การผ่าตัดมดลูกเป็นกระบวนการที่จำเป็นในบางครั้งเพื่อที่จะแก้ปัญหาปัญหาสุขภาพที่เกิดในมดลูก เช่น เนื้องอก อาการเจ็บปวดเรื้อรัง หรือปัญหาภาวะมดลูกหย่อน ซึ่งการผ่าตัดมดลูกก็อาจจะเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ถึงอย่างนั้นการตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และควรทำความเข้าใจขั้นตอนและการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเสมอ บทความนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักกับการผ่าตัดมดลูก เพื่อเตรียมตัวพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอย่างดี
Key Takeaways
- การผ่าตัดมดลูกจะทำให้ไม่มีประจำเดือนและไม่สามารถมีลูกได้
- การผ่าตัดมดลูกไม่จำเป็นต้องนำรังไข่ออก หากรังไข่ยังคงอยู่หลังการผ่าตัด ฮอร์โมนเพศหญิงจะยังคงทำงานตามปกติ แต่บางกรณีหากต้องตัดรังไข่ออก ก็อาจต้องใช้ฮอร์โมนเสริมเพื่อบรรเทาอาการขาดฮอร์โมนแทน
- การผ่าตัดจะทำได้ 3 วิธีหลัก ได้แก่ ผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ผ่าตัดทางช่องคลอด และผ่าตัดผ่านกล้อง
- การผ่าตัดมดลูกมักจะเป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากที่วิธีการรักษาอื่น ๆ ไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้
สารบัญบทความ
- การผ่าตัดมดลูกคืออะไร?
- ทำไมต้องผ่าตัดมดลูก เมื่อไหร่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้?
- ผ่าตัดมดลูกมีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
- ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมดลูกมีอะไรบ้าง?
- เตรียมตัวยังไงก่อนผ่าตัดมดลูก? เรื่องสำคัญที่ไม่ควรพลาด!
- ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูกอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง?
- ผ่าตัดมดลูก ทางเลือกที่จำเป็นในการรักษาเพื่อให้สุขภาพดี
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับผ่าตัดมดลูก
การผ่าตัดมดลูกคืออะไร?
การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) โดยปกติจะเป็นการตัดมดลูกแต่ไม่ตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกไปด้วยทำให้ร่างกายยังมีฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ แต่หากมีความจำเป็นอื่น ๆ ก็อาจจะต้องผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไปพร้อมกันก็ได้
หลังการผ่าตัดผู้ป่วยก็จะไม่มีประจำเดือนอีกต่อไปและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หากรังไข่ยังคงอยู่และยังทำงานได้ตามปกติร่างกายก็จะยังผลิตฮอร์โมนเพศตามธรรมชาติต่อไป แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องนำรังไข่ออกด้วยร่างกายก็จะหยุดผลิตฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนที่ลดลงได้
การผ่าตัดมดลูกอาจทำเมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids) หรือมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายว่าควรรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่
ทำไมต้องผ่าตัดมดลูก เมื่อไหร่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้?

การผ่าตัดมดลูกอาจจำเป็นในกรณีที่เกิดภาวะหรือโรคที่มดลูกทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น
- เลือดออกมากผิดปกติ : เมื่อมีอาการเลือดออกมากผิดปกติจากโพรงมดลูกที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยาก็อาจจะต้องใช้การผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหา
- เนื้องอกในมดลูก : ก้อนเนื้องอกมดลูกที่มีขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือมีผลต่อสุขภาพจนจำเป็นต้องผ่าตัดออกได้
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) : เมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตไปยังส่วนที่ไม่ควรมี ก็จะทำให้เกิดความเจ็บปวดรุนแรง รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้และเป็นอันตรายอย่างมาก
- พังผืดในมดลูก : การเกิดพังผืดที่ทำให้มดลูกผิดรูปหรือมีปัญหาในการทำงานของมดลูก
- มดลูกหย่อน : เมื่อมดลูกหย่อนหรือเคลื่อนตัวไปผิดที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์
- มะเร็ง : ในกรณีที่พบมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งมดลูกก็อาจจะใช้วิธีผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหาได้
- ผ่าตัดมดลูกฉุกเฉินหลังคลอด : หากการคลอดยาวนานมากกว่า 10 ชั่วโมง อาจทำให้มดลูกไม่มีแรงที่จะหดตัวกลับได้ตามปกติส่งผลให้เลือดออกมากและอาจเสียชีวิตได้ จึงอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิตไว้
การผ่าตัดมักเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อเกิดภาวะที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ หรือเมื่อโรคที่เกี่ยวข้องกับมดลูกมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิงในระยะยาว
ผ่าตัดมดลูกมีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
การผ่าตัดมดลูกมีหลายวิธีที่แพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละเคส โดยวิธีต่าง ๆ มีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ดังนี้
การผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง (Abdominal Hysterectomy)
การผ่าตัดแบบนี้ใช้วิธีเปิดท้องเพื่อเอามดลูกออกซึ่งสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกประเภท แต่เนื่องจากต้องเปิดแผลขนาดใหญ่ ทำให้มีความเจ็บปวดมากกว่า มีระยะเวลาพักฟื้นที่นานกว่า เสียเลือดในระหว่างการผ่าตัดอาจมากกว่า และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากแผลสูงกว่า จึงมักจะใช้เมื่อมีภาวะที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบอื่นได้
การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy)
วิธีนี้มักจะแนะนำให้ทำเป็นลำดับแรก เนื่องจากไม่ต้องเปิดแผลหน้าท้อง มีระดับความเจ็บปวดต่ำและฟื้นตัวได้เร็ว เหมาะสำหรับผู้ที่มีมดลูกหย่อนและปัญหาที่ขนาดไม่ใหญ่มาก แต่การผ่าตัดทางช่องคลอดอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่หรือพังผืดในอุ้งเชิงกราน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาที่ปีกมดลูก เพราะการผ่าตัดในกรณีเหล่านี้อาจมีความยากลำบากและเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic Hysterectomy)
การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องหรือวิธีแบบ MIS (Minimally Invasive Surgery) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดส่องกล้องซึ่งได้รับความนิยมมาก โดยแพทย์จะเจาะรูเล็ก ๆ ประมาณ 3-4 แผล เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัด วิธีนี้จะเจ็บปวดน้อย เสียเลือดน้อย และฟื้นตัวได้เร็ว ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว
ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมดลูกมีอะไรบ้าง?

หลังผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกร่างกายก็จะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้ดังเดิม ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยผู้ป่วยอาจจะมีอาการดังนี้
- อาการอักเสบ : อาการอักเสบหลังผ่าตัดมดลูกอาจเกิดขึ้นได้จากการตอบสนองของร่างกายต่อแผลผ่าตัด หรือจากภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดมดลูก หรือการติดเชื้อภายในช่องท้องในกรณีที่มีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง อาการอักเสบจะทำให้เกิดอาการบวม ร้อน และอาจรู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผลผ่าตัดหรือบริเวณที่มีการติดเชื้อ การติดเชื้ออาจทำให้มีไข้ และต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
- ท้องบวม : ท้องบวมเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดมดลูก โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัด โดยอาจเกิดจากการสะสมของแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งภาวะท้องบวมอาจทำให้รู้สึกไม่สบายและอึดอัด การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ หรือการเดินเบา ๆ อาจช่วยลดอาการท้องบวมได้
- หมดประจำเดือนฉับพลัน : หากมีการตัดรังไข่ออกไป ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการมีประจำเดือนได้
- อาการวัยทอง : หากมีการตัดรังไข่ออกไป ก็อาจทำให้เกิดการขาดฮอร์โมนเพศหญิงจนนำไปสู่อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน และอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัยทองได้
- อารมณ์ทางเพศลดลง : ฮอร์โมนเพศหญิงมีบทบาทในการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ เมื่อขาดฮอร์โมนนี้ อารมณ์ทางเพศอาจลดลง
- ความเสี่ยงต่อกระดูกพรุนและโรคหัวใจ : การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจทำให้กระดูกบางและเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
- ปัญหาการควบคุมปัสสาวะ : การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาการกลั้นปัสสาวะ
- อาการซึมเศร้าหรือเสียใจ : บางคนอาจรู้สึกเศร้าหรือเสียใจเนื่องจากการไม่สามารถมีบุตรได้หลังการผ่าตัด
เตรียมตัวยังไงก่อนผ่าตัดมดลูก? เรื่องสำคัญที่ไม่ควรพลาด!
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดมดลูกเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย และเพิ่มความสบายใจในกระบวนการรักษาแก่ผู้ป่วย โดยสิ่งที่ควรทำก่อนเข้ารับผ่าตัดมดลูกเสมอก็จะมีดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ : ก่อนตัดสินใจผ่าตัดควรพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกการรักษาที่มีอยู่ และข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก รวมถึงแจ้งแพทย์ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เผชิญอยู่ เพราะการผ่าตัดที่เหมาะสมสำหรับคนหนึ่งอาจไม่เหมาะกับอีกคนหนึ่ง เนื่องจากเงื่อนไขทางสุขภาพและปัจจัยต่าง ๆ ที่แตกต่างกันได้
- สอบถามเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น : ควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ การบวม การมีแผลเป็น หรือปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัว เพื่อที่จะได้รู้และเตรียมตัวรับมืออย่างเท่าทัน
- ขอคำแนะนำจากแพทย์คนอื่น (Second Opinion) : หากยังไม่มั่นใจในคำแนะนำจากแพทย์คนแรก การขอความเห็นที่สองจากแพทย์คนอื่นก็นับว่าเป็นเรื่องปกติ เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบมากขึ้น
ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูกอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง?
หลังจากผ่าตัดมดลูกร่างกายที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจะฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและแข็งแรงได้รวดเร็วมากกว่า และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยวิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดก็จะมีดังนี้
- ค่อย ๆ กลับไปใช้ชีวิต : หลังผ่าตัดควรกลับไปทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป บางคนอาจสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ในบางรายร่างกายอาจต้องการเวลาพักฟื้นมากกว่านั้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้แรงมากโดยเฉพาะในช่วงแรก อย่าฝืนร่างกายของตัวเอง และหากจำเป็นต้องทำอะไร ก็ควรทำอย่างช้า ๆ และไม่หักโหม
- ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ : เริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด
- ปรับพฤติกรรมนั่ง : หลีกเลี่ยงการนั่งในท่าเดิมนาน ๆ เพื่อป้องกันการเกิดความเมื่อยล้าหรือปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต
- พักผ่อนให้เพียงพอ : ควรให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการฟื้นตัว เพื่อเร่งการสมานของแผลในร่างกาย
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนแผล : เช่น การยกของหนัก การเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง การทำกิจกรรมที่รุนแรง
- ติดตามอาการและพบแพทย์ตามนัด : หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดแผลอย่างรุนแรง มีเลือดออก หรือแผลบวมแดง ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- เลี่ยงอาหารบางชนิด : หลีกเลี่ยงอาหารเค็มหรือแปรรูปที่มีโซเดียมสูง, อาหารไขมันสูง, อาหารรสเผ็ดจัด, อาหารที่เสี่ยงท้องผูก, แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจชะลอการฟื้นตัวหรือเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีไฟเบอร์สูง และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อการฟื้นตัวที่ดีที่สุด
ผ่าตัดมดลูก ทางเลือกที่จำเป็นในการรักษาเพื่อให้สุขภาพดี
การผ่าตัดมดลูกเป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่มักจะเก็บไว้ใช้เมื่อไม่สามารถแก้ด้วยวิธีอื่นได้ เนื่องจากความถาวรและไม่สามารถแก้ไขได้ของการนำมดลูกออก อย่างไรก็ตามในบางครั้งการผ่าตัดก็เป็นตัวเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการผ่าตัดมดลูกก็จะช่วยให้การรักษาเป็นไปได้ง่ายและราบรื่นมากขึ้นในผู้ป่วย
ซึ่งโรงพยาบาลพระราม 9 ก็จะมีศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก (MIS) ซึ่งมีเครื่องมือในการรักษาที่เพรียบพร้อม มุ่งมั่นให้ผู้ป่วยทุกคนเจ็บตัวน้อยที่สุด พักฟื้นไว พร้อมกับแพทย์และทีมงานที่พร้อมจะให้คำแนะนำในทุกด้าน ทุกความสงสัยของกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ โดยสามารถติดต่อตามช่องทางด้านล่างนี้ได้เลย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับผ่าตัดมดลูก
1. หลังผ่าตัดมดลูก เมื่อไหร่ถึงมีเพศสัมพันธ์ได้?
หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรรอให้แผลผ่าตัดหายดีและร่างกายฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมักจะเป็นระยะเวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
2. หลังผ่าตัดมดลูก ต้องรับประทานฮอร์โมนหรือไม่?
การรับประทานฮอร์โมนหลังผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยได้รับการตัดรังไข่ออกด้วยหรือไม่ หากการผ่าตัดยังคงรักษารังไข่ไว้ ฮอร์โมนเพศหญิงก็จะยังคงผลิตตามปกติจึงไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเสริม แต่หากมีการตัดรังไข่ออกไปด้วย ผู้ป่วยอาจต้องรับฮอร์โมนทดแทนเพื่อช่วยบรรเทาอาการวัยทองที่เกิดขึ้นจากการขาดฮอร์โมน
References
Hysterectomy. (2022, October 11). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/hysterectomy/
Hysterectomy. (2023, April). Healthdirect. https://www.healthdirect.gov.au/hysterectomy
Hysterectomy. (2024, May 31). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/procedures/hysterectomy