บทความสุขภาพ

Knowledge

กระดูกหัก ดูแลอย่างไรให้หายเร็ว

นพ. ณัฐวุฒิ ไพสินสมบูรณ์

กระดูกหักเป็นภาวะที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริง ภาวะกระดูกหักนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตโดยรวม นอกจากความเจ็บปวดแล้ว ภาวะกระดูกหักยังสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อ การสูญเสียการเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งภาวะกระดูกไม่ติดกันที่ทำให้ต้องได้รับการรักษายาวนานขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง การบาดเจ็บเล็กน้อยอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิตโดยรวมได้


กระดูกหักคืออะไร?


กระดูกหัก (Fracture) คือภาวะที่กระดูกแตกหรือหักจากแรงกดหรือแรงกระแทกที่มากเกินไป ทำให้โครงสร้างของกระดูกไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้จนทำให้กระดูกแตกหรือหัก กระดูกหักสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งกระดูกชิ้นใหญ่และกระดูกชิ้นเล็ก เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกแขน ขา ซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก


กระดูกหักสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การหกล้ม การถูกแรงกระแทกอย่างรุนแรง หรือบางครั้งอาจเกิดจากการใช้งานกระดูกมากเกินไป หรือมีภาวะการเสื่อมสภาพของกระดูก เช่น ในกรณีของผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)


อาการที่สงสัยกระดูกหัก


หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของกระดูกหัก หากคุณหรือพบเห็นผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


  • มีอาการปวดแบบเฉียบพลันและรุนแรง: เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างทันทีและรุนแรงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาการปวดอาจแย่ลงเมื่อพยายามจะขยับหรือเคลื่อนไหวส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ
  • มีอาการบวมและช้ำ: บริเวณที่มีกระดูกหักจะมีอาการบวม ช้ำ หรือแดง ซึ่งเกิดจากการแตกของหลอดเลือดบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูกที่หัก
  • ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวได้เต็มที่: ส่วนที่เกิดกระดูกหักจะขยับได้น้อย หรือขยับไม่ได้เลย หรือในบางครั้งการหักของกระดูกชิ้นที่ได้รับบาดเจ็บ อาจมีผลให้ไม่สามารถขยับข้อต่อที่อยู่ใกล้เคียงได้
  • แขนขา หรือส่วนที่ได้รับบาดเจ็บมีการผิดรูป: กระดูกหักอาจทำให้ส่วนของร่างกายเกิดการผิดรูปไป เช่น แขนหรือขาที่ผิดรูป หรือไม่อยู่ในแนวตรง
  • มีเสียงกรอบแกรบหรือเสียงแตก: เมื่อเคลื่อนไหวส่วนที่กระดูกหัก อาจได้ยินเสียงกรอบแกรบหรือเสียงแตก
  • มีแผลเปิดและกระดูกทะลุออกมานอกผิวหนัง: ในกรณีที่กระดูกหักทะลุผิวหนังออกมา อาจเห็นกระดูกโผล่ออกมาจากแผล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

กระดูกหักมีกี่แบบ?


การแบ่งประเภทของกระดูกหักสามารถแบ่งได้เป็นหลายรูปแบบตามลักษณะและสาเหตุของการหัก โดยทั่วไปสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้


  • กระดูกหักแบบที่ไม่มีแผลเปิด (Closed Fracture): เป็นกระดูกหักที่เกิดขึ้นโดยที่ชิ้นส่วนของกระดูกยังคงอยู่ในเนื้อเยื่อ ไม่ได้ทะลุผิวหนังออกมา ทำให้ไม่มีแผลเปิดที่ผิวหนัง กระดูกหักประเภทนี้มักจะพบได้บ่อย มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีหากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม มักเกิดจากการหกล้ม อุบัติเหตุ หรือแรงกระแทกต่าง ๆ
  • กระดูกหักแบบที่มีแผลเปิด (Open หรือ Compound Fracture): เป็นกระดูกหักแบบที่มีกระดูกทะลุผิวหนังออกมา ทำให้มีแผลเปิด และกระดูกอาจสัมผัสกับภายนอก ซึ่งอาจเกิดจากการที่กระดูกถูกแรงกระแทกอย่างรุนแรงหรือถูกบิดอย่างแรง กระดูกหักแบบนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ เนื่องจากกระดูกมีการสัมผัสกับเชื้อโรคภายนอก

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทของกระดูกหัก ตามลักษณะของการหัก ดังนี้


  • กระดูกหักทั่วไป (Simple Fracture): กระดูกหักชนิดนี้เป็นการที่กระดูกหักออกเป็นสองชิ้น มักพบในอุบัติเหตุหรือการหกล้ม
  • กระดูกยุบตัว (Compression Fracture): กระดูกยุบตัวคือการที่กระดูกได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจนเกิดการยุบตัว โดยเฉพาะในกระดูกสันหลัง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน
  • กระดูกแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ (Comminuted Fracture): กระดูกหักชนิดนี้หมายถึงกระดูกที่หักออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ มากกว่า 3 ชิ้นขึ้นไป มักเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ หรือการตกจากที่สูง
  • กระดูกหักแบบเกลียว (Spiral Fracture): กระดูกหักแบบเกลียวเกิดจากการที่กระดูกถูกบิดหรืองอจนเกิดการหักเป็นลักษณะเกลียวหรือสกรู มักพบในการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีแรงบิดสูง
  • กระดูกเดาะ (Greenstick Fracture): กระดูกเดาะหมายถึงกระดูกที่หักเพียงข้างเดียว ส่วนอีกด้านหนึ่งยังคงต่อกันอยู่ หรือเกิดการโค้งงอไปตามแรงที่กระแทก ซึ่งมักเกิดในเด็ก เนื่องจากกระดูกของเด็กมีความยืดหยุ่นมากกว่ากระดูกของผู้ใหญ่
  • ปุ่มกระดูกหัก (Avulsion Fracture): การหักชนิดนี้เกิดจากกระดูกถูกดึงหรือกระชากอย่างแรง ทำให้ส่วนของกระดูกที่ปุ่มหรือปมกระดูกหลุดออกไป มักพบในบริเวณหัวไหล่ หัวเข่า และข้อเท้า เป็นการหักที่มักเจอในนักกีฬา
  • กระดูกหักแนวขวาง (Transverse Fracture): กระดูกหักในแนวขวางคือการหักของกระดูกที่เกิดในแนวขวางของกระดูก มักเกิดจากการกระแทกโดยตรงหรือแรงกระแทกที่เกิดขึ้นในแนวตั้งฉาก
  • กระดูกหักแบบเฉียง (Oblique Fracture): กระดูกหักแบบนี้มักเกิดจากกระดูกที่หักในแนวเฉียงหรือลาดลง มักเกิดจากแรงกระแทกที่มาจากมุมเฉียง
  • กระดูกหักยุบเข้าหากัน (Impacted Fracture): กระดูกหักชนิดนี้เกิดจากการที่กระดูกสองฝั่งถูกกดเข้าหากัน ทำให้กระดูกแตกและยุบลงทั้งสองด้าน มักพบในกรณีของอุบัติเหตุที่มีแรงกระแทกสูง เช่น การตกจากที่สูง
  • กระดูกหักจากความเครียด (Stress Fracture): เกิดจากการใช้งานกระดูกอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนทำให้กระดูกเกิดรอยร้าวเล็ก ๆ พบได้บ่อยในนักกีฬา เช่น นักวิ่ง หรือผู้ที่ต้องทำกิจกรรมที่ใช้งานกระดูกซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
  • กระดูกหักจากโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ (Pathologic Fracture): เกิดจากภาวะหรือโรคที่ทำให้กระดูกอ่อนแอลง เช่น โรคกระดูกพรุน มะเร็งกระดูก หรือโรคที่ทำให้มวลกระดูกลดลง

ใครบ้างเสี่ยงกระดูกหัก?


กระดูกหักสามารถพบได้ในทุกเพศ และทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่


  1. ผู้สูงอายุ: ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกเริ่มมีความหนาแน่นน้อยลง นอกจากนี้ในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนจะทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการหกล้มโอกาสเกิดกระดูกหักมากขึ้น
  2. นักกีฬาและผู้ที่ทำกิจกรรมที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย: ผู้ที่เล่นกีฬาที่มีการปะทะสูง เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล หรือมวย จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากการถูกกระแทก นอกจากนี้นักกีฬาที่ทำกิจกรรมที่ใช้แรงกดต่อกระดูกซ้ำ ๆ เช่น นักวิ่ง นักยกน้ำหนัก ก็มีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้มากขึ้น
  3. ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน: ภาวะกระดูกพรุนทำให้กระดูกสูญเสียแคลเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ ไป ทำให้กระดูกบางลง ทำให้กระดูกหักได้ง่ายแม้จะเป็นแรงกระแทกที่ไม่รุนแรงก็ตาม
  4. เด็ก: เด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากกระดูกยังไม่แข็งแรงเต็มที่ และมีโอกาสหกล้มระหว่างการเล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะกระดูกในเด็กมักจะหายเร็วกว่าผู้ใหญ่ เพราะกระดูกมีการเจริญเติบโตดี
  5. ผู้ที่หกล้มบ่อย ๆ: โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การหกล้มบ่อย ๆ เป็นสัญญาณว่ามีความเสี่ยงต่อการหักกระดูกเพิ่มขึ้น หรือผู้ที่มีปัญหาทางด้านการทรงตัวหรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงก็มักมีโอกาสหกล้มได้ง่าย เพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกหัก: ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกเริ่มมีความหนาแน่นน้อยลง นอกจากนี้ในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนจะทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการหกล้มโอกาสเกิดกระดูกหักมากขึ้น

กระดูกหักรักษาอย่างไร?


การรักษากระดูกหักต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อให้แพทย์ประเมินการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะและความรุนแรงของการหัก ซึ่งมีวิธีการรักษาหลัก ๆ ดังนี้


  1. การดามกระดูก (Splinting): การดามกระดูกใช้ในกรณีที่กระดูกหักไม่รุนแรงหรือเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดความเจ็บปวดและป้องกันการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม การดามอาจใช้วัสดุชั่วคราว เช่น ผ้าพันหรือกระดาษแข็ง และสามารถถอดออกได้ง่ายกว่าการใส่เฝือก
  2. การใส่เฝือก (Casting): โดยเฝือกจะทำหน้าที่ในการยึดกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องขณะฟื้นตัว ป้องกันการเคลื่อนไหวของกระดูกที่หัก เฝือกมักทำจากปูนปลาสเตอร์หรือวัสดุสังเคราะห์ มีทั้งแบบที่คลุมทั้งแขนหรือขา และแบบเฉพาะจุดที่หัก ระยะเวลาที่ต้องใส่เฝือกขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของการหัก
  3. การดึงกระดูก (Traction): ใช้ในกรณีที่กระดูกหักแล้วชิ้นส่วนของกระดูกเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่ง การดึงกระดูกช่วยจัดกระดูกให้เข้าที่ก่อนที่จะให้การรักษาต่อไป การดึงกระดูกมักใช้กับการหักของกระดูกบริเวณสะโพกหรือกระดูกสันหลัง
  4. การผ่าตัด (Surgery): การผ่าตัดเป็นการรักษาในกรณีที่กระดูกหักมีความซับซ้อน เช่น กระดูกแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือกระดูกเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่ง
  5. การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟู (Rehabilitation): หลังจากรักษากระดูกหักแล้ว การทำกายภาพบำบัดเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและฟื้นฟูการเคลื่อนไหว การทำกายภาพอาจรวมถึงการออกกำลังกายเฉพาะจุด การใช้เครื่องช่วยฟื้นฟู หรือการนวดบำบัด

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อกระดูกหัก


เมื่อมีกระดูกหัก มักใช้เวลานานกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และช่วยให้อาการกระดูกหักหายเร็วขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้


  • การเคลื่อนไหวหรือใช้งานบริเวณที่หัก: การเคลื่อนไหวหรือพยายามใช้งานบริเวณที่หักโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์อาจทำให้กระดูกเคลื่อนออกจากตำแหน่งและทำให้กระบวนการสมานตัวของกระดูกช้าลง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
  • พยายามจัดกระดูกเอง: หากสงสัยว่ากระดูกหัก ไม่ควรพยายามจัดกระดูกกลับเข้าที่เองเพราะอาจทำให้กระดูกเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งที่ควรอยู่ หรือทำให้เนื้อเยื่อรอบข้างได้รับบาดเจ็บ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ: การได้รับแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพออาจทำให้กระดูกฟื้นตัวช้าลง เพราะแคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก และวิตามินดีช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม
  • การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์: การสูบบุหรี่จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณกระดูกที่หักลดลง ทำให้กระบวนการสมานตัวของกระดูกช้าลง ส่วนแอลกอฮอล์จะลดการดูดซึมแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกใหม่
  • ไม่ไปพบแพทย์ตามนัด: การไม่ติดตามการรักษา หรือไม่ไปพบแพทย์ตามนัด หรือการไม่ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ อาจทำให้กระดูกฟื้นตัวช้าลงหรือไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

ทำอย่างไรให้กระดูกหักหายเร็ว?


การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง จะช่วยทำให้การฟื้นตัวจากกระดูกเร็วขึ้นได้


  1. พักผ่อนเพียงพอ: เมื่อเกิดภาวะกระดูกหัก ร่างกายต้องใช้ระยะเวลานานในการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และควรหลีกเลี่ยงการใช้งานบริเวณที่หัก
  2. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง: การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ชีส โยเกิร์ต ผักใบเขียว และปลาแซลมอน ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง วิตามินดีซึ่งพบได้ในปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า รวมถึงไข่แดงและนมเสริมวิตามินดี จะช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ทำให้กระดูกหักหายเร็วขึ้น
  3. ออกกำลังกายเบา ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์: เมื่อแพทย์พิจารณาว่าสามารถออกกำลังกายได้ การออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินหรือการยืดเหยียด สามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณกระดูกที่หัก เพิ่มอัตราการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ใช้งานมานาน
  4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์: การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การรับประทานยาอย่างถูกต้อง การทำกายภาพบำบัด และการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงจะช่วยให้กระดูกหายเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการหักซ้ำ ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมแคลเซียมหรือวิตามินดีเพิ่มเติมเพื่อเร่งการฟื้นตัวของกระดูก ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมใด ๆ

การป้องกันกระดูกหัก


การป้องกันกระดูกหักสามารถทำได้โดยการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ดังนี้


  1. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ: เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและลดความเสี่ยงต่อการหัก อาหารที่ควรบริโภคเป็นประจำ เช่น ผลิตภัณฑ์นม ผักใบเขียว ปลา และไข่
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: อาจเลือกออกกำลังกายที่เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น การเดิน วิ่ง การยกน้ำหนัก และการทำโยคะ ซึ่งช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและลดความเสี่ยงต่อการหัก นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยให้การทรงตัวดีขึ้นและลดโอกาสการหกล้มในผู้สูงอายุ
  3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง: การลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น หลีกเลี่ยงการขับรถด้วยความเร็วสูง การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเมื่อเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง การจัดบ้านให้ปลอดภัยจากการสะดุดล้ม และการใช้ราวจับในห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ
  4. ใช้เครื่องมือช่วยพยุง: สำหรับผู้ที่มีปัญหาการทรงตัวหรือผู้สูงอายุ การใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงสามารถลดโอกาสการหกล้มและป้องกันกระดูกหักได้
  5. การตรวจสุขภาพกระดูก: การตรวจความหนาแน่นของกระดูกโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีประวัติภาวะกระดูกพรุน การตรวจความหนาแน่นของกระดูกจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาหรือการป้องกันได้อย่างเหมาะสม

สรุป


กระดูกหักเป็นภาวะที่กระดูกมีการแตกหรือหัก อาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือโรคบางชนิด ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและคุณภาพชีวิต การเข้าใจกระดูกหักมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เราป้องกันและรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างเหมาะสม การตรวจความเสี่ยงกระดูกหักเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยให้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงและช่วยในการวางแผนดูแลสุขภาพกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ณัฐวุฒิ  ไพสินสมบูรณ์

นพ. ณัฐวุฒิ ไพสินสมบูรณ์

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) เกิดจากการถูกกดทับที่เส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดจากช่วงเอวหรือสะโพกร้าวลงขาด้านหลัง บางรายอาจร้าวไปถึงน่องและเท้าได้

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

กระดูกสันหลังหักจากการลื่นล้มหรือตกจากที่สูง ต้องรักษาอย่างไร ?

กระดูกสันหลังหัก (burst fracture) จากการหกล้มหรือตกจากที่สูง สามารถรักษาได้ทั้งแบบผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด

กระดูกสันหลังคดมีลักษณะอย่างไร เมื่อไหร่ควรต้องผ่าตัด?

กระดูกสันหลังคด คือ ภาวะที่กระดูกสันหลังผิดรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของมุมคด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบต่างๆตามมา เช่น ปวดหลังเรื้อรัง เหนื่อยง่าย สมดุลร่างกายในการยืนเดินแย่ลง และอาจส่งผลถึงระบบประสาทได้

กระดูกและข้อ โรคที่ต้องดูแลตั้งแต่วัยรุ่น

กระดูกและข้อ โรคที่ต้องดูแลตั้งแต่วัยรุ่น ความเสื่อมของกลุ่มเนื้อเยื่อกระดูกและข้อ อาจเกิดขึ้นตั้งแต่วัย 30 ปีต้นๆ แต่กว่าจะปรากฏอาการก็ต้องใช้เวลาอีกระยะ เราจะนิยามเป็นโรคก็ต่อเมื่ออาการเกิดขึ้น เมื่อกระบวนการเสริมสร้างซ่อมแซมน้อยกว่ากระบว

การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง การรักษาอาการปวดหลังโดยไม่ต้องผ่าตัด

การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษาอาการปวดหลัง เพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาทจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ภาวะโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบ หรือสาเหตุอื่น ๆ โดยที่ไม่ต้องผ่าตัด สามารถลดอาการปวดได้ดี มีผลข้างเคียงน้อย และออกฤทธิ์ลดอาการปวดได้เป็นนานหลายเดือน

กระดูกพรุน สาเหตุของกระดูกเปราะ หักง่าย ภัยเงียบของผู้สูงวัย

โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่พบได้บ่อยในวัยสูงอายุ เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจน แต่จะพบสัญญาณเตือนก็ต่อเมื่อมีภาวะกระดูกพรุนแล้ว เช่น กระดูกหัก หลังค่อม ส่วนสูงลดลง เพื่อลดการเกิดโรคกระดูกพรุนและรักษาไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี ควรปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง

เข้าใจโรคกระดูกพรุน สาเหตุ อาการ และการป้องกัน

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่พบบ่อย และเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก หรืออาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้สูงอายุ การป้องกัน การเข้ารับการตรวจสุขภาพของกระดูก หรือหากตรวจพบภาวะกระดูกพรุน การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงและชะลอการเสื่อมสภาพของกระดูกได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital