมีไข้หวัดใหญ่อยู่ 4 สายพันธุ์ที่หมุนเวียนกลับมาเป็นระลอกทุกปี การใช้วัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์จะเน้นที่การป้องกันสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุด 3 สายพันธุ์แรกเท่านั้น การป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด จึงเป็นการเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ พร้อมกันกับการปฏิบัติตัวตามแนวทางเบื้องต้นเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสติดเชื้อ
ควรฉีดเมื่อไหร่ และฉีดถี่แค่ไหนจึงจะเหมาะสม?
ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับเริ่มต้นเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป และจำเป็นต้องได้รับวัคซีนทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
เนื่องจากวัคซีนจะมีการเปลี่ยนชนิดสายพันธุ์ย่อยไปทุกปีตามที่ WHO คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนทุกปี เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่พร้อมรับมือกับเชื้อที่จะเข้ามา โดยเราสามารถแบ่งตามช่วงอายุของผู้เข้ารับการฉีดได้ดังนี้

- สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ขวบ ให้ฉีด 2 เข็มในปีแรก โดยเว้นระยะห่างการฉีดครั้งละ 1 เดือน หากในปีแรกได้ฉีดเพียงครั้งเดียว ให้ฉีด 2 ครั้งในปีถัดมา แล้วหลังจากนั้นค่อยฉีดปีละครั้งได้
- บุคคลทั่วไป ฉีด 1 เข็ม และต้องมารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปี
- และเนื่องจากในปี 2564 นี้มีการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด 19 จำเป็นต้องเว้นระยะห่างกับเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
ใครควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ้าง?
เราทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ร่างกายของแต่ละคนจะสามารถรักษาและฟื้นฟูตัวเองได้ดีแค่ไหน หรือเราจะมีอาการหนักเบามากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ คงไม่มีใครที่อยากที่จะหยุดเรียน หยุดทำงาน หรือสูญเสียรายได้โดยไม่จำเป็น ในระหว่างที่ต้องมาพักฟื้นรักษาตัว ในเมื่อจริง ๆ แล้วเราสามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่แพทย์แนะนำให้รีบมาทำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ได้แก่บุคคลที่จัดอยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้
- หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน
- เด็กเล็ก (อายุ 6 เดือน – 2 ปี)
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
- ผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน โดยมีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก. และคำนวณค่า BMI ได้มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตร.ม. (ตารางคำนวณ)
ข้อแนะนำก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ผู้สนใจเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อทำการประเมินโอกาสแพ้วัคซีน และทำการคัดกรองก่อนในเบื้องต้น นอกจากนี้ หากพบว่าตัวเองมีอาการหวัด หรือเป็นไข้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดี

ผลข้างเคียงหลังเข้ารับการฉีดวัคซีน
เนื่องจากในประเทศไทยใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย เชื้อไวรัสที่อยู่ในวัคซีนได้ถูกทำลายหมดแล้ว จึงไม่ค่อยพบกรณีที่มีผลข้างเคียงรุนแรง แต่ก็อาจมีอาการข้างเคียงต่าง ๆ ได้แก่ ปวดบวมแดงร้อนเฉพาะที่ ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากได้รับวัคซีนแล้วพบว่ามีอาการไข้สูง พฤติกรรมเปลี่ยนไป หายใจลำบาก (หรือมีเสียงหวีด) เสียงแหบ มีอาการลมพิษ ตัวซีด หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งข้อมูลช่วงเวลารับวัคซีนรวมถึงสภาพอาการให้แพทย์ทราบโดยละเอียด
แนวทางป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่ควรปฏิบัติร่วมกันกับการฉีดวัคซีน
แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค แต่การปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคร่วมด้วย จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น
เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ได้ง่าย และประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะอยู่ที่ 70-90% (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส) โดยแนวทางส่วนใหญ่จะคล้ายกันกับแนวทางเพื่อป้องกันโรค COVID-19

คำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มีดังนี้
- การปิดปากปิดจมูกเมื่อมีอาการป่วย และไอหรือจามโดยใช้กระดาษทิชชู่
- สามหน้ากากอนามัย หรือไอใส่ต้นแขนตนเอง
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ และใช้เจลแอลกอฮอล์ ก่อนรับประทานอาหาร หลังไอ-จาม สั่งน้ำมูก หรือหลังจากจับต้องสิ่งของหรือพื้นผิวที่มีคนสัมผัส
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก (โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่)
หากเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรทำอย่างไร?
แม้ว่าเราจะทราบถึงข้อดีของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปแล้ว หากจะให้ครบเครื่องเรื่องการป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อป่วย เราควรรู้ไปถึงขั้นตอนการสังเกตอาการ และการดูแลตนเองเบื้องต้นหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ขึ้นมาจริง ๆ จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และไม่ตื่นตกใจจนเกินไป
อาการที่ควรทราบ และวิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อป่วย
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ อาการจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป แต่ไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงมากกว่า อาการมักจะปรากฏทันทีในลักษณะของไข้สูง 38.5 – 40 องศา รู้สึกหนาว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก นอกจากนี้อาจมีอาการคัดจมูก เบื่ออาหาร มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ ร่วมด้วย
เมื่อเป็นโรคดังกล่าวแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองอาการ หากไม่มีอาการอะไรแทรกซ้อนหรือทรุดหนัก จะสามารถหายได้เองภายใน 5 – 7 วัน โดยไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากตัวเราเอง ให้หยุดงาน หยุดเรียน และหยุดทำกิจกรรมกับผู้อื่นเมื่อมีอาการป่วย
เมื่อไหร่ถึงควรไปพบแพทย์?
ผู้มีความเสี่ยงที่ควรรับวัคซีนที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น (“ใครควรได้รับวัคซีนโรคนี้?”) ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นต้น รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด และเบาหวาน ให้สังเกตอาการตัวเอง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์
สำหรับผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่ม หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์
- มีไข้สูงและเป็นมานาน
- ให้ยาลดไข้แล้วไข้ยังเกิน 38.5 องศา
- หายใจหอบหรือหายใจลำบาก
- มีอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก
- หน้ามืดเป็นลม
- มีอาการสับสน
- มีอาการอาเจียน กินอาหารไม่ได้
รายละเอียดเพิ่มเติม: รู้ทัน ป้องกันได้ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

สรุป
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่อันตราย มีการแพร่ระบาดทั่วโลกทุกปี โดยเฉพาะในประเทศไทย ทุกคนจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้พอ ๆ กัน และไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด
ดังนั้นขั้นตอนการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ และรู้จักการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการติดโรคจากผู้อื่นเบื้องต้น
นอกจากนี้ การทำความเข้าใจโรคนี้โดยละเอียด จนถึงรู้ขั้นตอนปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเหมาะสมในยามที่ตัวเองป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความระมัดระวังตัว และทำให้เราไม่ตื่นตกใจเกินไปอีกด้วย