รู้สึกปวดหลังอย่างรุนแรงจนแทบขาดใจ ปัสสาวะแสบขัดจนไม่อยากเข้าห้องน้ำ หรือปัสสาวะเป็นเลือดจนน่าตกใจ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “นิ่วในไต” ภัยร้ายที่คุกคามสุขภาพของคุณโดยไม่รู้ตัว
นิ่วในไตเป็นการตกตะกอนของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จับตัวกันเป็นก้อนแข็งขนาดทั้งเล็กและใหญ่ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไป หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นนิ่วในไต ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาหรือรับยาโดยทันที
Key Takeaways
- นิ่วในไตเป็นก้อนแข็งที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุ
- นิ่วในไตเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย เเต่พบมากที่สุดในผู้ชายอายุมาก
- สัญญาณของโรคนิ่วในไตที่มักพบคือ ปัสสาวะเป็นเลือด อาการปวดหลัง สีข้างหรือช่องท้องส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่ง อาจร่วมกับอาการไข้ หนาวสั่นได้ด้วย หากนิ่วนั้นส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- การรักษานิ่วในไตสามารถทำได้ทั้งการติดตามอาการ ใช้ยา เครื่องมือทางการเเพทย์ต่าง ๆ และผ่าตัด
- โรงพยาบาลพระรามเก้า มีเทคโนโลยี PCNL ที่ช่วยกำจัดนิ่วในไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทียบเท่ากับการผ่าตัดใหญ่
สารบัญบทความ
- นิ่วในไตคืออะไร?
- นิ่วในไตเกิดจากอะไร?
- โรคนิ่วในไตมีอาการเป็นอย่างไร?
- การวินิจฉัยโรคนิ่วในไต
- นิ่วในไตมีขั้นตอนการรักษาอย่างไร?
- อย่าทนปวด! นิ่วในไตรักษาได้ที่โรงพยาบาลพระราม 9
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับนิ่วในไต
นิ่วในไตคืออะไร?

นิ่วในไตเป็นก้อนผลึกแข็งที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุ มีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่เม็ดทรายจนถึงขนาดใหญ่มากที่สุด 13 เซนติเมตร ซึ่งนิ่วไตเกิดจากสารในปัสสาวะที่มีความเข้มข้นสูงรวมตัวกันและตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วในไต เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต กรดยูริก หรือซิสเตอีน นอกจากนี้ นิ่วในไตยังเสี่ยงทำให้เกิดภาวะกรวยไตอักเสบ ไตบวมหากรุนแรงมาก ๆ อาจทำให้เป็นโรคไตเรื้อรัง และติดเชื้อจนเกิดอาการไตวายได้
นิ่วในไตเกิดจากอะไร?

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น นิ่วในไตเกิดจากการตกผลึกของสารต่าง ๆ ในปัสสาวะ เมื่อสารเหล่านี้มีความเข้มข้นสูงเกินไป ก็จะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในไตมีหลายปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
- พันธุกรรม : คนที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นนิ่วในไต มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 2.5 เท่า
- เพศและอายุ : ผู้ชายเสี่ยงเป็นนิ่วในไตมากกว่าผู้หญิง อายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงเป็นโรคไตมากขึ้น
- พฤติกรรม :
- ดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะเข้มข้น เกิดนิ่วได้ง่าย
- กลั้นปัสสาวะนาน ๆ และขยับร่างกายน้อย ก็เสี่ยงเป็นนิ่ว
- อาหาร : กินอาหารบางอย่างมากไป เช่น ของเค็ม อาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน
- โรคประจำตัว : โรคบางอย่างทำให้เสี่ยงเป็นนิ่วในไต เช่น
- ผู้ป่วยโรคไตบางชนิด เช่น โรคไตที่มีการทำงานของท่อไตผิดปกติ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไตสูงขึ้น
- โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูงและ โรคเบาหวาน
- ยา : ยาบางชนิด เช่น วิตามินซี ยาแคลเซียม ยาขับปัสสาวะบางชนิด ยากันชักบางขนิด อาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้
โรคนิ่วในไตมีอาการเป็นอย่างไร?
อาการนิ่วในไตที่พบได้บ่อยคือปัสสาวะเป็นเลือด มีความรู้สึกปวดอย่างรุนแรง มักเริ่มที่บริเวณเอวหรือหลัง แล้วร้าวลงไปที่ท้องน้อย ขาหนีบหรือต้นขา อาการปวดมักจะมาเป็นพัก ๆ และอาจรุนแรงจนทนไม่ได้ รวมไปถึงอาจมีอาการของโรคปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย หรืออาจะสังเกตเห็นก้อนกรวดในปัสสาวะ นอกจากอาการปวดและปัสสาวะผิดปกติแล้ว อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือหากมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจะทำให้มีไข้ หนาวสั่น ด้วยเช่นกัน
การวินิจฉัยโรคนิ่วในไต

สำหรับผู้ที่พบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการปวดท้องรุนแรงเป็นระยะเวลานานไม่หาย คล้ายกับอาการของคนเป็นนิ่วในไต แนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการที่ถูกต้อง โดยทั่วไปวิธีการวินิจฉัยโรคนิ่วในไต มีดังนี้
- แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติครอบครัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต
- แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูอาการผิดปกติ เช่น เจ็บที่บริเวณหลังหรือสีข้าง
- ตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือผลึกของสารต่าง ๆ ในปัสสาวะหรือไม่
- ตรวจเลือดเพื่อดูระดับของสารต่างๆ ในเลือด เช่น แคลเซียม กรดยูริก และครีอะตินิน ซึ่งอาจบ่งบอกถึงภาวะนิ่วในไต หรือความผิดปกติอื่นๆ
- อาจมีการเอกซเรย์ CT scan หรืออัลตราซาวนด์เพื่อตรวจนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
นิ่วในไตมีขั้นตอนการรักษาอย่างไร?
สำหรับวิธีการการรักษาโรคนิ่วในไตมีวิธีการรักษา ดังนี้
การรักษาทางยา
- ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide เพื่อลดการขับแคลเซียมในปัสสาวะช่วยลดการเกิดนิ่วในไต (ทั้งนี้ ประเภทของยาขึ้นอยู่กับประเภทของนิ่วที่ตรวจพบ)
- ยาทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง ในผู้ป่วยที่มีนิ่วกรดยูริค
- ยายับยั้งตะกอนแคลเซียม เช่นโปตัสเซี่ยมซิเตรท
- สมุนไพรเช่น หญ้าหนวดแมว
- ยาบรรเทาอาการปวด
การรักษาทางการผ่าตัดหรือวิธีอื่น
- วิธีสลายนิ่วในไตด้วยเครื่อง PCNL
- การส่องกล้องผ่านผิวหนังหรือท่อปัสสาวะ แล้วดึงนิ่วหรือยิงให้แตกออกมา (URS)
- วิธีการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) คือการใช้เครื่องยิงคลื่นเข้าประทะกับก้อนนิ่ว ทำให้ก้อนเเตกออก มีขนาดเล็กลง ซึ่งทำให้สามารถขับออกมาเองได้
- การทำผ่าตัด ปัจจุบันใช้เฉพาะในคนไข้ที่มีนิ่วขนาดใหญ่หรือมีข้อห้ามที่ไม่สามารถใช้วิธีข้างต้นได้
การรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะมักจะต้องใช้ยาดังกล่าวไปด้านบน ขึ้นอยู่กับประเภทของนิ่วจากการตรวจโดยวิธีต่าง ๆ เเละอาการของผู้ป่วย โดยอาจพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเเพทย์ร่วมรักษา ซึ่งสามารถจำแนกตามขนาดของก้อนนิ่วโดยมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้
- นิ่วที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 ซ.ม. ไม่มีอาการ และไม่มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เบื้องต้นแพทย์จะติดตามดูอาการต่อไป
- นิ่วขนาดเล็กกว่า 0.5 ซ.ม. แต่มีอาการหรือมีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และนิ่วขนาดใหญ่กว่า 0.5 ซ.ม. เเต่ไม่ถึง 1 ซ.ม. เเพทย์มักจะพิจารณารักษาโดยการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) ก่อน
- นิ่วขนาด 1-2 ซ.ม. แพทย์จะเลือกรักษาด้วยวิธีการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) หรือการส่องกล้อง (URS) และหากสองวิธีแรกไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีการสลายนิ่วในไตด้วยเครื่อง PCNL ต่อไป
- นิ่วขนาด 2 ซ.ม. ขึ้นไป หรือ มีนิ่วเขากวาง (Staghorn stone) มักรักษาโดยการสลายนิ่วในไตด้วยเครื่อง PCNL
อนึ่ง หลังจากเริ่มการรักษาเเล้ว จะต้องมีการติดตามผลการรักษาเเละอาการโดยเเพทย์ต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดต่อไป
อย่าทนปวด! นิ่วในไตรักษาได้ที่โรงพยาบาลพระราม 9
นิ่วในไต คือ ก้อนแข็งที่เกิดในไตจากการตกตะกอนของสารในปัสสาวะ มีขนาดตั้งแต่เล็กจิ๋วเท่าเม็ดทราย ไปจนถึงขนาดใหญ่มากที่สุด 13 เซนติเมตร ผู้ที่มีนิ่วในไตมักมีอาการ ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดสีข้างหรือหลังเป็นพัก ๆ เเต่ปวดมากจนทนไม่ไหว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นนิ่วในไต ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการต่อวัน และไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
โดยที่สถาบันโรคไตของโรคพยาบาลพระรามเก้า เรามีวิธีการรักษานิ่วในไตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง การเจาะรูส่องกล้องผ่านทางผิวหนัง (percutaneous nephrolithotomy; PCNL) เป็นการผ่าตัดนิ่วแบบใหม่ที่ให้ผลการรักษาดีในการกำจัดนิ่วในไตขนาดใหญ่ เป็นการรักษานิ่วที่มีขนาดแผลเล็กกว่า เจ็บตัวน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็ว สูญเสียเนื้อไตน้อยกว่า วิธีการรักษานี้จึงนับเป็นทางเลือกการรักษานิ่วขนาดใหญ่ในไตที่ดี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับนิ่วในไต
1. คนไข้ที่เป็นนิ่วในไตห้ามกินอะไร?
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในไต ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง สารออกซาเลตสูง สารพิวรีน เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง ผัดโขม ราสเบอร์รี กระเจี๊ยบ มะเฟือง โกโก้ เป็นต้น
2. ป้องกันนิ่วในไตได้อย่างไรบ้าง?
การป้องกันนิ่วในไตสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการต่อวัน ไม่กลั้นปัสสาวะบ่อย และลุกเดินระหว่างบ่อย ๆ ลดอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการก่อนิ่วในใต
References
How common are kidney stones?. (n.d.). National Kidney Foundation. https://www.kidney.org/kidney-topics/kidney-stones
Kidney stones. (n.d.). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/kidney-stones/