Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
Menu
  • TH
    • EN
    • CN
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

ดูแลเท้าให้ดี ประหนึ่งดูแลใบหน้า ช่วยลดความเสี่ยงจากเบาหวานลงเท้า

นพ.เอกสิทธิ์ วาณิชเจริญกุล, พญ.อารีสา มโนชญ์ปิติพงศ์

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 30 กันยายน 2021
เบาหวานลงเท้า

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมานาน หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จะส่งผลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังตามมา ไม่ว่าจะเป็น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต ความดันโลหิตสูง และอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมาก ๆ นั่นก็คือ “เบาหวานลงเท้า”

อาการเบาหวานลงเท้า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังตามมา และอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่การรักษาด้วยการตัดเท้าหรือตัดขาในที่สุด ดังนั้น หากเป็นโรคเบาหวานแล้ว เท้าจึงถือเป็นอีกหนึ่งอวัยวะสําคัญที่ต้องดูใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นแผลได้ง่ายและรักษายาก

อีกทั้งผู้ป่วยเบาหวานต้องใส่ใจเป็นพิเศษกับการควบคุมระดับน้ำตาล รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนเรื้อรัง

บทความนี้จะเน้นกล่าวถึงสาเหตุและลักษณะของอาการเบาหวานลงเท้า รวมทั้งแนวทางการป้องกันและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

สารบัญ

  • เบาหวานลงเท้า คืออะไร
  • สาเหตุของเบาหวานลงเท้า มีอะไรบ้าง
  • วิธีสังเกตอาการ เบาหวานลงเท้า
  • อาการเท้าบวม เกี่ยวข้องกับเบาหวานลงเท้าหรือไม่
  • อะไรคืออาการ เท้าดำ ที่คนมักพูดกัน
  • ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ป้องกันเบาหวานลงเท้าตั้งแต่ต้นเหตุ
  • การดูแลเท้า และการตัดเล็บเพื่อลดโอกาสเกิดแผลและการติดเชื้อที่เท้า
  • การเลือกรองเท้า สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
  • เข้ารับการตรวจเท้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • สรุป

เบาหวานลงเท้า คืออะไร

เบาหวานลงเท้า คือ ลักษณะอาการที่ปรากฏขึ้นที่เท้าหรือบริเวณขา เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่มาจากโรคเบาหวาน ได้แก่ เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมและภาวะหลอดเลือดตีบ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกที่บริเวณเท้าและยังเกิดแผลเรื้อรังที่เท้าได้ง่าย หากมีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการตัดเท้าหรือตัดขาในที่สุด

เบาหวานลงเท้า อาการ

>กลับสู่สารบัญ

สาเหตุของเบาหวานลงเท้า มีอะไรบ้าง

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น ภาวะแทรกซ้อนฉับพลัน และภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง

(1) ภาวะแทรกซ้อนฉับพลัน มักเป็นการติดเชื้อรุนแรง ภาวะช็อคเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลงเกินไป หรือบางรายอาจมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA)

(2) ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานาน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้ว มักจะมาจากการที่หลอดเลือดแดงและระบบประสาทเสื่อมสภาพลง ได้แก่

  1. หลอดเลือดแดงตีบหรือเสื่อม: เมื่อระดับน้ำตาลสูงเกินค่าปกติเป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลให้เส้นเลือดแดงเกิดภาวะอักเสบ ตามมาด้วยอาการเปราะ ตีบ หรือฉีกขาดง่าย เลือดจึงไหลเวียนไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้ไม่เต็มที่

    อวัยวะส่วนที่อยู่ไกลอย่างเช่น “เท้า” จึงเสี่ยงต่ออาการเนื้อเยื่อตายเพราะขาดเลือด นอกจากนี้ กลไกการต่อสู้กับเชื้อโรคบริเวณนั้นก็ทำได้แย่ลงด้วย ดังนั้น หากเกิดแผลขึ้นมา ก็มักจะหายช้ามาก แถมยังง่ายต่อการติดเชื้อจนทำให้มีอาการอักเสบรุนแรงขึ้นได้

  2. เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม: เมื่อระบบประสาทส่วนปลายเริ่มเสื่อมสภาพลง ผู้ป่วยจะสูญเสียความรู้สึกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณปลายมือและปลายเท้า เกิดเป็นอาการเท้าชา ส่งผลให้เวลาที่เท้าสัมผัสถูกของมีคมหรือของร้อนจัด ผู้ป่วยจึงมักไม่ค่อยรู้ตัว ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดแผลขึ้นที่เท้าได้ง่าย ๆ

    นอกจากนี้ ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ยังส่งผลให้มัดกล้ามเนื้อบริเวณเท้าฝ่อลง เมื่อกล้ามเนื้อที่ประคับประคองเท้าไม่แข็งแรงเท่าเดิมแล้ว เท้าจึงอาจบิดผิดรูป ส่งผลให้ผู้ป่วยยืนหรือเดินแล้วลงน้ำหนักเท้าในบางตำแหน่งไม่เหมาะสม จนเกิดการกดทับเป็นแผลที่เท้าขึ้นมาได้

  3. ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม: ระบบประสาทอัตโนมัติ มีส่วนในการควบคุมการทำงานของต่อมเหงื่อ หากเกิดการเสื่อมสภาพไป การปรับความสมดุลความชุ่มชื้นของผิวหนังก็จะเสียไปด้วย ส่งผลให้ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น โดยเฉพาะบริเวณเท้าทั้งสองข้าง ซึ่งก็จะแห้งแล้วปริแตกได้ง่าย ทำให้เกิดปัญหาแผลเรื้อรังตามมาได้นั่นเอง

แน่นอนว่าโรคเบาหวานเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการเบาหวานลงเท้า อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดได้อีก เช่น อายุมาก การสูบบุหรี่ เล็บที่ผิดปกติ และรองเท้าที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ ในทางกลับกัน การปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม ก็อาจมีผลกระตุ้นให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้นหรือรุนแรงยิ่งขึ้นได้เช่นกัน

เบาหวานลงเท้า เกิดจาก

>กลับสู่สารบัญ

วิธีสังเกตอาการ เบาหวานลงเท้า

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรหมั่นสังเกตอาการเบื้องต้นของเบาหวานลงเท้าอยู่เสมอ ได้แก่อาการดังต่อไปนี้   

  1. มีอาการชาหรือเป็นเหน็บที่เท้า ไล่จากปลายนิ้วเท้าขึ้นไปยังบริเวณหลังเท้าหรือขา โดยมักจะเป็นทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน

     

  2. มีอาการปวดแปล๊บคล้ายกับว่ามีไฟช็อตที่เท้าทั้ง 2 ข้าง

     

  3. ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเท้าร้อนวูบวาบ หรือปวดแสบปวดร้อนที่เท้า

     

  4. สีผิวบริเวณเท้าซีดลงหรือคล้ำขึ้นจนผิดสังเกต|

     

  5. ผิวหนังบริเวณเท้าทั้งสองข้างแห้ง บางคนอาจแห้งจนปริแตก

     

  6. ผิวหนังที่เท้าแข็งขึ้นมีลักษณะเป็นตาปลา

     

  7. รูปเท้าผิดไปจากปกติ หรือมีปุ่มกระดูกงอกโปนขึ้นมา

หากเป็นโรคเบาหวานอยู่ แล้วพบว่าตนเองมีอาการดังที่กล่าวมานี้ ควรรีบไปพบแพทย์

เบาหวานลงเท้า อาการ

>กลับสู่สารบัญ

อาการเท้าบวม เกี่ยวข้องกับเบาหวานลงเท้าหรือไม่

เวลาเราได้ยินว่าใครมีอาการเท้าบวม เราก็มักจะนึกถึงอาการของคนที่เป็นโรคไตเป็นอันดับแรก ซึ่งที่จริงแล้ว อาการเท้าบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แม้แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเอง ก็มีโอกาสที่จะแสดงอาการเท้าบวมได้เช่นเดียวกัน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเท้าบวม มีสาเหตุมาจากการคั่งของของเหลวที่บริเวณเท้า เป็นผลมาจากระบบการไหลเวียนของโลหิตที่ไม่ดี นอกจากนี้ การกินอาหารเค็มมาก ๆ ก็มีส่วนในการทำให้อาการยิ่งแย่ลง แต่ละคนอาจมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป

แนวทางแก้ไข หากมีอาการบวมที่เท้า

การรักษาอาการให้ทุเลาลง ได้แก่ การใช้ถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อ ที่ช่วยปรับความดันที่ขาและเท้าให้มีปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น แต่ต้องพยายามไม่ใช้ถุงเท้าที่บีบรัดมากจนเกินไป นอกจากนี้ การพยายามยกขาให้สูงขึ้น จะช่วยลดของเหลวสะสมที่บริเวณเท้าได้อีกด้วย

และควรลดความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากโรคเบาหวาน เช่น การลดพฤติกรรมการกินเค็ม การลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน การกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น โดยมีข้อแนะนำให้ออกกำลังกายเบา ๆ ไม่ต้องแบกรับน้ำหนักมาก เช่น การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการบวมที่เท้า บางรายอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อความแน่ใจอีกครั้งหนึ่ง 

>กลับสู่สารบัญ

อะไรคืออาการ เท้าดำ ที่คนมักพูดกัน

คนที่มีอาการเบาหวานลงเท้านั้น มักจะมีอาการที่สังเกตได้หลายอย่างนำมาก่อน เช่น อาการชา อาการปวดแสบปวดร้อนที่เท้า อาการจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่ใช่ว่าจู่ ๆ เนื้อเยื่อจะตายอย่างเฉียบพลันแล้วจะต้องมีอาการเท้าดำ 

สำหรับการตรวจวินิจฉัยอาการเบาหวานลงเท้า แพทย์จะใช้การตรวจสอบหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการสังเกตสีผิวและตรวจวัดอุณหภูมิของเท้า

โดยทั่วไป คนที่มีภาวะเบาหวานลงเท้าแล้วมีอาการอักเสบรุนแรง บริเวณเท้ามักจะมีสีผิวออกแดงและบวม ซึ่งแสดงถึงภาวะการอักเสบ

แต่หากพบว่าเท้ามีสีผิวที่เข้มขึ้นและเป็นมัน วัดอุณหภูมิได้ต่ำกว่าปกติ และคลำชีพจรได้เบา ก็มีโอกาสสูงว่าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนเท้าอาจเกิดการตีบตัน ซึ่งหากปล่อยไว้ เนื้อเยื่อบริเวณนั้นอาจตายได้ จุดไหนที่เนื้อเยื่อตาย บริเวณนั้นผิวก็จะดำและแห้งนั่นเอง

>กลับสู่สารบัญ

ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ป้องกัน เบาหวานลงเท้า ตั้งแต่ต้นเหตุ

อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า เบาหวานลงเท้ามีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง การรักษาโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็มักได้ผลการรักษาที่ไม่ดีนัก 

จึงมีข้อแนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังไม่เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น หรือเริ่มมีโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้วก็ตาม ให้พยายามควบคุมระดับความดันโลหิต รวมถึงระดับนํ้าตาลและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามคำสั่งของแพทย์โดยเคร่งครัด รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบบุหรี่ ควรเลิกอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ มักให้ผลการรักษาที่ดีกว่า จึงควรเข้าพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามวันเวลาที่นัดไว้ เพื่อตรวจความเป็นไปของโรคและประเมินโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด

>กลับสู่สารบัญ

การดูแลเท้า และการตัดเล็บ เพื่อลดโอกาสเกิดแผลและการติดเชื้อที่เท้า

สำหรับผู้ที่เริ่มมีโรคแทรกซ้อนแล้ว ขอให้ทำการรักษาต่อไปตามคำสั่งแพทย์ โดยปฏิบัติร่วมกันกับข้อแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลและการติดเชื้อที่เท้า ดังนี้ 

ขั้นตอนการดูแลเท้าในเบื้องต้น ป้องกันปัญหาจากเบาหวานลงเท้า

  1. ทำความสะอาดเท้าและซอกนิ้วทุกวัน โดยใช้น้ำสะอาดและสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน วันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย (แนะนำให้เป็นตอนเช้าและก่อนนอน) หลังจากนั้น ให้เช็ดเท้าและซอกเท้าให้แห้งทันทีโดยใช้ผ้าสะอาดเช็ด อย่าปล่อยให้เท้าเปียกชื้น

  2. หากมีอาการผิวแห้ง ควรใช้ครีมทาบาง ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น แต่อย่าทาบริเวณซอกนิ้ว เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นได้

  3. ไม่เดินเท้าเปล่า ทั้งภายในบ้าน บริเวณรอบบ้าน และนอกบ้าน

  4. สวมถุงเท้าก่อนรองเท้าเสมอ เพื่อลดการเสียดสี โดยก่อนสวมรองเท้า ควรตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายใน แม้แต่เศษกรวดหินดินทรายเล็ก ๆ ก็ตาม เพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองจนเป็นแผลได้

  5. ตรวจดูเท้าตัวเองเป็นประจำ สังเกตดูว่ามีอาการผิดปกติไหม เช่น ปวด บวม มีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพอง เป็นต้น ควรตรวจให้ทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า และซอกนิ้ว โดยอาจใช้กระจกส่องหากมองไม่เห็นหรือมองไม่ถนัด

  6. หากพบว่าเริ่มมีแผล หรือหนังด้านแข็ง มีตาปลา มีรอยแตก หรือการติดเชื้อรา ควรพบแพทย์โดยเร็ว และไม่ควรตัดตาปลาออกด้วยตนเอง

  7. หากเป็นเล็บขบ ควรมาโรงพยาบาลทันที อย่าพยายามรักษาด้วยตัวเอง
ผู้ป่วยเบาหวาน ดูแลเท้า

ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องดูแลการตัดเล็บเป็นพิเศษ

สำหรับคนทั่วไป การตัดเล็บอาจเป็นแค่ขั้นตอน ๆ หนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและเสี่ยงต่ออาการเบาหวานลงเท้านั้น การตัดเล็บเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ต้องให้ความสนใจดูแลเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันโอกาสเป็นแผลและติดเชื้อ

ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ หลังจากอาบน้ำ เราควรเลือกเวลาตัดเล็บหลังจากอาบน้ำเสร็จ เนื่องจากเล็บจะนิ่มและทำให้ตัดง่าย เพราะหากตัดเล็บช่วงเวลาปกติ เล็บจะแข็งแล้วต้องออกแรงมากขึ้น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

วิธีการตัดเล็บที่ดี คือ ควรตัดตามแนวขอบเล็บเท่านั้น ให้เป็นเส้นตรงเสมอปลายกับนิ้วเท้า ไม่ควรตัดเล็บจนลึกมากหรือตัดจนโค้งเข้าจมูกเล็บ เพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นเล็บขบได้

ผู้ป่วยเบาหวาน การตัดเล็บ

ห้ามใช้อุปกรณ์แหย่ตามซอกเล็บเด็ดขาด เนื่องจากหลายคนอาจเคยชินกับการทำความสะอาดซอกเล็บโดยใช้เครื่องมือแหลม ๆ แหย่หรือแคะเข้าตามซอกเล็บหรือจมูกเล็บ ซึ่งเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากอาจจะเกิดการระคายเคืองหรือเกิดแผลติดเชื้อได้ 

>กลับสู่สารบัญ

การเลือกรองเท้า สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

การเลือกสวมรองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ จะช่วยป้องกันและลดโอกาสเกิดแผลบริเวณเท้าได้ มีหลักในการเลือกรองเท้าดังนี้

  1. เลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดี เหมาะสมกับรูปเท้า และควรเผื่อหน้าเท้าให้ลึกและกว้างหน่อย
  2. เลือกรองเท้าทำจากวัสดุที่นุ่ม เช่น รองเท้าหนังชนิดนุ่ม
  3. แบบรองเท้าที่เลือก ควรเป็นแบบหุ้มส้น
  4. ควรเลือกรองเท้าที่สามารถปรับขนาดได้ด้วยเชือกหรือแถบตีนตุ๊กแก
  5. ไม่ควรใช้ รองเท้าแตะประเภทใช้นิ้วคีบ
  6. ไม่ควรใช้ รองเท้าที่คับหรือหลวมเกินไป
  7. ไม่ควรใช้ รองเท้าไม่ควรมีตะเข็บ ถ้าต้องมีจริง ๆ ควรเลือกที่มีตะเข็บให้น้อยเข้าไว้

หากเป็นไปได้ แนะนำว่าผู้ป่วยเบาหวานควรตัดรองเท้าที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะจะเหมาะสมที่สุด

จะเห็นได้ว่าการดูแลเท้ามีขั้นตอนและความสำคัญ ไม่แตกต่างจากการดูแลภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เบาหวานขึ้นตา หรือเบาหวานลงไต ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสเกิดแผล ซึ่งจะตามมาด้วยเรื่องยุ่งยากจากอาการเบาหวานลงเท้าได้อีกมากมาย

สุดท้ายหมอขอฝากวลีที่หมอเคยได้ยินและชื่นชอบเป็นพิเศษที่ว่า

“ดูแลเท้าให้ดี เสมือนหนึ่งดูแลใบหน้า”

>กลับสู่สารบัญ

เข้ารับการตรวจเท้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นอกจากวิธีดูแลเท้าด้วยตนเองแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจเท้าอย่างละเอียด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง กับแพทย์หรือบุคลาการทางการแพทย์ โดยแพทย์จะทำการตรวจเท้าเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยละเอียด ดังนี้

    1. ซักประวัติโรคเบาหวาน เพื่อประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ

    2. ตรวจเท้าทั่วทั้งเท้าเพื่อดูลักษณะภายนอก ว่ามีแผลเกิดขึ้นหรือไม่ ตรวจหาผิวหนังว่ามีเชื้อรา ตาปลา และการอักเสบหรือไม่ รวมทั้งตรวจดูลักษณะเล็บ และการผิดรูปของเท้า

    3. ตรวจการรับความรู้สึกบริเวณเท้า โดยการใช้ไนล่อนเส้นเล็ก เพื่อทดสอบการรับรู้ความรู้สึกของผิวหนัง (Monofilament test) หรือใช้ส้อมเสียง ทดสอบการรับรู้ของเส้นประสาทจากการสั่นสะเทือน (Tuning fork)

    4. ตรวจหาการตีบแคบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเท้า โดยคลำชีพจรที่ตาตุ่มและหลังเท้า บางรายอาจมีความจำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า Ankle-Brachial Index (ABI) ซึ่งเป็นเครื่องวัดความดันโลหิตจากแขนทั้งสองข้างและขาทั้งสองข้าง แล้วนำเปรียบเทียบกัน

    5. ประเมินความเหมาะสมของรองเท้าที่ผู้ป่วยสวมใส่

วิธีการตรวจต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินและติดตามความเสี่ยงของอาการเบาหวานลงเท้าได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเข้าไปพบแพทย์ตามนัด จะช่วยป้องกันความเสี่ยงของภาวะดังกล่าวได้อย่างมาก 

>กลับสู่สารบัญ

สรุป

จากรายละเอียดในบทความนี้ จะเห็นได้ว่า ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน จะเน้นที่การดูแล รักษา และป้องกันตั้งแต่สาเหตุต้นทาง โดยการควบคุมดูแลตนเองไม่ให้เป็นโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง ร่วมกับการปฏิบัติตามตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด

สำหรับผู้ที่เริ่มมีภาวะเสี่ยงที่จะมีอาการเบาหวานลงเท้า ควรมาพบแพทย์ประเมินอาการ พร้อมทั้งแนะนำการดูแลของคุณเท้าอย่างถูกสุขลักษณะ

ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดเท้า การตัดเล็บเท้า ไปจนถึงการเลือกรองเท้าที่เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลที่เท้าได้ เพราะการเกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ ปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียเท้าหรือขาได้

ดังนั้นการเริ่มฝึกปฏิบัติ ดูแลตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้า หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีที่ทำให้มีร่างกายที่แข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดี 

คลิกดูแพ็กเกจที่เกี่ยวข้องที่นี่

แพ็กเกจผ่าตัดข้อเข่าเทียม

รายละเอียด

>กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

รักษามะเร็งเต้านม

แนวทางใหม่! รักษามะเร็งเต้านม ด้วยวิธีผ่าตัดสงวนเต้า และการเสริมสร้างเต้านมใหม่

อ่านเพิ่มเติม
เด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยาก

อ่านเพิ่มเติม
ลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุการปวดท้องเรื้อรัง อืดแน่นท้อง ขับถ่ายผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 V
  • Praram 9 V

แพทย์ผู้เขียนบทความ

นพ.เอกสิทธิ์ วาณิชเจริญกุล

นพ.เอกสิทธิ์ วาณิชเจริญกุล

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

พญ.อารีสา มโนชญ์ปิติพงศ์

พญ.อารีสา มโนชญ์ปิติพงศ์

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

ศูนย์แพทย์

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิค_1-1

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

รักษามะเร็งเต้านม

แนวทางใหม่! รักษามะเร็งเต้านม ด้วยวิธีผ่าตัดสงวนเต้า และการเสริมสร้างเต้านมใหม่

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีการผ่าตัดสงวนเต้า ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด หรือหากจำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม
เด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยาก

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF เป็นเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับคู่สามีภรรยาที่มีบุตรยาก ช่วยเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์

อ่านเพิ่มเติม
ลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุการปวดท้องเรื้อรัง อืดแน่นท้อง ขับถ่ายผิดปกติ

ภาวะผิดปกติเรื้อรังของลำไส้ หรือโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) อาจมีอาการคล้ายโรคมะเร็งลำไส้ สามารถตรวจสอบเพื่อแยกโรค และรักษาให้เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด

แพ็กเกจยอดนิยม

แพ็กเกจตรวจสุขภาพน้องใหม่วัยชิลล์

รายละเอียด

แพ็กเกจตรวจสุขภาพรุ่นพี่วัยชิค

รายละเอียด

แพ็กเกจตรวจสุขภาพรุ่นใหญ่วัยเก๋า

รายละเอียด

ดูแพ็กเกจทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2021 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา