Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
Menu
  • TH
    • EN
    • CN
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

โรคอ้วน โรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงอาการรุนแรง จากติดโควิด 19

พญ.อารีสา มโนชญ์ปิติพงศ์

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 24 กรกฎาคม 2021
อ้วน เบาหวาน เสี่ยงสูงอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19

หลายคนคงจะพอรู้แล้วว่า ผู้ที่เป็นโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน เป็นกลุ่มที่มีสิทธิเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

บทความนี้ จะกล่าวถึงหนึ่งในโรคกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อโควิด 19 แล้วจะมีอาการรุนแรง นั่นก็คือ โรคอ้วน เหตุผลที่โรคนี้น่ากังวลเป็นพิเศษ เพราะคนอ้วนส่วนใหญ่ไม่ได้มีแค่โรคเดียว แต่มักจะมีโรคร่วมอื่นๆด้วย ทั้งโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง  เชื้อโควิดจะเป็นตัวกระตุ้นให้การอักเสบรุนแรงมากขึ้นจนลามไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ไตวาย หัวใจล้มเหลวปอดล้มเหลว และสุดท้ายอาจทําให้เสียชีวิตได้

สารบัญ

  • โรคอ้วน คืออะไร
  • โรคอ้วนกับโควิด 19 : การแท็กทีมที่มี ‘ร่างกาย’ เป็นสังเวียน
  • โรคเบาหวาน กับ โควิด 19 อีกปัจจัยร่วมซ้ำเติมการติดเชื้อ
  • 2 วิธีป้องกัน ถ้าไม่อยากเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง
  • การรักษาตัวเองจากโรคอ้วน
  • สรุป

โรคอ้วน คืออะไร

โรคอ้วน (Obesity) คือ ภาวะที่มีน้ำหนักตัวหรือสัดส่วนไขมันในร่างกายมากผิดปกติ โดยสามารถคำนวณโดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) หากมีค่า BMI ตั้งแต่ 25 kg/m² ขึ้นไปถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคอ้วนแล้ว

ปัจจุบัน โรคอ้วนได้กลายเป็นวาระระดับโลกถึงขั้นที่องค์การอนามัยโลกได้ตั้ง “วันอ้วนโลก” ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับปัญหา สาเหตุ และแนวทางการป้องกันมิให้เกิดโรคอ้วน เนื่องจากภาวะดังกล่าว จะกลายเป็นบ่อเกิดของโรคเรื้อรังอีกมากที่จะตามมา

โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนไทย เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มเป็นโรคอ้วนจนติดอันดับต้น ๆ ของโลก มาจากพฤติกรรมการบริโภคของเด็กในยุคนี้ ที่ชอบกินอาหารประเภท Junk Food ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ และไม่ค่อยออกกำลังกาย เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

>กลับสู่สารบัญ

โรคอ้วนกับโควิด 19 : การแท็กทีมที่มี ‘ร่างกาย’ เป็นสังเวียน

หากสังเกตจากสถานการณ์ปัจจุบันของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อและเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะมีโรคอ้วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีรายงานว่า คนอ้วนมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลจากการติดเชื้อได้มากกว่าคนผอมถึง 113% นอกจากนี้ ยังเพิ่มอัตราการนอน ICU สูงกว่าคนผอมถึง 74% และพบอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้มากกว่าคนผอมถึง 48%

ดังนั้น 

กลุ่มคนที่มีโรคอ้วนจึงได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรงหากได้รับเชื้อโควิด 19 แต่ทุกคนสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น?

ปัจจัยแรก : ภาวะอักเสบเรื้อรังจากโรคอ้วน

เหตุผลที่โรคอ้วน เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการรุนแรง เมื่อได้รับเชื้อโควิด 19 ไม่ใช่เพราะว่าการอ้วนจะทำให้ติดเชื้อโควิด 19 ง่ายขึ้นแต่อย่างใด 

แต่ความอ้วน เป็นภาวะการอักเสบเรื้อรังอย่างหนึ่ง ที่มักจะเกิดร่วมกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรง เมื่อได้รับเชื้อโควิด 19 เข้าไป คราวนี้อาการอักเสบจึงรุนแรงขึ้น และอาจลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต หัวใจ และปอด จนก่อให้เกิดภาวะการทำงานล้มเหลว และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ปัจจัยที่สอง : โรคอ้วนกระทบการขยายตัวของปอด

หลายคนอาจจะพอเดาปัจจัยข้อแรกได้ แต่ก็อาจนึกไม่ถึงว่า โรคอ้วนยังสามารถรบกวนการทำงานของปอด แล้วทำให้อาการหลังติดเชื้อโควิด 19 มีความรุนแรงขึ้นได้ด้วย

ต้องเข้าใจก่อนว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ประสิทธิภาพการทำงานของปอดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าปอดแข็งแรงดี จุก๊าซได้มาก ร่างกายก็จะใช้ก๊าซออกซิเจนในกระบวนต่าง ๆ ภายในร่างกายได้อย่างเต็มที่

แต่เนื่องจากผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนนั้น จะมีปริมาณไขมันสะสมทั้งในช่องท้องและช่องอกมากกว่าปกติ ปริมาณไขมันที่สะสมมากเข้า ก็จะไปดันกระบังลมให้ขึ้นไปเบียดกับช่องอก จนปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่

ทีนี้เมื่อการขยายของปอดแต่ละครั้งไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรแล้ว พอเกิดภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด 19 ขึ้นมา เลยยิ่งไปเพิ่มโอกาสให้เกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ง่ายขึ้น เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

>กลับสู่สารบัญ

โรคเบาหวาน กับ โควิด 19 อีกปัจจัยร่วมซ้ำเติมการติดเชื้อ

เรายังคงอยู่กันที่ประเด็นของโรคอ้วน เนื่องจากโรคอ้วนมักถูกตรวจพบร่วมกับโรคเบาหวาน แล้วยังเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ เนื่องจากปริมาณไขมันในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ไปรบกวนการทำงานของตัวรับอินซูลิน ส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น และไปกระตุ้นให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักขึ้น

คนที่เป็นโรคเบาหวาน หากควบคุมน้ำตาลไม่ดี จะทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ กระทบการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 เข้า ร่างกายไม่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรค ยิ่งทำให้เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายในร่างกาย ก่อให้เกิดความอักเสบในอวัยวะสำคัญ ๆ ได้มากขึ้นและรุนแรงขึ้น

เป็นสาเหตุที่หน่วยงานสาธารณสุขต้องออกมารณรงค์ให้ผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้ ให้รีบไปรับการฉีดวัคซีนนั่นเอง

>กลับสู่สารบัญ

2 วิธีป้องกัน ถ้าไม่อยากเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง

สำหรับแนวทางการป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด 19 นั้นมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกคือการป้องกันโรคโควิด 19 วิธีที่สองคือ การตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคอ้วนอยู่หรือไม่ แล้วรีบหาทางลดน้ำหนัก ควบคุมหุ่นโดยด่วน!

1. ป้องกันตัวจากโควิด 19 อย่าให้มาซ้ำเติมความอ้วน!

มาตรการและแนวทางปฏิบัติตัวที่หน่วยงานสาธารณสุขได้ออกมาประกาศให้เรากินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องพบเจอใคร (แม้จะเป็นคนในบ้าน) รวมถึงรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นแนวทางป้องกันที่ใช้ได้ดีเสมอ

แม้จะต้องแนะนำเช่นนี้เป็นประจำจนหลายท่านอาจจะรู้สึกว่า “รู้แล้ว!” ก็ตาม แต่ก็เป็นยุทธวิธีแรกที่ช่วยป้องกันไม่ให้โรคนี้มาซ้ำเติมความอ้วนของเราได้จริง ๆ

และการฉีดวัคซีนจึงเป็นอีกมาตรการสำคัญที่จำเป็นต้องรีบทำ เพื่อเสริมแนวป้องกันให้กับตัวเอง เพราะถ้าติดเชื้อขึ้นมาจริง ๆ อย่างน้อยการได้รับวัคซีนก็ยังลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้

อ้วนแล้ว พร้อมฉีดวัคซีนแล้ว สมัครหมอพร้อมได้เลย

เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคอ้วน เป็น 1 ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่เป็นเป้าหมายในการรับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ดังนั้น จึงมีการกำหนดเงื่อนไข คนที่เข้าหลักเกณฑ์ “โรคอ้วน” ที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนขอจองฉีดวัคซีนกับหมอพร้อมได้นั้น จะต้องมีน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือ คนที่มีดัชนีมวลกาย (BMI)เกิน 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (BMI ≥ 35)

ใครที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด สามารถลงทะเบียนผ่าน แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ได้เลย ส่วนใครที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าว สามารถติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้โรงพยาบาลแจ้งสิทธิ์ของท่านให้กับส่วนกลางกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

  • เตรียมตัวฉีดวัคซีนโควิด ต้องทำอย่างไรบ้าง
  • ตอบข้อสงสัย “หมอพร้อม” เพื่อให้ “ทุกคนพร้อม” จองฉีดวัคซีนโควิด 19

2. รักษาตัวจากโรคอ้วน ลดหลายโอกาสเสี่ยง

รู้ไว้ใช่ว่า การลดความอ้วนไม่ได้ช่วยแค่ประเด็นเรื่องโควิด 19 แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่จะตามมาได้อีกหลายโรคเลยทีเดียว!

อ้วนคือแค่ไหน แค่ไหนเรียกว่า ‘อ้วน’

การที่เราจะแก้ปัญหาอะไรได้นั้น เราก็ต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังมีปัญหา

การรับรู้ว่าตัวเองกำลังเสี่ยงเป็นโรคอ้วน หรืออ้วนไปแล้วเรียบร้อยนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นนิมิตหมายอันดี ที่เราจะได้รีบศึกษาหาทางป้องกันหรือรักษาให้เรียบร้อย

วัดจาก BMI

ในทางการแพทย์นั้น เรามีวิธีเช็คว่าเราเข้าข่ายเป็น ‘โรคอ้วน’ แล้วหรือยัง โดยพิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) ซึ่งมีสูตรในการหา ดังนี้

แต่ไม่ต้องกังวลว่าการคำนวณ BMI จะยุ่งยาก เพราะปัจจุบัน เราสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟรี ๆ ที่ช่วยในการคำนวณ BMI ได้มากมาย หรือแม้แต่สามารถค้นหาเครื่องคิดเลขคำนวณ BMI ได้ เพียงพิมพ์ค้นหาว่า “เครื่องคำนวณ BMI” ใน Google เท่านั้นเอง

วัดจาก เส้นรอบเอว

เราสามารถประเมินภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะมีไขมันในช่องท้องมากเกินไปได้ จากการวัดเส้นรอบเอว ด้วยการใช้สายวัด โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้

  1. ต้องอยู่ในท่ายืน หากนั่งอยู่ อาจทำให้ค่าที่ได้มากเกินความเป็นจริง
  2. ใช้สายวัด วัดรอบเอว โดยให้สายวัดพาดผ่านบริเวณกึ่งกลางระหว่างตำแหน่งกระดูกเชิงกรานและชายโครงซี่สุดท้าย
  3. ค้างไว้ ให้สายวัดแนบกับลำตัว ปรับระดับให้สายวัดขนานกับพื้น แต่อย่ารัดแน่น
  4. ให้วัดในช่วงที่หายใจออก

ให้ถือว่าบุคคลต่อไปนี้ อยู่ภาวะอ้วนลงพุง

  • ผู้ชาย ที่วัดเส้นรอบเอวได้มากกว่า 90 ซม.
  • ผู้หญิง ที่วัดเส้นรอบเอวได้มากกว่า 80 ซม.

เมื่อพิจารณาร่วมกัน ระหว่างค่า BMI และเส้นรอบเอวได้แล้ว เราก็จะประเมินได้คร่าว ๆ แล้วว่า ตัวเองกำลังเป็นโรคอ้วนหรือไม่?

>กลับสู่สารบัญ

การรักษาตัวเองจากโรคอ้วน

ไม่มีใครรู้สึกว่า การเป็นหวัด เป็นไข้ ท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ เป็นเรื่องที่ต้องรู้สึกผิด ต้องตำหนิตัวเอง หรือทำให้อับอาย และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง

โรคอ้วนเองก็เช่นกัน เนื่องจากภาวะอ้วนนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่มาจากความผิดปกติของร่างกาย โดยเฉพาะระบบการเผาผลาญที่เสียสมดุลไป ดังนั้นจึงนับว่าเป็น ‘โรค’ ได้ไม่ต่างจากโรคประเภทอื่น ๆ เมื่อทราบว่าตัวเองเป็นแล้ว หน้าที่ของเราจึงเป็นแค่การพยายามรักษาตัวเองให้หายจากโรคนี้เท่านั้นเอง

รักษาด้วยการปรับพฤติกรรม ช้า... แต่ชัวร์

โรคอ้วน มักมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรา

ขอย้ำว่าสาเหตุหลักคือ ‘พฤติกรรมประจำวัน’ ไม่ใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ดังนั้น แนวทางที่ได้ผลช้า แต่สำเร็จชัวร์ จึงมาจากการปรับที่พฤติกรรมประจำวัน ไม่ใช่การเพิ่มกิจกรรมเข้ามาประเดี๋ยวประด๋าว เช่น การหักโหมออกกำลังกายอย่างหนัก การกินแต่สลัดและผลไม้แทนมื้ออาหาร การอดอาหาร การงดแป้ง เป็นต้น

เพราะการปรับเปลี่ยนที่ทำได้เพียงชั่วคราว มักทำให้เรารู้สึกอึดอัด ไม่มีความสุข เพิ่มความเครียดให้กับร่างกายและจิตใจ นอกจากทำให้เราอ่อนแอลงแล้ว เมื่อถึงเวลาผ่อนคลาย อาจทำให้เกิดภาวะโยโย่ และกลับมามีน้ำหนักหรืออ้วนมากกว่าเดิม เนื่องจากสมดุลของระบบเผาผลาญของเราไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี (แถมยังถูกทำให้แย่ลงอีกด้วย)

เราจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และการใช้พลังงานของเราให้เหมาะสม ดังนี้

  1. ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารประเภท “ทอด หวาน มัน เค็ม” แล้วปรับเปลี่ยนไปกินอาหารประเภท “ต้ม ปิ้ง นึ่ง ย่าง” ให้มากขึ้นแทน เพราะประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือ การทำให้ตัวเองรู้สึกอิ่มเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับประเภทของอาหารที่รับเข้าไป ให้ได้รับพลังงานที่ลดลง เมื่อเทียบกับสไตล์การกินแบบเดิมของเรา
  2. ดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หมั่นจิบน้ำเรื่อย ๆ กระจายไปในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ถ้าเราดื่มน้ำอย่างถูกต้อง จะช่วยให้การไหลเวียนของโลหิต แล้วยังกระตุ้นการขับถ่ายของเราให้ทำงานได้ดีด้วย
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่สูง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก กาแฟมอคค่าเพิ่มวิปครีม
  4. จำกัดปริมาณการบริโภคผลไม้ เนื่องจากผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาล ควรเลือกผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร
  5. เพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน อย่านั่งทำงานตลอดทั้งวัน ให้ลุกขึ้นมาขยับตัวบ้าง หรือทำงานบ้านในยามว่าง ซึ่งก็เป็นวิธีการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่ง
  6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำเท่าที่ทำได้ หากไม่สะดวกออกนอกบ้าน ก็สามารถออกกำลังกายอยู่บ้านได้ มีท่าออกกำลังกายเรียกเหงื่อมากมายที่ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ

>กลับสู่สารบัญ

สรุป

มีรายงานและผลสรุปวิจัยมากมายที่กล่าวถึงความเสี่ยงของอาการรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยโรคอ้วนที่ติดเชื้อโควิด 19 ดังนั้น การรักษามาตรการป้องกันตัวเองจากโควิด 19 อย่างเข้มงวด จึงเป็นปราการด่านหน้าที่ดีให้พ้นจากโควิด

ในขณะที่การรีบเข้ารับการฉีดวัคซีน ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเรา หรือหากติดเชื้อจริง จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ลดอัตราการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตได้

แน่นอนว่า การฟิตหุ่นและลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของการช่วยลดความเสี่ยงของผู้ที่เป็นโรคอ้วน อาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยทันทีในช่วงโควิด 19 ในสภาพที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ไม่สะดวกไปออกกำลังกายข้างนอก แต่การเริ่มต้นตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักเสียตั้งแต่วันนี้เลยก็ยังดีกว่าการอยู่บ้านเฉย ๆ

ขอให้คิดในแง่ดีว่า ให้ใช้โอกาสที่ไม่สามารถไปกินข้าวข้างนอกได้ เป็นโอกาสอันดีในการคุมอาหาร ลดน้ำหนัก ซึ่งไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงของอันตรายจากโควิด แต่ยังช่วยลดโอกาสที่จะเป็นโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่จะตามมาได้อีกด้วย

>กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

รักษามะเร็งเต้านม

แนวทางใหม่! รักษามะเร็งเต้านม ด้วยวิธีผ่าตัดสงวนเต้า และการเสริมสร้างเต้านมใหม่

อ่านเพิ่มเติม
เด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยาก

อ่านเพิ่มเติม
ลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุการปวดท้องเรื้อรัง อืดแน่นท้อง ขับถ่ายผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 V
  • Praram 9 V

แพทย์ผู้เขียนบทความ

พญ.อารีสา มโนชญ์ปิติพงศ์

พญ.อารีสา มโนชญ์ปิติพงศ์

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิค_1-1

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

รักษามะเร็งเต้านม

แนวทางใหม่! รักษามะเร็งเต้านม ด้วยวิธีผ่าตัดสงวนเต้า และการเสริมสร้างเต้านมใหม่

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีการผ่าตัดสงวนเต้า ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด หรือหากจำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม
เด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยาก

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF เป็นเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับคู่สามีภรรยาที่มีบุตรยาก ช่วยเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์

อ่านเพิ่มเติม
ลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุการปวดท้องเรื้อรัง อืดแน่นท้อง ขับถ่ายผิดปกติ

ภาวะผิดปกติเรื้อรังของลำไส้ หรือโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) อาจมีอาการคล้ายโรคมะเร็งลำไส้ สามารถตรวจสอบเพื่อแยกโรค และรักษาให้เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด

แพ็กเกจยอดนิยม

แพ็กเกจตรวจสุขภาพน้องใหม่วัยชิลล์

รายละเอียด

แพ็กเกจตรวจสุขภาพรุ่นพี่วัยชิค

รายละเอียด

แพ็กเกจตรวจสุขภาพรุ่นใหญ่วัยเก๋า

รายละเอียด

ดูแพ็กเกจทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2021 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา