กลับมาอีกแล้วจ้า สำหรับฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และคงไม่มีใครไม่รู้จักฝุ่นละอองขนาดจิ๋วนี้ แต่เพื่อให้เราเข้าใจ และรู้ซึ่งถึงอันตราย เราลองมาทบทวนกันใหม่อีกสักครั้ง
ฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดละเอียดมาก ขนาดเทียบเท่ากับแบคทีเรีย ซึ่งฝุ่นละอองระดับนี้ระบบป้องกันในร่างกายไม่สามารถดักจับได้ดีนัก สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน จะสะสมในปอด ทําให้สมรรถภาพการทํางานของปอดลดลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบเหนื่อยได้ หากเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรังในระบบการหายใจ เช่น โรคหืด ถุงลมโป่งพอง หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ก็อาจจะเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ หากสูดหายใจเข้าไปต่อเนื่องในระยะยาวจะส่งผลให้การทำงานของปอดแย่ลง จนอาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย
นอกจากนี้ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว บางส่วนของฝุ่นชนิดนี้อาจผ่านผนังถุงลมและเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือด จึงสามารถกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ และอาจทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากไหนบ้าง
– โรงผลิตไฟฟ้า
– ควันท่อไอเสียจากรถยนต์
– การเผาไม้ทำลายป่า เผาขยะ
– การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์
– ฝุ่นจากการก่อสร้าง
คนกลุ่มใดที่ควรหลีกเลี่ยง PM 2.5 อย่างเคร่งครัด?
กลุ่มผู้มีความเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง PM 2.5 อย่างเคร่งครัดได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวในระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก โดยเด็กจะมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ มีระบบทางเดินหายใจที่ยังพัฒนาและเติบโตไม่เต็มที่ อีกทั้งยังมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ได้รับมลพิษ PM 2.5 ในอัตราส่วนต่อน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
วิธีป้องกันฝุ่นละอองในอากาศ
เราจะป้องกันตนเองในช่วงที่ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อย่างไร?
ในบริเวณที่มีค่า PM 2.5 ในอากาศสูงเกินค่าเฉลี่ยปกติใน 24 ชั่วโมงของกรมควบคุมมลพิษ คือ มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีคุณภาพอากาศจะอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หากค่ามากกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ
1.ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจระบบทางเดินหายใจ หรือระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน
2. ควรอยู่ในอาคารที่ปิดประตูหน้าต่างและมีเครื่องกรองอากาศอยู่
3. สวมหน้ากากที่สามารถดักจับอนุภาค PM 2.5 ได้ โดยต้องสวมให้ถูกต้องอย่างกระชับกับรูปหน้าค่ะ