โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร โรคมักจะเกิดในท้องที่ซึ่งมีประวัติว่าเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ปัจจุบันเนื่องจากการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว พ่อค้าสัตว์มักจะนำสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่น ทำให้เกิดการกระจายของโรคไปไกล ๆ ได้ เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 แบบ คือที่ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร
สาเหตุ
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bacillus anthracis เป็นเชื้อ aerobic, non-motile, spore-forming rod จัดอยู่ในตระกูล Bacillaceae เมื่อนำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยมาย้อมสีแกรมจะพบ square-ended gram-positive rods ขนาดใหญ่อยู่เดี่ยวๆ หรือต่อกันเป็น short chains เมื่ออยู่ในที่แห้งและภาวะอากาศไม่เหมาะสมจะสร้างสปอร์หุ้มเซลล์ไว้ มีความทนทานมากทั้งความร้อนความเย็น และยาฆ่าเชื้ออยู่ในธรรมชาติได้นานเป็นสิบๆ ปี
วิธีการติดต่อ
- การรับประทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีเชื้อ
- การสัมผัสสัตว์ที่ป่วย หรือตายผิดปกติ
- จากการหายใจเอาฝุ่นดินที่มีสปอร์เชื้อเข้าไป
ระยะฟักตัว
ในคน ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ อยู่ระหว่าง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อจากการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ระยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน
อาการ
อาการที่สามารถเกิดขึ้นพบได้ 3 ลักษณะ คือ
- แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง (Cutaneous Anthrax) อาการที่พบคือ จะเริ่มเกิดเป็นตุ่มแดงๆตรงที่รับเชื้อ ซึ่งส่วนมากจะอยู่นอกร่มผ้า เช่น มือ แขน ขา แต่อาจพบที่ลำตัวหรือกลางหลังได้ กรณีถอดเสื้อตอนผ่าซากสัตว์ ตุ่มที่พบตอนแรกนี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตุ่มหนองแล้วแตกออกเป็นแผลยกขอบตรงกลางบุ๋มมีสีดำ (Black Eschar) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ในเวลาเดียวกันถ้ายังไม่ได้รับการรักษาก็จะมีตุ่มใหม่เกิดขึ้นรอบๆ แผลเดิมขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ บางครั้งรอบๆแผลจะบวมแดง แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ ยกเว้นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง ปกติแผลที่เกิดจากเชื้อแอนแทรกซ์จะหายยาก ถ้าได้รับการรักษาช้า เพราะเป็นแผลเนื้อตายซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากพิษ (toxin) ของตัวเชื้อ อัตราป่วยตายกรณีไม่ได้รับการรักษาไม่สูงนัก อยู่ระหว่างร้อยละ 5-20 เท่านั้น
- แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร (Intestinal Anthrax) ผู้ป่วยที่กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่างๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้ ดังนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาควรเน้นการซักประวัติการรับประทานอาหารจากผู้ป่วย เมื่อพบผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าว ในรายที่มีอาการอุจจาระร่วงมักจะพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีนี้จะมีอัตราการป่วยตายถึงร้อยละ 50-60
- แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินหายใจ (Pulmonary Anthrax) โดยทั่วไปจะพบผู้ป่วยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขนสัตว์ กระดูกป่น ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย แล้วหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป อาการที่พบในช่วงแรกๆ จะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ และตายจากอาการของระบบหายใจล้มเหลวในช่วงเวลาเพียง 3-5 วันหลังรับเชื้อ อัตราการป่วยตายของผู้ป่วยระบบนี้จะสูงมากถึงร้อยละ 80-90
การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่สงสัย ร่วมกับความเสี่ยง หากเกิดจากการหายใจ ควรตรวจเอกซเรย์ หรือ การตรวจซีทีสแกน โดยอาจเห็นมีน้ำในปอด หรือ ช่องอกที่กว้างขึ้น (Mediastinal widening)
การวินิจฉัยยืนยันสามารถทำได้โดยการวัดแอนติบอดีหรือระดับพิษในเลือด หรือตรวจแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิสในสิ่งส่งตรวจ ซึ่งได้แก่ เลือด ผิวหนังที่มีรอยโรค น้ำไขสันหลัง เสมหะ หรือน้ำในปอด โดยหากเก็บสิ่งส่งตรวจก่อนให้ยาปฏิชีวนะ จะทำให้มีโอกาสสามารถพบเชื้อได้มากขึ้น
วิธีการรักษา
รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนนิซิลิน ด๊อกซีไซคคลิน หรือกลุ่มควิโนโลน นอกจากนี้ยังมียาที่ต้านพิษที่สร้างจากเชื้อและเป็นยาปฏิชีวนะด้วย คือ คลินดาไมซิน ลิเนโซลิด
บางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายขนานหากมีอาการรุนแรง เช่น ถ้าติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง ต้องใช้ยาอย่างน้อย 3 ตัว โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody) และอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ที่จำเพาะกับเชื้อก็มีการนำมาใช้ด้วย
ผู้ป่วยบางรายแม้ว่าจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แล้ว แต่พิษจากเชื้ออาจยังมีผลรุนแรงที่ต้องนอนในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ติดเชื้อหรือซากสัตว์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประวัติการระบาด
- สวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องสัมผัสสัตว์หรือซากสัตว์ เช่น ถุงมือ หน้ากาก เสื้อคลุมกันเปื้อน
- หลังสัมผัสกับเนื้อสัตว์ควรล้างมือ และอุปกรณ์ให้สะอาดเสมอ
- เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรอง อาหารปลอดภัย
- ไม่รับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์ที่ดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
แหล่งอ้างอิง
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แอนแทรกซ์ (Anthrax)
สาระสุขภาพ รู้จักโรค แอนแทรกซ์ (Anthrax) โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
โรคแอนแทรกซ์ – (anthrax) สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย