ลมชัก (Epilepsy) หรือที่หลายคนเรียกว่า ลมบ้าหมู เป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการชักซ้ำ ๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้ หลายคนอาจสงสัยว่าอาการชักเกิดจากอะไร โรคประสาทชักกระตุกนี้สามารถป้องกันได้ไหม ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น ตั้งแต่สาเหตุของลมบ้าหมู อาการ แนวทางรักษา ไปจนถึงวิธีรับมือกับอาการชักที่ถูกต้อง
Key Takeaways
- โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการชักในรูปแบบต่าง ๆ
- สาเหตุของลมชักอาจเกิดจากพันธุกรรม, การบาดเจ็บที่สมอง, เนื้องอกในสมอง, โรคหลอดเลือดสมอง หรือการติดเชื้อในสมอง
- อาการชักมีหลายประเภท เช่น อาการชักเหม่อลอย, อาการชักเกร็ง, อาการชักกระตุก ไปจนถึงอาการชักกระตุกและเกร็งพร้อมกัน โดยอาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงหมดสติ
- การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น การใช้ยากันชัก, การผ่าตัด หรือการควบคุมพฤติกรรม สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG), MRI, CT Scan หรือตรวจเลือดพร้อมประวัติทางสุขภาพเบื้องต้น
สารบัญบทความ
- ลมชัก คืออะไร? ทำความเข้าใจกันก่อน
- ลมชักเกิดจากอะไร? มาเช็กสาเหตุของอาการชักเกร็งที่ควรรู้!
- ลมชัก อาการเป็นอย่างไร? สัญญาเตือนที่ไม่ควรมองข้าม!
- การวินิจฉัยโรคลมชัก ตรวจอาการอย่างไร?
- เมื่อเป็นลมชัก รักษาอย่างไรได้บ้าง?
- ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยลมชัก ป้องกันไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
- ลมชัก โรคทางสมองที่ต้องระวัง อย่าปล่อยไว้ให้เป็นอันตราย
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับลมชัก
ลมชัก คืออะไร? ทำความเข้าใจกันก่อน
ลมชัก (Epilepsy) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ลมบ้าหมู คือ โรคทางสมองที่เกิดจากการที่เซลล์สมองมีการปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ (Epileptiform activity) ออกมาจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อม ๆ กัน ส่งผลให้เกิดการชักเกร็งหรือในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมักมีอาการเตือนก่อนชักในระบบต่าง ๆ ของร่างกายตามด้วยอาการชัก และอาจมีอาการหลังชัก
อาการชักนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ผู้ป่วยที่มีอาการชักนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นโรคลมชักเสมอไป การวินิจฉัยโรคลมชักนั้น จำเป็นต้องทำโดยแพทย์โดยใช้การตรวจร่างกาย ซักประวัติ และการสืบสวนทางการแพทย์อื่น ๆ ร่วมประเมินด้วย ตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชัก เช่น พันธุกรรม การบาดเจ็บที่สมอง หรือภาวะที่ส่งผลต่อสมองโดยตรง เช่น เนื้องอกในสมอง
โรคชักกระตุกมีหลายระดับความรุนแรง ซึ่งอาจเป็นเพียงการชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures) ชั่วขณะหนึ่ง หรือเกิดอาการชักแบบรุนแรงจนหมดสติ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรคลมชักจะช่วยให้สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้และเข้ารับการรักษาได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น เพราะในบางรายที่เกิดลมชักรุนแรง อาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้
ลมชักเกิดจากอะไร? มาเช็กสาเหตุของอาการชักเกร็งที่ควรรู้!

หลายคนอาจสงสัยว่าลมชักเกิดจากอะไร และมีปัจจัยใดบ้างที่กระตุ้นให้เกิดอาการชัก โดยโรคลมชักนี้เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้มีอาการชักเกร็งหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่
- พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นลมบ้าหมู อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคลมชักได้
- ความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง หรือความเสียหายจากการบาดเจ็บส่วนสมอง
- การติดเชื้อในสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ
- ภาวะสมองขาดออกซิเจน อาจเกิดจากการจมน้ำ คลอดก่อนกำหนด หรือโรคหลอดเลือดสมอง
- ปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น การอดนอน ความเครียด แสงแฟลช หรือการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
อย่างไรก็ดี อาการลมบ้าหมูเกิดจากความผิดปกติของสมองที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ดังนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจแทรกซ้อนเข้ามาเมื่อพบคนเป็นลมชัก โดยเฉพาะอาการของโรค เราจะได้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เร่งด่วนดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที
ลมชัก อาการเป็นอย่างไร? สัญญาเตือนที่ไม่ควรมองข้าม!
ลมชักเป็นโรคทางสมองที่มีอาการหลากหลาย ซึ่งสำหรับตัวผู้ป่วยเอง เมื่อกำลังจะเกิดอาการชัก ร่างกายมักจะรู้สึกได้ถึงสัญญาณเตือนภายใน ยกตัวอย่างเช่น ความรู้สึกกลัว รู้สึกชาหรือรู้สึกมีหนามทิ่มตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ประสาทสัมผัสผิดปกติ ใจสั่น วิงเวียน ขนลุก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ลมชักหรือลมบ้าหมู อาการของโรคนั้นจะแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและประเภทของโรค ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเกี่ยวกับตำแหน่งในสมองส่วนที่มีความผิดปกติ หรือลักษณะที่เกิดลมชัก แต่โดยเบื้องต้น มักจะมีอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. ลมชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures)
อาการของลมชักประเภทนี้มักเกิดขึ้นในเด็กและมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการเหม่อแบบทั่ว ๆ ไป ผู้ป่วยจะมีลักษณะนิ่งไปชั่วขณะ คล้ายกับกำลังเหม่อลอยหรือใจลอย อาจกระพริบตาหรือขยับริมฝีปากโดยไม่รู้ตัวหากชักแบบนี้นาน ซึ่งลมชักประเภทนี้จะกินเวลาประมาณ 4-20 วินาที และอาจเกิดขึ้นหลายครั้งต่อวัน ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น และอาจกลับมาทำกิจกรรมต่อได้ทันทีโดยที่คนรอบข้างยังไม่ทันได้สังเกต
2. ลมชักแบบชักเกร็ง (Tonic Seizures)
เกิดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรวดเร็วหลังหมดสติ ส่งผลให้ร่างกายแข็งเกร็งไปชั่วขณะ อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบางส่วนหรือทั้งตัว หากเกิดขึ้นขณะยืน อาจทำให้ล้มลงอย่างกะทันหัน อาการมักกินเวลาไม่กี่วินาทีถึงสองนาที
3. ลมชักแบบสูญเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Atonic Seizures)
อาการของโรคแบบสูญเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อนี้ตรงข้ามกับลมชักแบบกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เพราะเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อสูญเสียแรงกะทันหัน ส่งผลให้ผู้ป่วยทรุดตัวลงหรือล้มลงโดยไม่สามารถควบคุมได้ มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกินเวลาเพียงไม่กี่วินาที ทำให้ผู้ป่วยมักสามารถลุกขึ้นได้ทันที บางครั้งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บจากการล้มได้ด้วย
4. ลมชักแบบชักกระตุก (Clonic Seizures)
ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติตามด้วยอาการที่กล้ามเนื้อทั้งตัวกระตุกเป็นจังหวะติดต่อกัน โดยที่ไม่มีการเกร็งของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงบาดเจ็บจากการล้มได้เช่นเดียวกัน แม้จะไม่มีการเกร็งก็ตาม
5. ลมชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures)
เป็นอาการของโรคลมชักที่มีกล้ามเนื้อกระตุกคล้ายสะดุ้งมักกระตุกที่แขนสองข้าง อาจจะกระตุกครั้งเดียวหรือเป็นช่วงสั้น ๆ ไม่กี่ครั้ง ไม่เป็นจังหวะ อาการกระตุกแต่ละครั้งนานเพียงเสี้ยววินาที
6. ลมชักแบบชักกระตุกและเกร็ง (Tonic-Clonic Seizures)
เป็นรูปแบบอาการของโรคลมชักที่พบได้บ่อยและรุนแรงที่สุด โดยเริ่มจากมีอาการหมดสติตามด้วยระยะเกร็ง (Tonic Phase) ทำให้ผู้ป่วยล้มลง และตามมาด้วยระยะที่กล้ามเนื้อชักกระตุก (Clonic Phase) ซึ่งอาจมีอาการกัดลิ้น กลั้นหายใจ หรือสูญเสียการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระร่วมด้วย ลมชักประเภทนี้มักกินเวลาหลายวินาทีถึงหลายนาที และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคลมชัก ตรวจอาการอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคลมชักเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถระบุสาเหตุว่าอาการชักเกร็งเกิดจากอะไร โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยประเมินการทำงานของสมอง ซึ่งการตรวจที่นิยมใช้ ได้แก่
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG – Electroencephalogram)
การเช็กว่าเป็นลมชักหรือไม่ สามารถใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองหรือ EEG ซึ่งเป็นการตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้าในสมองผ่านอิเล็กโทรดที่ติดบริเวณศีรษะ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองที่อาจเป็นสาเหตุของโรคลมชักหรือไม่ การตรวจนี้สามารถช่วยระบุประเภทของโรคลมชัก และตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติในสมองได้ โดยการทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการชักจะมีโอกาสพบความผิดปกติได้มากขึ้น
การตรวจภาพถ่ายกายภาพของสมอง (Neuroimaging)
การตรวจหาสาเหตุของลมชักด้วย MRI เป็นเทคนิคการถ่ายภาพสมองที่ให้รายละเอียดสูง โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ สามารถช่วยตรวจหาความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอก รอยโรค หรือความเสียหายของเนื้อเยื่อสมองที่อาจเป็นสาเหตุของโรคลมชักได้
อีกวิธีหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือการตรวจ CT scan เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์สร้างภาพสมองในรูปแบบสามมิติ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น เลือดออกในสมอง ภาวะสมองขาดออกซิเจน หรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับลมชัก
การตรวจเลือดและปัจจัยอื่น ๆ
แพทย์อาจตรวจเลือดหรือน้ำไขสันหลังเพื่อหาสาเหตุที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น การติดเชื้อ ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ หรือความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม นอกจากนี้ อาจมีการตรวจคลื่นหัวใจ (ECG) หรือการเฝ้าติดตามอาการของลมชักด้วย EEG เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของสมองระหว่างเกิดอาการได้ด้วย
เมื่อเป็นลมชัก รักษาอย่างไรได้บ้าง?
ลมชักหรือโรคชักกระตุก เป็นภาวะที่สามารถรักษาและควบคุมอาการได้ด้วยวิธีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้ยา การผ่าตัด ไปจนถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัจจัยมากระตุ้นจนเกิดอาการ มาดูกันว่ามีวิธีการรักษาลมชักอย่างไรบ้าง
1. การใช้ยาเพื่อควบคุมอาการชัก
การรักษาลมชัก ส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการใช้ยากันชักเป็นวิธีเบื้องต้นก่อน ซึ่งจะช่วยลดความถี่และความรุนแรงให้อาการบรรเทาลง โดยยาที่ใช้รักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของโรคลมชักที่เป็นอยู่ เช่น ยากันชักกลุ่ม Carbamazepine, Phenytoin, Valproic acid สำหรับลมชักแบบทั่วไป หรือยากันชักกลุ่ม Lamotrigine, Levetiracetam, Topiramate สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักบางประเภท โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างเคร่งครัดตามแพทย์สั่ง เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ยาด้วย
2. การผ่าตัดรักษาลมชัก
หากผู้ป่วยใช้ยากันชักแล้วไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดสมองเพื่อนำบริเวณที่เป็นต้นเหตุของลมชักออก เช่น กรณีที่มีอาการลมบ้าหมูซึ่งเกิดจากเนื้องอกในสมอง หรือพยาธิสภาพที่สามารถผ่าตัดรักษาได้ การผ่าตัดเป็นวิธีที่ช่วยลดอาการชักของผู้ป่วยลมชักหรืออาจทำให้หายขาดได้ในบางกรณี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและลักษณะของโรค
3. การใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาท (Vagal Nerve Stimulation – VNS)
เป็นการฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก เพื่อลดความรุนแรงของลมชักโดยส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้ยาไม่ได้ผลและไม่สามารถผ่าตัดได้
4. การกินคีโต (Ketogenic Diet)
เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการของลมชักได้แบบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง! โดยการกินคีโตจะเป็นการปรับโภชนาการให้ร่างกายใช้ไขมันเป็นพลังงานหลักแทนคาร์โบไฮเดรต อาหารคีโต (Ketogenic) จะมีการควบคุมสัดส่วนไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งช่วยลดความถี่ของการเกิดโรคชักกระตุกได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชัก
5. การปรับพฤติกรรมและการดูแลตัวเอง
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นลมชัก เบื้องต้นควรจะต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและเริ่มดูแลตัวเองให้เคร่งครัดมากขึ้น เพราะหากได้รับการดูแลรักษาร่างกายอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยในการควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ อย่างแสงแฟลช การอดนอน ความเครียด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด หรืออื่น ๆ ร่วมกับการปรึกษาแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่ออัปเดตอาการสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ สำหรับคนเป็นลมชักได้
ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยลมชัก ป้องกันไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

ผู้ที่เป็นลมชักหรือโรคประสาทชักกระตุกควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของอาการลมชักและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นขณะชัก โดยควรคำนึงถึงข้อควรระวังต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นลมชัก ดังนี้
- หลีกเลี่ยงแสงกะพริบและแสงแฟลช เช่น แสงในคอนเสิร์ต สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ หรือจากเกมส์บางชนิด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความไวต่อแสง (Photosensitive Epilepsy)
- หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียวในสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น บริเวณที่สูง น้ำลึก หรือใกล้เครื่องจักรกล
- ระมัดระวังขณะขับขี่และใช้เครื่องจักร หากยังมีอาการของลมชักอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนขับขี่ยานพาหนะ
- ปรับพื้นที่ให้ป้องกันอุบัติเหตุในบ้านอย่างครอบคลุม เช่น ปูพื้นกันลื่น ไม่ล็อกห้องน้ำจากด้านใน และใช้ภาชนะที่ไม่แตกง่าย
- ห้ามหยุดยาด้วยตัวเอง (กรณีที่ต้องทานยา) เพราะอาจทำให้อาการของลมชักกลับมาและรุนแรงขึ้น
- ควรบอกวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้กับครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน เผื่อเกิดเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้
- พกบัตรระบุว่าเป็นผู้ป่วยลมชัก พร้อมเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน เพื่อให้คนรอบข้างช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องไปไหนมาไหนคนเดียว
ลมชัก โรคทางสมองที่ต้องระวัง อย่าปล่อยไว้ให้เป็นอันตราย
ลมชัก เป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชักในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาการชักเกร็ง, อาการชักกระตุก, หรือ อาการชักแบบเหม่อลอย ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือเกิดซ้ำบ่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ปัจจุบัน ศูนย์สมองและระบบประสาทมีแนวทางการรักษาที่ช่วยควบคุมอาการของลมชักได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยากันชัก การผ่าตัด หรือการรักษาทางเลือกอื่น ๆ เช่น การปรับพฤติกรรมและการควบคุมอาหาร การดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและลดโอกาสในการเกิดลมชักได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับลมชัก
1. ลมชักมักเกิดตอนไหน?
ลมชักเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่บางคนอาจมีชักบ่อยในช่วง นอนหลับ, หลังตื่นนอน, ขณะเครียด, อดนอน, หรือเมื่อได้รับแสงกะพริบ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน
2. ลมชักสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
ผู้ป่วยบางคนสามารถควบคุมลมชักได้ด้วยยาและการรักษาที่เหมาะสม อาจหยุดยากันชักเเละเฝ้าระวังเเทนหลังจากที่เเพทย์ประเมินเเล้ว แต่บางรายอาจต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต
3. ผู้ป่วยลมชักสามารถขับรถได้หรือไม่?
ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศและการควบคุมอาการ หากลมชักไม่เกิดขึ้นเป็นเวลานานตามที่แพทย์กำหนด อาจได้รับอนุญาตให้ขับรถได้
4. หากพบคนชักต่อหน้า ควรทำอย่างไร?
หากพบเห็นคนที่กำลังมีอาการชัก ห้ามพยายามง้างปากหรือใส่สิ่งของเข้าไปในปาก ต้องจับให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก จากนั้นเคลียร์สิ่งของอันตรายรอบตัวเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และจับเวลาเกิดอาการชัก หากชักนานเกิน 5 นาที ควรรีบโทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด
References
Epilepsy. (2022, March 11). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17636-epilepsy
Mayo Clinic Staff. (2023, October 14). Epilepsy. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/epilepsy/symptoms-causes/syc-20350093
Overview Epilepsy. (2022, March 11). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/epilepsy/
What Is Epilepsy?. (2019, October 1). Epilepsy Foundation. https://www.epilepsy.com/what-is-epilepsy