หลายคนอาจยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง หรืออาจรู้สึกกังวลกับขั้นตอนที่ดูจะน่ากลัวนี้ แต่รู้หรือไม่ว่าการตรวจชิ้นเนื้อเป็นวิธีที่มีความสำคัญมากในการวินิจฉัยมะเร็งซึ่งจะสามารถให้ข้อมูลได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วได้อย่างดี บทความนี้ขอชวนทุกคนมาร่วมทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการนี้ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างสบายใจ
Key Takeaways
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่ใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งอย่างแม่นยำ ในขณะที่การใช้เลือดหรือการถ่ายภาพส่วนใหญ่ใช้ในการติดตามอาการหรือเพื่อสังเกตความเสี่ยงมากกว่า
- ผลการตรวจชิ้นเนื้อจะทราบภายในเวลา 7-14 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของการทดสอบ
- การตัดชิ้นเนื้อสามารถช่วยประเมินได้หลายด้าน เช่น การยืนยันว่าเป็นหรือไม่ ระบุชนิด ประเมินระยะของโรค หรือช่วยในการประเมินความรุนแรงได้
สารบัญบทความ
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งคืออะไร จะรู้ผลเมื่อไหร่?
- ทำไมต้องตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง ตรวจแบบอื่นได้ไหม?
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งช่วยให้รู้ว่าเป็นมะเร็งได้อย่างไร?
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งมีกระบวนการอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ต้นจนจบ
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งมีความแม่นยำมากแค่ไหน?
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งมีข้อดีอย่างไรบ้าง?
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง เส้นทางวินิจฉัยมะเร็งได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งคืออะไร จะรู้ผลเมื่อไหร่?
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือกระบวนการที่แพทย์จะนำชิ้นเนื้อไปส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่และระบุชนิด รวมถึงการประเมินระยะและความรุนแรงของโรคเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
โดยแพทย์จะพิจารณาความจำเป็นในการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง หลังจากทดสอบลักษณะชิ้นเนื้อมะเร็งเบื้องต้นผ่านการวิธีทางการแพทย์ เช่น การคลำก้อนเนื้อใต้ผิวหนังว่าเคลื่อนไปกับหนังเมื่อขยับหรือไม่ หรือการสแกนด้วยเครื่องมือพิเศษอย่าง CT scan และ MRI โดยหากพบความผิดปกติ หรือการทดสอบเบื้องต้นไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจน การเก็บชิ้นเนื้อจะเป็นขั้นตอนต่อไปเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
ผลการทดสอบชิ้นเนื้อมักใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน โดยจะขึ้นอยู่กับวิธีและเทคนิคที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเมื่อรู้ผลแล้วแพทย์ก็จะนำผลการมาแจ้งกับผู้ป่วยและแนะนำการรักษาต่อไป
ทำไมต้องตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง ตรวจแบบอื่นได้ไหม?
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในการวินิจฉัย เพราะสามารถบอกลักษณะของเซลล์ในเนื้อเยื่อได้โดยตรง เมื่อเทียบกับการทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ วิธีนี้ก็จะสามารถยืนยันได้ว่าก้อนเนื้อหรือร่องรอยโรคเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ และสามารถระบุชนิดได้อย่างชัดเจน รวมถึงประเมินระยะความรุนแรงของโรคได้ดีกว่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการวางแผนการรักษา ถึงอย่างนั้นวิธีอื่น ๆ ก็ยังมีอยู่ และมักจะมีการทำหลายวิธีร่วมกันในการรักษา เช่น
- การตรวจเลือด (Blood Test) : สามารถวัดสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Markers) แต่ไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่นอน
- Imaging Tests : เช่น X-ray, CT Scan, MRI และ Ultrasound ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์เห็นขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ เหมาะกับการวินิจฉัยมะเร็งที่อยู่ลึกหรืออยู่ที่อวัยวะสำคัญ เช่น มะเร็งตับอ่อน
- PET Scan และ Endoscopy : ช่วยในการประเมินลักษณะของก้อนเนื้อหรือการลุกลาม แต่ไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัด
- การย้อมสีด้วยแอนติบอดี (Immunohistochemistry – IHC) : ใช้แอนติบอดีเฉพาะทางที่จับกับโปรตีนในเซลล์มะเร็ง เพื่อบ่งชี้ชนิดของมะเร็งอย่างแม่นยำ เหมาะสำหรับการวินิจฉัยมะเร็งที่มีโปรตีนเฉพาะ เช่น HER2 ในมะเร็งเต้านม
- การตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุล (Molecular Diagnostics) : ใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุลเพื่อวิเคราะห์พันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง โดยวิธีที่ใช้บ่อยก็ได้แก่
- การตรวจยีน (Gene Testing) : ค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง เช่น EGFR ในมะเร็งปอด เพื่อช่วยวางแผนการรักษา
- Polymerase Chain Reaction (PCR) : เป็นเทคนิคที่เร่งการเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอเพื่อค้นหาความผิดปกติของยีนในระดับที่แม่นยำ เหมาะสำหรับมะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเฉพาะ
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งช่วยให้รู้ว่าเป็นมะเร็งได้อย่างไร?

ชิ้นเนื้อจะถูกนำมาตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะต่างๆ ของเซลล์ เช่น รูปร่าง ขนาด และลักษณะของเซลล์ โดยหากพบว่าเซลล์มีลักษณะผิดปกติ เช่น เซลล์มีขนาดใหญ่ผิดปกติ (Enlarged Cells) รูปร่างผิดสัดส่วน (Pleomorphism) หรือมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ (Rapid Proliferation/Hyperplasia)
หากพบลักษณะดังกล่าวนักพยาธิวิทยา (Pathologist) ที่ตรวจก็อาจวินิจฉัยว่ามีคามเสี่ยงที่จะเป็นเนื้อร้าย โดยอาจจะใช้เทคนิคอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น เช่น การย้อมสีเฉพาะ หรือการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุล
โดยการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งจะช่วยระบุได้ชัดเจนว่าความเสี่ยงของโรค ช่วยแยกแยะประเภท บ่งบอกระยะ (Cancer Staging) และช่วยในการประเมินความรุนแรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยในการวางแผนการรักษาทั้งสิ้น
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งมีกระบวนการอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ต้นจนจบ
ขั้นตอนการตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งเป็นกระบวนการที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ โดยมีขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนได้ผลการตรวจ ดังนี้
- พูดคุยปรึกษากับแพทย์ : แพทย์จะบอกขั้นตอนและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นให้ผู้ป่วยได้ทราบและเข้าใจ รวมถึงเงื่อนไขและการเตรียมตัวของแต่ละคน เช่น การอดน้ำอดอาหาร งดยาบางชนิด หรือปรับพฤติกรรมก่อนเข้ารับการตรวจ
- ลงยาชา : แพทย์จะให้ยาชากับผู้ป่วยในจุดที่จะมีการเก็บชิ้นเนื้อไปตรวจ เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น
- ตัดชิ้นเนื้อ : วิธีที่จะใช้ทำก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริเวณและขนาดชิ้นเนื้อที่ต้องการ โดยวิธีการที่พบได้ทั่วไป เช่น
- การผ่าตัดแบบแผลเล็ก หรือ MIS : MIS (Minimally Invasive Surgery) เป็นเทคนิคที่ใช้เก็บชิ้นเนื้อผ่านรอยแผลขนาดเล็กเพียง 1-2 เซนติเมตร ทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อน้อยลง ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ปัจจุบัน MIS ถือเป็นวิธีหลักในการตัดชิ้นเนื้อ เนื่องจากให้ผลที่แม่นยำ ลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด และลดระยะเวลานอนพักฟื้นในโรงพยาบาลได้มากกว่าวิธีอื่น
- การเจาะด้วยเข็ม (Needle Biopsy) : ใช้เข็มชนิดพิเศษเจาะเพื่อเก็บชิ้นเนื้อ เหมาะสำหรับก้อนเนื้อขนาดเล็กหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย
- การผ่าตัดเล็ก (Surgical Biopsy) : เป็นวิธีที่ใช้การผ่าตัดเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เหมาะสำหรับก้อนเนื้อขนาดใหญ่หรือตำแหน่งที่เข้าถึงยาก
- ส่งชิ้นเนื้อไปตรวจที่แล็บ : ชิ้นเนื้อที่ถูกตัดจะถูกส่งไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ รวมถึงการใช้เทคนิคเพิ่มเติมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ระบุประเภทและความรุนแรงได้อย่างชัดเจน
เมื่อจบขั้นตอนเหล่านี้แล้วแพทย์จะแจ้งผลการตรวจให้กับผู้ป่วยได้ทราบ และหากพบก็จะเริ่มวางแผนการรักษาต่อไป
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งมีความแม่นยำมากแค่ไหน?

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งเป็นวิธีการวินิจฉัยที่มีความแม่นยำสูงมากที่สุด แต่ความถูกต้องอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ตรงตำแหน่งกับจุดที่เป็น ประสบการณ์ของแพทย์และความพร้อมของห้องปฏิบัติการ ดังนั้นการเลือกสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญจึงสำคัญต่อการได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและรวดเร็ว
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งมีข้อดีอย่างไรบ้าง?

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการวินิจฉัยโรค และเป็นวิธีที่มีข้อดีอยู่หลายอย่าง เช่น
- มีความแม่นยำสูง : ตรวจสอบเซลล์หรือเนื้อเยื่อ ช่วยวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน
- ระบุชนิดมะเร็งได้อย่างแม่นยำ : ช่วยแยกแยะชนิดและลักษณะของเซลล์ได้อย่างละเอียด
- ช่วยในการวางแผนการรักษา : ผลตรวจช่วยให้แพทย์กำหนดแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้การเลือกใช้การรักษาทำได้เร็วและตรงต่อปัญหามากขึ้น
- ลดความกังวล : ช่วยยืนยันหรือตัดข้อสงสัยได้อย่างแน่ชัด
- ใช้เวลาไม่นาน : เป็นขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนและใช้เวลาประมาณ 7-14 วันในการทราบผล
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง เส้นทางวินิจฉัยมะเร็งได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้แพทย์ตรวจคัดกรองมะเร็งได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำที่สุด ข้อมูลที่ได้จากการตรวจนี้ไม่เพียงช่วยยืนยันว่ามีความผิดปกติหรือไม่ แต่ยังช่วยระบุชนิด ระยะ และความรุนแรงของโรค ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม การเก็บชิ้นเนื้ออาจดูน่ากังวลในความคิดของหลายคน แต่เมื่อเข้าใจกระบวนการและประโยชน์ที่ได้รับแล้ว จะเห็นได้ว่ามันคือก้าวสำคัญสู่การดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งที่โรงพยาบาลพระราม 9 ก็จะมีศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery; MIS) ที่ให้บริการตรวจและตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งโดยใช้เทคนิคผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งเป็นวิธีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้การตรวจคัดรองมะเร็งเป็นไปได้อย่างราบรื่นและสะดวกต่อผู้รับบริการเป็นอย่างดี
มะเร็งเป็นปัญหาที่หากสังเกตตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะรักษาได้สำเร็จให้สูงขึ้นเป็นอย่างดี การตรวจร่างกายประจำปี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย ซึ่งที่โรงพยาบาลพระรามเก้าก็จะมีบริการตรวจสุขภาพประจำปีที่พร้อมจะให้บริการอย่างรอบด้าน และพร้อมตอบทุกความสงสัยในทุก ๆ ด้าน หากสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามที่โรงพยาบาลเพิ่มเติมได้เป็นต้น ได้ตามช่องทางด้านล่างนี้
- Facebook: Praram 9 hospital
- Line @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งมักเป็นกระบวนการที่หลายคนยังมีข้อสงสัย และอาจมีคำถามมากมายเกี่ยวกับขั้นตอนนี้ ต่อไปนี้ก็จะเป็นคำตอบที่ชัดเจนและข้อมูลที่สำคัญที่รวมมาไว้ในบทความนี้ เพื่อช่วยให้เข้าใจและตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง ต่างจากการตรวจเลือดอย่างไร?
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง เป็นการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อตรวจสอบโครงสร้างและเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งให้ผลที่เฉพาะเจาะจงกว่าการตรวจเลือด (Blood Test) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ส่วนประกอบของเลือด เช่น สารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Markers) แต่ไม่สามารถยืนยันชนิดได้ดีเท่ากับการตรวจเนื้อเยื่อ จึงทำให้ส่วนใหญ่การตรวจเลือดจะใช้ในการติดตามอาการในผู้ที่กำลังรักษามากกว่า
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง เจ็บไหม?
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งมักจะไม่เจ็บมาก เนื่องจากแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อลดความรู้สึกบริเวณที่เก็บชิ้นเนื้อ โดยอาจรู้สึกตึงหรืออึดอัดเล็กน้อยในระหว่างขั้นตอน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตัดและวิธีการที่ใช้ในการเก็บชิ้นเนื้อ
References
Krans, B. (2018, September 29). Biopsy. Medically reviewed by Graham Rogers, M.D. Healthline. https://www.healthline.com/health/biopsy
RadiologyInfo.org. (2024, April 1). General biopsy. https://www.radiologyinfo.org/en/info/biopgen
The American Cancer Society medical and editorial content team. (2023, August 1). How is a biopsy done? American Cancer Society. https://www.cancer.org/cancer/diagnosis-staging/tests/biopsy-and-cytology-tests/biopsy-types.html