กล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นภาวะที่สามารถรบกวนการใช้ชีวิตในประจำวันให้มีความยากลำบาก แถมยังสามารถส่งผลอันตรายรุนแรงจนถึงชีวิตได้ในบางครั้ง แต่ไม่ต้องกังวลไป หากเราทำความรู้จักและเข้าใจสาเหตุ อาการและวิธีรักษาให้ดี การต่อสู้กับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
Key Takeaways
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่มีสาเหตุหลากหลายและซับซ้อน เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือการเสื่อมของเซลล์ประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อมาร่วมด้วย
- อาการโรคจะพัฒนาเป็นระยะ โดยมักเริ่มจากอาการเล็กน้อย เช่น มือหรือเท้าไม่มีแรง ก่อนลุกลามไปสู่ปัญหาในการเคลื่อนไหว การกลืน การพูด และการหายใจในระยะที่รุนแรงขึ้น
- สามารถใช้ยา กายภาพบำบัด และการดูแลเฉพาะทางเพื่อช่วยชะลอความรุนแรงของโรคและพัฒนาคุณภาพชีวิต
- การตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถชะลออาการของโรคและได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับระยะของโรคมากที่สุด
สารบัญบทความ
- ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงคืออะไร มีกี่ชนิด?
- ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีอะไรบ้าง?
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีวิธีการรักษาอย่างไร รักษาหายไหม?
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภัยเงียบที่ยับยั้งได้หากตรวจพบเร็ว
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงคืออะไรมีกี่ชนิด?
กล้ามเนื้ออ่อนแรง คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อทำงานน้อยกว่าปกติสูญเสียศักยภาพและเสื่อมสภาพลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้มีอาการหมดเรี่ยวแรง ขยับเขยื้อนร่างกายได้อย่างยากลำบาก และอาจทำให้กล้ามเนื้อดูลีบเล็กในกรณีที่มีอาการรุนแรง ซึ่งหากกล้ามเนื้อสำคัญอย่างระบบลมหายใจเกิดอาการอ่อนแรงก็อาจจะอันตรายถึงชีวิตได้
โดยภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็สามารถแบ่งประเภทได้หลายแบบ แยกออกเป็น 3 ประเภทที่ควรรู้หลัก ๆ ได้แก่ Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS), Myasthenia Gravis (MG) และ Spinal Muscular Atrophy (SMA)
ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงประเภท Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS)
ภาวะ ALS มักเกิดที่มือ, เท้า, แขน หรือขาข้างใดข้างหนึ่งก่อน จากนั้นอาการจะลุกลามไปยังอีกข้างและกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการพูดไม่ชัดเจน ลิ้นขยับเขยื้อนไม่ค่อยได้ กลืนอาหารไม่สะดวก ไอเป็นประจำ และเหนื่อยง่าย โดยอาการเหล่านี้มักเกิดบ่อยเมื่อนอนราบอยู่ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ช่วยควบคุมการหายใจอ่อนแรงลง โดยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักจะรุนแรงและมีการลุกลามมากขึ้นโดยเวลาที่ผ่านไป มักใช้เวลาเป็นปี
ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงประเภท Myasthenia Gravis (MG)
อาการ Myasthenia Gravis อาจเกิดได้ในหลายจุด เช่น เปลือกตาตกลงมาอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพซ้อนหรือไม่สามารถโฟกัสภาพได้ตามปกติ หากเกิดที่คอก็อาจทำให้ออกเสียงผิดปกติ พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยนไป เสียงขึ้นจมูก กลืนอาหารได้ยากลำบากและมักสำลักบ่อย หากเกิดกับแขนและขาก็จะทำให้การเคลื่อนไหวไม่สะดวกและเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกในบางครั้ง ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดในช่วงเวลาหลังจากมีการใช้กล้ามเนื้อดังกล่าวมาก ๆ และดีขึ้นหลังจากการพัก อาจมีการเปลี่ยนแปลงของอาการระหว่างวัน
ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงประเภท Spinal Muscular Atrophy (SMA)
SMA จะเกิดจากเซลล์ประสาทที่เสื่อมสภาพ แบ่งได้เป็นหลายกลุ่มโดยแยกจากช่วงอายุที่เกิด ในผู้ใหญ่ซึ่งเคยใช้ชีวิตได้ตามปกติมักเกิดในช่วงอายุ 20-40 ปี สามารถทำให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การกลืน และการเคลื่อนไหวอ่อนแรงลง ผู้ป่วยมักเริ่มสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อทีละน้อย เริ่มจากกล้ามเนื้อมัดใหญ่แล้วจึงลามไปมัดเล็กกว่า ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ขาไม่มีแรง เคลื่อนไหวได้ลำบาก และอาจมีอาการชาหรืออ่อนล้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ในกรณีที่โรคมีความรุนแรงก็อาจทำให้การกลืนอาหารอาจเป็นไปอย่างยากลำบาก และระบบทางเดินหายใจอาจได้รับผลกระทบจนทำให้หายใจติดขัดหรือล้มเหลวในที่สุด
ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีสาเหตุเกิดจากอะไร?

ตัวอย่างสาเหตุที่อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงสำหรับโรคดังกล่าวก็จะสามารถแบ่งประเภทคร่าว ๆ ตามบริเวณที่เกิดความผิดปกติได้ ดังนี้
- การเสื่อมของเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor Neuron Degeneration) : ภาวะนี้พบใน ALS และ SMA โดย ALS มักจะมีภาวะที่ทำให้เซลล์ประสาทสั่งการในสมองและไขสันหลัง (Upper & Lower Motor Neurons) เสื่อมลง ส่งผลให้การควบคุมกล้ามเนื้อบกพร่อง แม้ว่า ALS บางกรณีอาจเกิดจากพันธุกรรม แต่ประมาณ 90% ของผู้ป่วย ALS เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ในขณะที่ SMA เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของยีน SMN1 ซึ่งทำให้เซลล์ประสาทสั่งการใน ไขสันหลังส่วน Lower Motor Neurons เสื่อมลง
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Autoimmune Disorder) : ภาวะนี้พบใน MG ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีมาทำลายตัวรับ Acetylcholine ที่จุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Junction) ทำให้กล้ามเนื้อรับสัญญาณประสาทได้ลดลงและเกิดอาการอ่อนแรง
อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีอะไรบ้าง?

จริงอยู่ว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะมีหลายรูปแบบที่อาจเกิดจากสาเหตุหรือมีผลกับอวัยวะแตกต่างกันไป แต่ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็ยังมีอาการโดยรวม ๆ อยู่ ดังนี้
- ซุ่มซ่ามมากขึ้นอย่างไม่มีสาเหตุ : หลายคนอาจสังเกตเห็นว่าเรี่ยวแรงลดลงโดยไม่รู้ตัวจนทำให้ร่างกายทำงานผิดพลาดบ่อยขึ้น เช่น กำของไม่แน่นเหมือนเคย เดินสะดุดบ่อยขึ้น กล้ามเนื้อกระตุก หรือเคลื่อนไหวได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม
- รู้สึกอ่อนแรงและล้าเร็ว : ผู้ป่วยอาจพบว่ากล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ยกของหนักไม่ไหว เจ็บกล้ามเนื้อ หรือเมื่อลุกขึ้นยืนจากท่านั่งต้องใช้แรงมากกว่าปกติ บางรายอาจรู้สึกว่าเดินได้ไม่มั่นคง และต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการทำกิจวัตรประจำวัน
- กล้ามเนื้อลีบและฝ่อลง : เมื่อกล้ามเนื้อไม่ได้รับการกระตุ้นจากระบบประสาทเป็นเวลานาน จะเกิดภาวะลีบเล็ก ขนาดของกล้ามเนื้อลดลงอย่างชัดเจน ทำให้แขนหรือขาดูเล็กลงผิดปกติ
- อาการเกี่ยวกับดวงตา : ในบางครั้งอาการอาจแสดงออกที่ดวงตาก่อน เช่น หนังตาตกข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ทำให้มองเห็นไม่ชัด หรือเกิดอาการเห็นภาพซ้อน เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตาอ่อนแรงลง
- ปัญหาในการพูดและการกลืน : ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการพูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก หรือออกเสียงได้เบากว่าปกติเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดทำงานผิดปกติ อาจมีปัญหาในการกลืนอาหารหรือดื่มน้ำ โดยเฉพาะของเหลว อาจทำให้สำลักได้ง่ายขึ้น
- อาการเกี่ยวกับระบบหายใจ : หากโรคมีผลต่อกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อนอนราบ อาจรู้สึกเหนื่อยง่ายหรือมีภาวะหายใจไม่อิ่ม บางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเมื่ออาการรุนแรงขึ้น
โดยอาการเหล่านี้สามารถเกิดได้ทั้งในรูปแบบฉับพลันหรือค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย และอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงได้ ดังนั้นเมื่อสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเร็วที่สุด
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีวิธีการรักษาอย่างไร รักษาหายไหม?

การรักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยรวมแล้วจะไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้หายขาดได้ในทุกกรณี แต่จะมีวิธีที่ใช้ชะลอและช่วยยับยั้งอาการอยู่หลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและจุดที่มีอาการของโรคด้วยว่าการรักษาแบบไหนจะเหมาะสมที่สุด โดยตัวอย่างการรักษาก็จะมี ดังนี้
- ใช้ยารักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง : เช่น ยาในกลุ่ม Cholinesterase Inhibitors ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยายากดภูมิคุ้มกันต่าง ๆ
- การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา (Plasmapheresis) : เป็นการกำจัดแอนติบอดีที่รบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการชั่วคราว แต่มีผลข้างเคียง เช่น ความดันต่ำ เลือดออกผิดปกติ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
- การบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous Immunoglobulin: IVIg) : ช่วยเพิ่มแอนติบอดีที่สมดุลเพื่อปรับการทำงานของภูมิคุ้มกัน เห็นผลนาน 3–6 สัปดาห์ อาจมีผลข้างเคียง เช่น หนาวสั่น เวียนศีรษะ และปวดหัว เหมาะกับผู้ป่วยอาการรุนแรง
- กายภาพบำบัด : การทำกายภาพบำบัดช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและชะลอการฝ่อลง รวมถึงช่วยลดอาการข้อติดแข็ง ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และนักกิจกรรมบำบัดยังสามารถช่วยให้คำแนะนำการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยได้ด้วย
- การบำบัดการพูดและการกลืน : ผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการพูดและการกลืน อาจต้องเข้ารับการบำบัดโดยนักบำบัดการพูด เพื่อช่วยให้สามารถออกเสียงและกลืนอาหารได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงของการสำลัก
- บำบัดทางโภชนาการ : การเลือกอาหารที่เหมาะสมมีความสำคัญต่อผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะผู้ที่กลืนลำบาก อาจต้องปรับเปลี่ยนเนื้อสัมผัสของอาหาร หรือใช้อาหารทางสายยางในกรณีที่รุนแรง
- ผ่าตัด : ในบางครั้งผู้ป่วยโรค MG ที่มีความผิดปกติของต่อมไทมัส แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดต่อมไทมัสเพื่อลดผลกระทบของโรค
กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภัยเงียบที่ยับยั้งได้หากตรวจพบเร็ว
ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักมีอาการเริ่มต้นที่ไม่น่ากลัวและความรุนแรงน้อย แต่อาจซ่อนไว้ซึ่งโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะหากปล่อยไว้โดยไม่ได้พบแพทย์เพื่อรับการประเมินตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ไม่มีมาตรการในการชะลอการดำเนินโรค หรือการรักษา
แพทย์สามารถยับยั้งและดูแลอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ดีกว่าหากตรวจพบและหาสาเหตุได้เร็วโดยเฉพาะในช่วงที่อาการยังไม่พัฒนาไปในระดับที่รุนแรง ซึ่งที่โรงพยาบาลพระราม 9 ก็จะมีศูนย์สมองและระบบประสาทคอยให้บริการตรวจสอบระบบประสาทและพร้อมให้การช่วยเหลือในทุกด้านของการรักษา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง
1. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีกี่ระยะ?
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแต่ละประเภทจะแบ่งได้แตกต่างกันไป ดังนี้
- ระยะของกล้ามเนื้ออ่อนแรงจาก ALS จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะเริ่มต้น : ซึ่งเริ่มมีอาการอ่อนแรงเล็กน้อย เช่น ยกแขนลำบากหรือเดินสะดุด
- ระยะกลาง : อาการรุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น พูดไม่ชัด กลืนลำบาก หายใจติดขัด
- ระยะสุดท้าย : ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและให้อาหารทางสายยาง
- ระยะของกล้ามเนื้ออ่อนแรงจาก MG สามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่
- Stage I : มีอาการเฉพาะที่กล้ามเนื้อตา เช่น หนังตาตกหรือเห็นภาพซ้อน ซึ่งในเเต่ละระยะของโรคนี้มักมีอาการอ่อนเเรงของกล้ามเนื้อบริเวณตาร่วมด้วย
- Stage II : อาการเริ่มกระจายไปกล้ามเนื้อส่วนอื่นแต่ยังไม่รุนแรง
- Stage III : กล้ามเนื้อบริเวณอื่นเริ่มอ่อนแรงชัดเจน อาจเริ่มกระทบต่อการพูด การกลืน
- Stage III : อาการกล้ามเนื้ออ่อนเเรงรุนแรงมากขึ้นชัดเจนขึ้น
- Stage IV : อาการกล้ามเนื้ออ่อนเเรงรุนแรง อาจทำให้กินอาหารด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องใส่ท่อให้อาหาร (Feeding Tube)
- Stage V : อาการรุนแรงที่สุดขั้นมีภาวะหายใจล้มเหลวและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงจาก SMA จะไม่มีการแบ่งระยะแต่จะสามารถจำแนกประเภทตามช่วงอายุที่เริ่มมีอาการได้ ดังนี้
- Type 0 : อาการเริ่มตั้งแต่ทารกแรกเกิด มีอาการรุนแรงมาก พบได้น้อย
- Type 1 : อาการเริ่มในทารกวัยก่อน 6 เดือน (Werdnig-Hoffman disease)
- Type 2 : อาการเริ่มแสดงในวัย 6 – 18 เดือน
- Type 3 : อาการเกิดในวัยเด็กโตหรือวัยรุ่น (Kugelberg-Welander disease)
- Type 4 : อาการเริ่มในวัยผู้ใหญ่
- ผู้ป่วยแต่ละประเภทจะมีความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน และควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง
2. กล้ามเนื้ออ่อนแรงควรกินวิตามินอะไร?
หากมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรกินวิตามินทุกประเภทโดยเฉพาะวิตามินบี 1 กับ 6 ที่หาได้ในเนื้อสัตว์ นมและไข่ และวิตามินบี 12 จากขนมปังและโยเกิร์ตเพื่อบำรุงระบบประสาทและสมอง เพิ่มประสิทธิภาพการสั่งการของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังควรเติมวิตามินดีให้เพียงพอด้วย ซึ่งร่างกายจะสร้างวิตามินดีขึ้นเองเมื่อพบกับแสงแดด แต่หากไม่สะดวกออกแดดก็สามารถรับเพิ่มจากอาหารอย่างปลาทู และไข่แดงได้
References
Providence Health Team. (2024, June 21). Myasthenia gravis vs. ALS: Symptoms, causes and treatment. Providence Health. https://blog.providence.org/blog/myasthenia-gravis-vs-als-symptoms-causes-and-treatment
Neuromuscular Disorders. (2024, February 20). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/neuromuscular-disorders
Neuromuscular Disorders. (n.d.). Physio-Pedia. https://www.physio-pedia.com/Neuromuscular_Disorders