Leishmaniasis หรือโรคลิชมาเนีย เป็นโรคจากการติดเชื้อปรสิตลิชมาเนีย มักเกิดจากการถูกริ้นฝอยทรายที่เป็นพาหะของเชื้อกัด ส่วนใหญ่จะแพร่ระบาดในบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น โดยเฉพาะแถบเอเชีย แอฟริกา หรืออเมริกาใต้ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะแสดงอาการป่วยแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น อาจเกิดแผลตรงผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด เกิดแผลที่เยื่อบุจมูกหรือปาก ตับและม้ามโต ผิวซีด หรือเป็นไข้เรื้อรัง เป็นต้น
ระบาดวิทยา
สถานการณ์ทั่วโลก : โรคลิชมาเนียพบในประเทศทั้งแถบเขตร้อนและใกล้เขตร้อน ซึ่งมีประเทศทางโลกเก่า (ทวีปยุโรป แอฟริกาตะวันออกกลาง คาบสมุทรอินเดีย) และประเทศทางโลกใหม่ (อเมริกากลางและอเมริกาใต้) อย่างน้อย 88 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา (75 ประเทศ) กับด้อยการพัฒนา (13 ประเทศ) ประชากรเสี่ยงมากกว่า 350 ล้านคน พบผู้ป่วยประมาณ 14 ล้านคน อุบัติการณ์ 1.5 – 2 ล้านคน/ปี ผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิง (ชาย 1,249,000 คน หญิง 840,000 คน) ผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 700,000 คน/ปี แต่การเป็นโรคที่ไม่ต้องแจ้งทำให้ข้อมูลทางระบาดวิทยาตํ่ากว่าเป็นจริง ประมาณ 3 เท่า
สถานการณ์ในประเทศไทย : มีทั้งผู้ป่วยชาวต่างชาติ และแรงงานไทยกลับจากแหล่งโรคในประเทศตะวันออกกลางนำเข้ามา (Imported Cases) รวมจำนวน 49 ราย และคนไทยติดเชื้อในประเทศ (Indigenous Case) รวมจำนวน 14 ราย ตาย 2 ราย มีทั้งชาย หญิง และเด็ก จังหวัดที่พบผู้ป่วย ได้แก่ เชียงราย น่าน กรุงเทพฯ จันทบุรี พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และตรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดทางภาคใต้
อาการของโรคลิชมาเนีย
เกิดได้ 3 ลักษณะหลักด้วยกัน คือ
- เกิดแผลที่ผิวหนัง (Cutaneous Leishmaniasis) อาการ เช่น ตุ่มนูนพองใสและแดง แผล ซึ่งอาจเป็นแผลเปียก หรือแผลแห้ง แผลมักมีขอบ อาจแผลเดียวหรือหลายแผล แผลลุกลามรวมกันเป็นแผลใหญ่ได้ หรืออาจเป็นตุ่มๆ กระจายทั่วตัว
- เกิดแผลที่เยื่อบุบริเวณปาก จมูก (Mucocutaneous Leishmaniasis) พบได้ไม่บ่อยเท่าโรคลิชมาเนียที่ผิวหนังและที่อวัยวะภายใน โดยในระยะแรกผู้ป่วยจะสังเกตเห็นแผลที่ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด หลังจากนั้นประมาณ 1-5 ปี จะเริ่มมีแผลเกิดขึ้นในจมูก ช่องปาก ริมฝีปาก หรือกล่องเสียง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคัดจมูก เลือดกำเดาไหล หายใจลำบาก หรือเสียงแหบร่วมด้วย
- พยาธิสภาพกับอวัยวะภายใน (Visceral Leishmaniasis) ข้อบ่งชี้ที่สำคัญตามนิยามขององค์การอนามัยโลก คือ ไข้เรื้อรังมากกว่า 10 วัน น้ำหนักลดลง ซีด ม้ามโต ตับโต มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ผู้ป่วยหลังให้การรักษาจนหายแล้วอาจปรากฏอาการทางผิวหนังที่เรียกว่า Post Kala-azar Dermal Lesion (PKDL) เช่น ตุ่มนูน (Nodule) ปื้น (Papule) ด่างดวง (Macular) หรือหลายลักษณะร่วมกัน
กลุ่มเสี่ยงโรคลิชมาเนีย
Leishmaniasis มักเกิดจากการถูกริ้นฝอยทรายที่เป็นพาหะของเชื้อชนิดนี้กัด โดยตัวริ้นอาจได้รับเชื้อมาจากการกัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจติดเชื้อจากการเปลี่ยนถ่ายเลือดที่มีเชื้อหรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อได้เช่นกัน
โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเป็นโรคลิชมาเนียสูงกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่อาศัยอยู่หรือเคยเดินทางไปบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนยากไร้ หรือมีภาวะขาดแคลนอาหาร
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้อพยพเข้าเมืองมาเป็นจำนวนมาก
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ระยะฟักตัวของโรคลิชมาเนีย
ระยะฟักตัวของโรคไม่แน่นอนอาจตั้งแต่ 2 – 3 วัน สัปดาห์ จนถึงหลายเดือน เป็นปี หรือหลายๆ ปี แต่ส่วนใหญ่ระยะฟักตัวค่อนข้างนาน
การวินิจฉัยโรคลิชมาเนีย
การวินิจฉัยโรคประกอบด้วย 3 วิธี ได้แก่ อาการทางคลินิก พยาธิสภาพ และภูมิคุ้มกันวิทยา การวินิจฉัยโรคจากอาการทางคลินิกมีความน่าจะเป็นในการวินิจฉัยโรคก่อนการทดสอบในบางแห่ง เช่น หากผู้ป่วยมีฝีเรื้อรังหลายสัปดาห์ เกิดขึ้นในป่าของประเทศเปรู อาจวินิจฉัยว่าเป็น CL ในทำนองเดียวกับ ผู้ป่วยที่มีไข้ นํ้าหนักลด ซีด ตับโต ในพื้นที่ระบาด เช่น ไบฮาร์ ประเทศอินเดีย อาจวินิจฉัยว่าเป็น VL เป็นต้น การวินิจฉัยโรคจากพยาธิสภาพ ยืนยันโดยการเจาะดูดไขกระดูกหรือตัดชิ้นเนื้อตับ ม้ามตรวจดู Amastigote ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ หรือการตรวจหา DNA หรือ RNA ของเชื้อ Leishmania ด้วยวิธี PCR และการวินิจฉัยโรคจากภูมิคุ้มกันวิทยา ด้วยการตรวจหาแอนติบอดี การวิเคราะห์Cell-mediated และการทดสอบทางผิวหนัง ซึ่งการเลือกวิธีวินิจฉัยโรคขึ้นกับลักษณะของการเกิดโรค
การรักษาโรคลิชมาเนีย
การรักษาโรค Leishmaniasis สามารถทำได้หลายวิธี โดยพิจารณาตามชนิดของโรค ได้แก่
- โรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง ผู้ป่วยอาจหายเป็นปกติได้เองโดยไม่ต้องรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมหากแผลที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็กและค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แพทย์อาจให้รักษาเพิ่มเติม อย่างการให้ยาฆ่าเชื้อหากมีแผลขนาดใหญ่ อาการรุนแรง แผลหายช้า หรืออาจให้ใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
- โรคลิชมาเนียที่เยื่อบุ โรคชนิดนี้ไม่สามารถหายเองได้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาต้านเชื้อราอย่างแอมโฟเทอริซินบี หรือยาต้านเชื้อแบคทีเรียอย่างพาโรโมมัย เพื่อกำจัดเชื้อและรักษาแผล
- โรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยา โดยชนิดของยาที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก ตัวอย่างยาที่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ ได้แก่ Pentavalent Antimonials, Pentamidine, Paromomycin Sulfate, Miletefosine, Ketoconazole, Amphotericin B เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคลิชมาเนีย
โรคลิชมาเนียแต่ละชนิดอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันไป โดยโรคลิชมาเนียที่ผิวหนังและโรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายในเป็นชนิดที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
- โรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง
- เกิดรอยแผลเป็นหลังจากแผลที่ผิวหนังหายเป็นปกติ
- มีภาวะเลือดออกบริเวณแผล
- โรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน หากไม่รีบทำการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างภาวะน้ำหนักลดลงมากจนผอมแห้ง (Wasting Syndrome) หรืออวัยวะภายในอาจทำงานผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยและอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยโรคลิซมาเนียที่ติดเชื้อเอชไอวี ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะเชื้อเอชไอวีอาจทำให้อาการของโรคลิชมาเนียรุนแรงขึ้นและทำการรักษาได้ยากยิ่งขึ้น
การป้องกันโรคลิชมาเนีย
ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรคจึงควรป้องกันตัวริ้นฝอยทรายกัดตามคำแนะนำต่อไปนี้
ภายนอกอาคาร
- สวมเสื้อแขนยาว กางเกงยายาว ถุงเท้า และเก็บชายเสื้อไว้ในกางเกง
- ทายากันยุงหรือยากันแมลงที่ผิวทั้งบริเวณนอกร่มผ้าและในร่มผ้า โดยใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามฉลากบนผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
- หลีกเลี่ยงการออกนอกที่พักในเวลาพลบค่ำและรุ่งเช้า
ภายในอาคาร
- ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดในที่พักอาศัยก่อนเข้าพัก
- อาศัยอยู่ในที่พักที่มีประตู หน้าต่าง และมุ้งลวดปิดมิดชิด
- กางมุ้งก่อนเข้านอนเสมอ โดยตรวจดูให้แน่ใจว่ามุ้งไม่มีรูที่ตัวริ้นสามารถลอดเข้ามาได้
แหล่งอ้างอิง
- World Health Organization. The Leishmaniasis .Technical Report Series 701.1984 ; 140 page.
- World Health Organization. Regional StrategicFramwork for Elimination of Kala-azar from theSouth-East Asia Region (2005-2015) WHO ProjectNo : IND CRD 714. 2005; 1-22.
- https://www.pobpad.com/leishmaniasis-ลิชมาเนีย
- สมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย/โรคลิชมาเนียซิส (LEISHMANIASIS)