Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Praram 9 Star Doctors
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Praram 9 Star Doctors
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

เช็กอาการและเข้าใจโรคไทรอยด์แต่ละประเภท

นพ.ธัญวัจน์ ศาสนเกียรติกุล

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 17 พฤษภาคม 2023
เข้าใจโรคไทรอยด์

ความผิดปกติของต่อม “ไทรอยด์”  ทำให้เกิดโรคของต่อมไทรอยด์ได้หลายโรค เช่น  ไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะพร่องฮอร์โมน มะเร็งไทรอยด์ หรือโรคไทรอยด์อักเสบ ซึ่งมักสังเกตเห็นเป็นก้อนที่ต่อมไทรอยด์ 

เนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของต่อมไทรอยด์มีหลายประเภท ทำให้มีอาการการวินิจฉัยและการรักษาที่ต่างกันออกไป ในบางโรคของต่อมไทรอยด์อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังนั้นการทราบถึงความผิดปกติที่เกิดกับต่อมไทรอยด์เบื้องต้น จะช่วยทำให้เราสามารถสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติที่อาจเป็นโรคของต่อมไทรอยด์หรือไม่ เพื่อที่เราจะได้เข้ารับการตรวจ และหากตรวจพบว่าเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ ก็จะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

สารบัญ

  • ไทรอยด์คืออะไร?
  • โรคไทรอยด์คืออะไร?
  • โรคไทรอยด์ที่พบบ่อย
  • อาการของโรคไทรอยด์
  • สาเหตุโรคไทรอยด์
  • โรคไทรอยด์วินิจฉัยอย่างไร?
  • การรักษาโรคไทรอยด์
  • การป้องกันโรคไทรอยด์
  • สรุป

ไทรอยด์คืออะไร?

ต่อมไทรอยด์ (thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกายมีรูปร่างคล้ายปีกผีเสื้อ อยู่บริเวณกึ่งกลางของลำคอ ด้านหน้าหลอดลมต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย ต่อมไทรอยด์มี 2 ข้าง น้ำหนักประมาณ 15 – 25 กรัม 

ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์และหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อควบคุมการเจริญเติบโต การเผาผลาญและใช้พลังงานของร่างกาย (เมตาบอลิซึมของร่างกาย) ต่อมไทรอยด์จะหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ thyroxine (T4) และ triiodothyronine (T3) ซึ่งการผลิตฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดจะใช้ ไอโอดีนเป็นสารตั้งตั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสารไอโอดีนจึงมีความสำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์  

ทั้งฮอร์โมน T3 และ T4 ที่อยู่ในกระแสเลือดจะไปควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ควบคุมการใช้พลังงาน ควบคุมการเผาผลาญ ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ควบคุมอุณภูมิร่างกาย และยังมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ฮอร์โมนไทรอยด์ยังมีผลต่อพัฒนาการด้านสมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ การเจริญเติบโตของกระดูก ดังนั้นหากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลต่อหลายระบบในร่างกายตามมาได้

> กลับสู่สารบัญ

โรคไทรอยด์คืออะไร?

โรคไทรอยด์ คือ โรคที่มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจมีหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนก็ได้ ส่วนใหญ่มักจะพบว่าต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจสร้างมากหรือน้อยเกินไป ถ้าต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ร่างกายใช้พลังงานมาก ผู้ป่วยจะอาการเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน” ในทางกลับกัน ถ้าต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไป ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย น้ำหนักขึ้น ร่างกายใช้พลังงานน้อย เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะพร่องไทรอยด์” โรคไทรอยด์เป็นโรคที่มีแนวโน้มพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่อย่างไรก็ตามโรคไทรอยด์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้

> กลับสู่สารบัญ

โรคไทรอยด์ที่พบบ่อย

  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (overactive thyroid) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ ทำให้ฮอร์โมนเกิน
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyroidism) เป็นภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ ภาวะนี้จะตรงข้ามกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  • ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็ง (thyroid nodules) เป็นโรคที่มีก้อนของต่อมไทรอยด์ ส่วนใหญ่จะมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดปกติ เพราะส่วนใหญ่แล้วเนื้องอกนี้มักไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ แต่อาจพบเนื้องอกที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ทำให้มีฮอร์โมนไทรอยด์มากผิดปกติ แต่พบได้น้อย
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ (thyroid cancer) พบได้หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือชนิด papillary thyroid cancer
  • ภาวะไทรอยด์อักเสบ (thyroiditis) เป็นโรคที่มีการอักเสบของต่อมไทรอยด์ ที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยจะเป็นแบบเรื้อรัง (chronic thyroiditis) หรือเรียกว่า Hashimoto disease ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำให้มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และชนิดแบบกึ่งเฉียบพลัน (thyroiditis subacute) ที่มักเกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ 
  • คอพอก (goiter) คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นกว่าปกติซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ

> กลับสู่สารบัญ

อาการของโรคไทรอยด์

  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (overactive thyroid) อาการที่พบได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน กระสับกระส่าย เหงื่อออกง่าย มีปัญหาการนอนหลับ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักลด ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีปัญหาเกี่ยวกับตา ระคายเคืองตา ไวต่อแสง มองเห็นภาพไม่ชัด เนื้อเยื่อรอบดวงตาบวม ตาโปน โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้คือโรคเกรฟส์ (Graves’ disease) เป็นโรคที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต่อมไทรอยด์กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากผิดปกติ เป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปชนิดหนึ่ง 
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ อาการแสดงมักไม่ชัดเจน โดยผู้ป่วยมักมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป  ในผู้ป่วยบางรายจะไม่มีอาการผิดปกติที่ชัดเจนในช่วงแรก อาจมีเพียงแค่อาการเหนื่อยง่าย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และพบอาการอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง เช่น มีความรู้สึกไวต่ออากาศเย็น ผมแห้ง ผมบาง ผิวแห้ง เสียงแหบ หน้าบวม มีปัญหาเรื่องความจำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อย ประจำเดือนมาไม่ปกติและไม่สม่ำเสมอ มีภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตามอาการจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็ง ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่จะเห็นเป็นก้อนที่คอ หากก้อนมีขนาดใหญ่หรือมีหลายก้อนอาจทำให้กลืนอาหารลำบาก แต่ในผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกชนิดที่มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ด้วย ก็จะมีอาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย 
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ มีตั้งแต่ก้อนขนาดเล็ก ๆ ไปจนถึงก้อนขนาดใหญ่ หากก้อนมะเร็งใหญ่อาจสังเกตเห็นได้จากภายนอก โดยจะสังเกตเห็นว่าคอโต มีความรู้สึกแน่น ๆ ที่คอ อาจมีอาการหายใจลำบากกลืนลำบาก หรือมีเสียงแหบ
  • ภาวะไทรอยด์อักเสบ โดยอาการของไทรอยด์อักเสบชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่
    • แบบเรื้อรัง ที่เรียกว่า Hashimoto disease ที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการในช่วงแรก ไม่มีอาการเจ็บ แต่ต่อมไทรอยด์จะค่อย ๆ  ขยายใหญ่ขึ้น คอด้านหน้าดูบวม ในระยะต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแสดงให้เห็น เช่น เหนื่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นช้า ปวดกล้ามเนื้อ ท้องผูก ตาและใบหน้าบวม ผิวแห้ง ผิวบาง ผมร่วง ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือมามาก ตั้งครรภ์ยาก มีปัญหาด้านความจำ สมาธิ มีภาวะซึมเศร้า
    • แบบกึ่งเฉียบพลัน มักมีอาการไข้ ต่อมไทรอยด์โตขึ้น และคลำแล้วมักรู้สึกเจ็บ
  • คอพอก เนื่องจากโรคคอพอกเป็นภาวะที่มีการโตขึ้นของต่อมไทรอยด์จากสาเหตุใด ๆ ก็ได้ ดังนั้นอาการของโรคคอพอกจะมีอาการแสดงหลายแบบ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความผิดปกติที่พบ เช่น หากเป็นโรคคอพอกที่เกิดจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ก็จะแสดงอาการต่าง ๆ ของภาวะพร่อมฮอร์โมนไทรอยด์ หรือหากเป็นคอพอกที่เกิดจากการมีฮอร์โมนไทรอยด์เกิน ก็จะแสดงอาการของไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น หรือหากต่อมไทรอยด์โตขึ้นมาก ๆ ก็อาจพบอาการอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยอาจรู้สึกแน่นบริเวณคอ มีเสียงแหบ ไอ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดัง หรือกลืนลำบาก เป็นต้น ดังนั้นหากสงสัยว่าต่อมไทรอยด์โตขึ้น หรือมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และการรักษาอย่างถูกต้อง

> กลับสู่สารบัญ

สาเหตุโรคไทรอยด์

โรคไทรอยด์บางชนิดอาจมีสาเหตุของโรคร่วมกัน  โดยอาจแบ่งสาเหตุของโรคไทรอยด์ได้ดังนี้

  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (overactive thyroid) ทำให้มีฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายมากผิดปกติ มักมีสาเหตุจาก
    • โรคเกรฟส์ (Graves’ disease) เป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน ที่มีปัจจัยบางอย่างไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันต่อต่อมไทรอยด์ทำให้มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากผิดปกติ เป็นโรคที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรมและปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น ความเครียด การติดเชื้อไวรัส หรือการตั้งครรภ์ หรือหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน
    • มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนที่ผิดปกติของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ ทำให้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินความต้องการของร่างกาย 
    • มีการบริโภคหรือได้รับไอโอดีนมากเกินไป ซึ่งอาจได้รับผ่านการรับประทาน การได้ยา หรือสารทึบรังสีผ่านทางหลอดเลือดดำ ซึ่งสารทึบรังสีเหล่านี้มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากขึ้น และต่อมไทรอยด์ทำงานหนัก
    • มีการอักเสบของต่อมไทรอยด์ ทำให้มีการผลิดฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้น ซึ่งอาจพบภาวะนี้ได้หลังการคลอดบุตร (มักเกิดภายใน 1 ปีหลังคลอด)
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
    • ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากการที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายต่อมไทรอยด์ (Hashimoto’s disease) ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายลดลง 
    • ไทรอยด์อักเสบ โดยการอักเสบของต่อมไทรอยด์บางชนิดทำให้มีระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ลดลง
    • มีภาวะขาดสารไอโอดีน หรือผ่านการรักษาโรคที่ต้องมีการฉายรังสี ต้องผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก หรือมีการทำงานของต่อมใต้สมองผิดปกติ ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ลดลง 
  • ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็ง สาเหตุมักเกิดจากมีการเจริญหรือแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ สามารถพบได้หลายประเภท เช่น ถุงน้ำ (thyroid cysts) ก้อนคอลลอยด์ (colloid nodule) หรือ ก้อนอะดีโนมา (thyroid adenoma) ซึ่งบางประเภทไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนไทรอยด์ แต่บางประเภทอาจทำให้มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มขึ้นจนทำให้มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของมะเร็งไทรอยด์ แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การได้รับรังสีต่าง ๆ  ได้รับไอโอดีนจากอาหารไม่เพียงพอ มียีนที่ผิดปกติ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์หรือมะเร็งต่อมไทรอยด์ ไทรอยด์อักเสบ เป็นต้น
  • ไทรอยด์อักเสบ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดมาจากโรคของระบบภูมิคุ้มกันหรือแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรค Hashimoto disease ที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดการอักเสบและทำให้มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ส่วนไทรอยด์อักเสบประเภทกึ่งเฉียบพลันสาเหตุมักมาจากการติดเชื้อ
  • คอพอก เนื่องจากคอพอกเป็นชื่อเรียกของภาวะมีขนาดของต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้น ซึ่งเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนั้นสาเหตุของโรคคอพอกจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะนั้น ๆ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ภาวะขาดสารไอโอดีน มีก้อนของต่อมไทรอยด์ทั้งชนิดที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง มีการอักเสบของต่อมไทรอยด์ หรือจากการตั้งครรภ์ เป็นต้น

> กลับสู่สารบัญ

โรคไทรอยด์วินิจฉัยอย่างไร?

การตรวจวินิจฉัยโรคไทรอยด์สามารถทำได้โดย 

  • การซักประวัติ และการตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจคลำบริเวณคอเพื่อตรวจดูขนาดของต่อมไทรอยด์
  • การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือด โดยแพทย์อาจส่งตรวจเลือดเพื่อหาระดับของค่าเหล่านี้
    • ระดับฮอร์โมน TSH
    • Triodothyronine (T3)
    • Thyroxine (T4)
    • Free T3 หรือ free triiodothyronine
    • Free T4 หรือ free thyroxine 
    • ไทรอยด์แอนติบอดีหรือ anti-thyroidperoxidase (Anti-TPO) 
    • แคลซิโทนิน (calcitonin) เพื่อวินิจฉัยมะเร็งต่อมไทรอยด์
    • ไทโรโกลบูลิน (Thyroglobulin) เพื่อวินิจฉัยไทรอยด์อักเสบ
  • อัลตราซาวนด์ต่อมไทรอยด์ เพื่อดูขนาด รูปร่างของต่อมไทรอยด์ หรือค้นหาก้อนที่ต่อมไทรอยด์

> กลับสู่สารบัญ

การรักษาโรคไทรอยด์

โรคไทรอยด์สามารถรักษาให้หายได้ โดยระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแนวทางในการรักษาโรคไทรอยด์มีดังนี้

  • ยาต้านไทรอยด์ (antithyroid drugs) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism) ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์
  • การกลืนแร่ไอโอดีน (radioactive iodine therapy) เพื่อทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ให้ไม่ให้สร้างฮอร์โมนมากเกินไป ใช้ในการรักษา hyperthyroidism เช่น Graves’ disease ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็ง (nontoxic nodular goiter)และ มะเร็งต่อมไทรอยด์
  • ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ (กลุ่มต้านเบต้า; beta blocker) เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อลดอาการใจสั่น เหนื่อยง่ายในผู้ป่วยโรคไทรอยด์
  • การผ่าตัดไทรอยด์ ใช้รักษาผู้ป่วยในกลุ่มไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (ทั้งกรณีที่เป็นและไม่เป็นมะเร็ง) ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องทางช่องปาก เป็นวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ 
  • ยาฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid hormone treatment) ใช้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (hypothyroid) หรือในกลุ่มที่มีการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออก หรือผู้ป่วยที่ต้องมีการกดการเจริญเติบโตของเซลล์ในต่อมไทรอยด์

การใช้คลื่นไมโครเวฟทำลายก้อนไทรอยด์ (microwave ablation) เป็นวิธีใหม่ล่าสุด สามารถใช้ทำลายเนื้องอกไทรอยด์ (thyroid nodule) โดยไม่ต้องผ่าตัดรักษา ฟื้นตัวไว เจ็บน้อย ไม่ต้องทานยา

> กลับสู่สารบัญ

การป้องกันโรคไทรอยด์

แม้ว่าการป้องกันโรคไทรอยด์ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในปัจจุบัน เนื่องจากในบางโรคมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือการทำงานที่ผิดปกติของภูมิคุ้มกัน แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ คือ 

  • ป้องกันภาวะการขาดสารไอโอดีน เช่น บริโภคเกลือที่เสริมไอโอดีนหรือรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล เพื่อป้องกันภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ 
  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้เป็นปกติ เช่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปบางชนิด 
  • รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ เช่น เนื้อสัตว์ที่มีสีแดงตามธรรมชาติ อาหารทะเล ธัญพืช ซีเรียล เป็นต้น เพราะหากขาดธาตุเหล็กแล้วอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ได้

> กลับสู่สารบัญ

สรุป

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลต่อระบบภายในร่างกายได้ โรคไทรอยด์มีอาการแสดงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของความผิดปกติ การรักษาโรคไทรอยด์ควรทำการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไทรอยด์ เพื่อผลการรักษาที่ดี โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาโดยขึ้นกับความรุนแรงและอาการของผู้ป่วย โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ หรือสังเกตขนาดที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ หรือการตรวจสุขภาพประจำปีก็จะช่วยให้ทราบความผิดปกติของไทรอยด์ได้ตั้งแต่แรก ๆ และทำให้ได้รับการรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของโรค และช่วยลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

สนใจนัดหมาย

> กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

บอลลูนหัวใจ

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

อ่านเพิ่มเติม
ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ปัญหายอดฮิตของคนใช้งานข้อมือหนัก

อ่านเพิ่มเติม
กล้ามเนื้ออ่อนแรง

กล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS MH และ SMA อาการต่างกันอย่างไร รักษาหายไหม?

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

DC2E6719-0611-4AD2-8573-7792D0026BED

นพ.ธัญวัจน์ ศาสนเกียรติกุล

ศูนย์ศัลยกรรม

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

thyroid-center-th-1-1

ศูนย์ไทรอยด์และผ่าตัดไทรอยด์

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

บอลลูนหัวใจ

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

อ่านเพิ่มเติม
ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ปัญหายอดฮิตของคนใช้งานข้อมือหนัก

ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ คือโรคที่เกิดจากปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่ใช้กางนิ้วหัวแม่มือที่อยู่บริเวณข้อมือเกิดการอักเสบ ทำให้มีอาการปวดข้อมือเมื่อใช้งาน มักเกิดจากการใช้งานข้อมือหนัก

อ่านเพิ่มเติม
กล้ามเนื้ออ่อนแรง

กล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS MH และ SMA อาการต่างกันอย่างไร รักษาหายไหม?

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงสามารถแบ่งได้หลายชนิด ซึ่งจะมีสาเหตุและอาการหลายแบบ วิธีรักษาเองก็หลากหลายตามไปด้วย รักษาแล้วหายขาดไหม? ติดตามได้ในบทความนี้!

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Praram 9 Star Doctors
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา