Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
Menu
  • TH
    • EN
    • CN
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

ตั้งครรภ์ช่วงโควิด เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?

พญ.พลอยนิล พุทธาพิทักษ์พงศ์

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 20 เมษายน 2021
ตั้งครรภ์ โควิด 19

ลำพังแค่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เองก็ดูน่ากลัวมากแล้ว ยิ่งถ้าเราหรือคนที่เรารักตั้งครรภ์ในสถานการณ์เช่นนี้ คงน่ากังวลใจมากยิ่งขึ้นไปใหญ่ เรามาดูข้อมูลกันดีกว่า ว่าผู้หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และถ้าติดเชื้อขึ้นมา จะส่งผลกระทบต่อคุณแม่และเด็กในครรภ์อย่างไรบ้าง?

สารบัญ

  • ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์
  • หอบเหนื่อยระหว่างตั้งครรภ์ ใช่โควิดหรือไม่? อาการแบบไหน ต้องรีบไปพบแพทย์
  • โควิด 19 สามารถส่งต่อไปยังลูกในครรภ์ได้หรือไม่
  • หากทารกติดโควิด 19 ตัังแต่แรกเกิด จะเป็นอย่างไร?
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจโควิด 19 หรือไม่?
  • แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
  • หากติดโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
  • คุณแม่ติดโควิด 19 สามารถให้นมลูกได้หรือไม่?
  • เราควรดูแลตัวเองอย่างไรให้เราและลูกในท้องปลอดภัย
  • สรุป

ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงติดเชื้อพอ ๆ กับบุคคลทั่วไป

รายงานจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ในอังกฤษ เผยว่า ผู้หญิงไม่ได้ติดเชื้อง่ายขึ้นขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ นอกจากนี้ ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโควิดในระหว่างตั้งครรภ์มักจะไม่แสดงอาการเลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด คัดจมูก มีไข้ต่ำ และปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น

อาการอาจรุนแรงได้ ด้วยปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

แม้ว่าความเสี่ยงที่แท้จริงของการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในผู้ตั้งครรภ์จะต่ำมาก แต่ก็มีรายงานที่พบว่าผู้หญิงตั้งครรภ์มีอาการรุนแรงได้เช่นกัน หากมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 อย่าง ดังต่อไปนี้

  • มีอายุมาก
  • มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
  • มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
ปัจจัยเสี่ยงการตั้งครรภ์ โควิด 19

อย่างไรก็ดีพบว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้ เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดโควิด โดยเฉพาะหากเกิดการติดเชื้อในช่วงไตรมาสที่ 3 อาการรุนแรงที่ว่า ได้แก่ เพิ่มโอกาสการนอนห้อง ICU เพิ่มโอกาสการใช้เครื่องช่วยหายใจ และเพิ่มโอกาสคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น ดังนั้น จึงควรระมัดระวัง ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อนี้ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์อยู่จะดีที่สุด


กลับสู่สารบัญ

หอบเหนื่อยระหว่างตั้งครรภ์ ใช่โควิดหรือไม่? อาการแบบไหน ต้องรีบไปพบแพทย์

คุณแม่หลายท่านอาจจะพบว่าตัวเองมีภาวะหายใจลำบาก รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หรือเหนื่อยมากกว่าปกติในระหว่างตั้งครรภ์ แล้วเกิดสับสนหรือกังวลว่าอาการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับโควิดหรือไม่?

ภาวะต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น เกิดขึ้นได้ทุกช่วงของการตั้งครรภ์ เพราะในช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงขนาดของมดลูกที่ใหญ่โตขึ้นจนไปเบียดลิ้นปี่หรือกระบังลมให้ยกสูงขึ้นทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ และยังต้องแบกรับน้ำหนักลูกน้อยในท้อง ทำให้คนเป็นแม่ รู้สึกเหนื่อย ปวดเมื่อย หายใจไม่สะดวกได้ง่าย

แต่เพื่อไม่ให้สับสนกับอาการของโควิด 19 จนต้องกังวลมากโดยไม่จำเป็น บทความนี้ จึงมีข้อแนะนำวิธีการตรวจเช็คอาการเพื่อคัดกรองโอกาสที่จะเป็นโควิดเบื้องต้น หากคุณแม่เข้าเกณฑ์หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

แบบทดสอบ โควิด 19 คุณแม่ตั้งครรภ์
  1. มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือเดินทางไปสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก่อน
  2. มีไข้สูงร่วมกับอาการหอบเหนื่อย
  3. อาการหายใจเหนื่อยมีความรุนแรงขึ้น หรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
  4. เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บขณะหายใจ
  5. มีอาการไอ ไอร่วมกับมีไข้ หรือไอเป็นเลือด
  6. ร่างกายดูซีดลง ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าซีดจนเป็นสีม่วง หรือวิงเวียนจะเป็นลม


กลับสู่สารบัญ

โควิด 19 สามารถส่งต่อไปยังลูกในครรภ์ได้หรือไม่?

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อสงสัยนี้ไว้ว่า ยังไม่ทราบข้อสรุปที่แน่ชัด และยังไม่เคยพบว่ามีไวรัส (active virus) จากการตรวจตัวอย่างน้ำคร่ำภายในครรภ์แม่และตัวอย่างนมแม่ นอกจากนี้ ยังมีสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็น
ดังกล่าว คือ

โควิด 19 ส่งไปถึงลูกในครรภ์
  • ส่วนใหญ่ ไม่พบการติดเชื้อโควิดในทารกแรกเกิดที่เกิดจากมารดาที่ติดโควิด
  • สำหรับกรณีที่พบเชื้อโควิดในทารกแรกเกิดหลังคลอด (ซึ่งพบได้น้อย ประมาณ 2-5% ทั่วโลก) และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า ทารกได้รับเชื้อมาก่อน  ระหว่าง หรือภายหลังจากคลอดแล้ว
  • ยังไม่มีรายงานว่า การติดเชื้อทำให้เพิ่มโอกาสแท้ง


กลับสู่สารบัญ

หากทารกติดโควิด 19 ตั้งแต่แรกเกิด จะเป็นอย่างไร?

ทารกแรกเกิดที่มีการตรวจพบเชื้อโควิด 19 มักจะมีอาการไม่มาก หรือแทบไม่มีอาการเลย อย่างไรก็ตาม ก็มีกรณีที่ทารกแรกเกิดติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงอยู่บ้างเหมือนกัน

จริง ๆ แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวล จะมาจากผู้เป็นแม่ด้วย อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า หากติดเชื้อโควิดในไตรมาสที่ 3 อาการคุณแม่ก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น และอาจจะส่งผล กระทบต่อลูกในครรภ์ด้วยเช่นกัน


กลับสู่สารบัญ

ผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจโควิด 19 หรือไม่?

ข้อแนะนำคือ แม้ว่าจะตั้งครรภ์อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจโควิด 19 เพราะที่จริงแล้ว การเดินทางออกไปข้างนอก หรือไปอยู่ร่วมกับคนมาก ๆ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ

การเก็บตัวอยู่บ้าน ทำจิตใจให้สงบ และสื่อสารกับสมาชิกในบ้านให้เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเหมาะสมจะปลอดภัยกว่า แต่ถ้าหากพบว่าตัวเองมีอาการที่บ่งชี้ว่าอาจติดโควิด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


กลับสู่สารบัญ

แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์ และให้นมบุตร

การศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดังอย่าง New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ได้รายงานว่าจากการศึกษาเบื้องต้นในผู้หญิงตั้งครรภ์จำนวน 35,691 รายที่ได้รับวัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยในผู้หญิงตั้งครรภ์

ดังนั้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Center for Disease Control and Prevention; CDC) และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ของสหราชอาณาจักร จึงได้ปรับปรุงข้อมูลคำแนะนำใหม่ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ไว้ว่า

ทาง Joint Committee on Vaccination and Immunization (JCVI) แนะนำให้กลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ (มากกว่า 12 สัปดาห์) สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยมีสูตินารีแพทย์ผู้ดูแลให้ข้อมูลเรื่องข้อดี/ข้อเสียของวัคซีน รวมถึงใช้เกณฑ์ประเมินความเสี่ยงเช่นเดียวกันกับกลุ่มประชากรทั่วไป เช่น อายุ โรคประจำตัวต่างๆ และตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้หญิงตั้งครรภ์แต่ละราย

เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาความเสี่ยงในกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 เบื้องต้น ได้แก่

  • กลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มที่เป็นแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสสัมผัสติดต่อผู้ติดเชื้อสูง
  • กลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19
  • กลุ่มที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไป (มีภาวะอ้วนเกิน)

อย่างไรก็ดีข้อมูลด้านความปลอดภัย มีเพียง 2 บริษัทดังกล่าวเท่านั้น หากท่านต้องการรับวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้ดูแลก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนทุกครั้ง

หญิงตั้งครรภ์กับวัคซีนโควิด

ผลข้างเคียงและการแพ้วัคซีน

ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด 19 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ก็ไม่ต่างกับบุคคลทั่วไป เช่น อาจมีอาการไข้หลังได้รับวัคซีน ซึ่งสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หลังได้รับวัคซีน

แต่มีข้อแนะนำว่า หากเราเคยมีอาการแพ้วัคซีนชนิดอื่น ๆ มาก่อน (โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากยังมีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้วัคซีนได้เช่นเดียวกับการได้รับวัคซีนทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ หากมีโครงการที่จะฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ด้วยในช่วงนี้ ควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจก่อน เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม

อยู่ในช่วงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?

จากข้อมูลวิจัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำว่ากรณีคุณแม่ที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดให้นม

ฉีดวัคซีนไปแล้ว วางแผนตั้งครรภ์ได้หรือไม่?

ตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) ระบุว่าไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์หลังได้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ได้แก่ บริษัท Pfizer และ Moderna เนื่องจากตามทฤษฎีแล้ว วัคซีนจะไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ และยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนชนิดนี้จะมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีแผนตั้งครรภ์หลังจากได้รับวัคซีน ควรเข้ามาพบสูติแพทย์เพื่อปรึกษาและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด


กลับสู่สารบัญ

หากติดโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ว่าทารกในครรภ์จะได้รับเชื้อจากผู้เป็นแม่ รวมถึงความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ติดเชื้อนั้นมีโรคประจำตัวร่วมด้วยหรือไม่ และผู้ติดเชื้อที่ตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ทั่วไปในกลุ่มอายุเดียวกัน แต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากอยู่ดี เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม

ดังนั้น เมื่อทราบว่าตัวเองติดโควิดในระหว่างตั้งครรภ์ ให้ตั้งสติและพยายามทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ตามที่บทความนี้ได้อธิบายไว้เบื้องต้น และควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน


กลับสู่สารบัญ

คุณแม่ติดโควิด 19 สามารถให้นมลูกได้หรือไม่?

ทาง WHO แนะนำว่า หากผู้เป็นแม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มากก็สามารถให้นมได้ และควรทำด้วย เนื่องจากในน้ำนมมีสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่จำเป็นและลูกควรได้รับการสัมผัสจากแม่ นอกจากนี้ การบีบน้ำนมอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้แม่ยังคงมีน้ำนมให้นมลูกได้แม้หายป่วยแล้ว

แต่ผู้ให้นมลูก ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ตามข้อแนะนำทั้งก่อนและหลังสัมผัสตัวเด็ก ห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้าของตัวเองและของลูก ห้ามหอมแก้มหรือจุ๊บลูก หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ภายในพื้นที่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยต่อเด็กอยู่เสมอ

แม่ตั้งครรภ์ โควิด 19 ให้นมบุตร

กรณีที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง เช่น ไอมากแต่ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมได้ อาจให้พ่อเป็นผู้ป้อนนมลูกแทน (พ่อก็ต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคเช่นเดียวกับแม่) หรือ อาจให้ใช้วิธีบีบน้ำนมให้ทารกดื่มแทนการให้นมจากเต้า หรือใช้เครื่องปั๊มนมได้ แต่ต้องล้างมือก่อนและหลังใช้เครื่องปั๊มนมทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากแม่รับยาต้านไวรัสบางชนิด เช่น Favipiravir หรือ Darunavir ยาจะถูกขับออกทางน้ำนมด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการให้นมลูก สำหรับยาต้านไวรัสชนิดอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมลูก


กลับสู่สารบัญ

เราควรดูแลตัวเองอย่างไร ให้เราและลูกในท้องปลอดภัย

สุดท้ายนี้สิ่งที่สำคัญคือสุด คือ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อยู่ ควรระมัดระวังตัวเองให้ห่างไกลจากโควิด โดยมีข้อปฏิบัติตัวดังนี้

  1. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ (อย่างน้อย 20 วินาที) หรือหากจำเป็น ให้ใช้แอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 70% ในการล้างมือ
  2. ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้าของตนเอง หรือหากจำเป็นต้องสัมผัสจริง ๆ ควรล้างมือด้วยสบู่ก่อน
  3. สวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง : เป้าหมายหลักของการสวมใส่หน้ากากอนามัยก็คือ ป้องกันไม่ให้ตัวเองแพร่เชื้อให้กับคนอื่น และช่วยป้องกันละอองเสมหะหรือน้ำลายจากผู้อื่นได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังเป็นกุศโลบายไม่ให้เราเผลอเอามือมาแตะบริเวณใบหน้าของตนเองโดยไม่รู้ตัวด้วย
  4. กินอาหารที่ปรุงสุก โดยใช้ช้อนกลางของตัวเอง (ไม่ใช้ช้อนกลางร่วมกับคนอื่น)
  5. รักษาระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 2 เมตร ไม่พูดคุยกันแบบหันหน้าเข้าหากัน และหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด
  6. การเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดแม้แต่ภายในบ้านของตัวเอง จะยิ่งลดความเสี่ยงในการติดโควิด เนื่องจากเราไม่มีทางรู้เลยว่า สมาชิกในบ้านอาจได้รับนำเชื้อจากภายนอกเข้ามาแล้วหรือไม่ยัง
  7. หากมีอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นโควิด ให้รีบพบแพทย์ทันที

ไม่เพียงแต่คุณแม่เท่านั้น คุณพ่อบ้านหรือคุณสามี และสมาชิกในครอบครัวท่านอื่น ๆ ก็ต้องช่วยกันระมัดระวังเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เผลอนำเชื้อจากภายนอกมาติดคนในบ้านเรา


กลับสู่สารบัญ

สรุป

การติดโควิด 19 ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ นับเป็นประเด็นหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจและเป็นกังวลอย่างมาก จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า ผู้หญิงที่ติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะแท้งหรือเสียชีวิต จะพบแต่เพียงว่ามี ‘โอกาส’ ที่จะมีอาการรุนแรงสูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงช่วงอายุเดียวกันที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

แต่แน่นอนว่า การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการติดโรคดังกล่าวนั้นย่อมเป็นการดีที่สุดทั้งต่อตัวเอง ต่อลูกในครรภ์ และต่อคนที่คุณรัก โดยสามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับคนทั่วไป

สำหรับผู้ที่กำลังพิจารณาว่าจะไปรับการฉีดวัคซีนดีหรือไม่? ขอแนะนำให้ท่านปรึกษาสูตินารีแพทย์ที่ท่านฝากครรภ์เพื่อให้คำแนะนำและข้อมูลที่เหมาะสมกับคุณแม่แต่ละท่าน  และคอยติดตามข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานสาธารณสุขอย่างโดยใกล้ชิด


กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

รักษามะเร็งเต้านม

แนวทางใหม่! รักษามะเร็งเต้านม ด้วยวิธีผ่าตัดสงวนเต้า และการเสริมสร้างเต้านมใหม่

อ่านเพิ่มเติม
เด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยาก

อ่านเพิ่มเติม
ลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุการปวดท้องเรื้อรัง อืดแน่นท้อง ขับถ่ายผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 V
  • Praram 9 V

แพทย์ผู้เขียนบทความ

พญ.พลอยนิล พุทธาพิทักษ์พงศ์

พญ.พลอยนิล พุทธาพิทักษ์พงศ์

ศูนย์สูตินรีเวช

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

ศูนย์สูตินรีเวช_1-1

ศูนย์สูตินรีเวช

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

รักษามะเร็งเต้านม

แนวทางใหม่! รักษามะเร็งเต้านม ด้วยวิธีผ่าตัดสงวนเต้า และการเสริมสร้างเต้านมใหม่

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีการผ่าตัดสงวนเต้า ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด หรือหากจำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม
เด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยาก

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF เป็นเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับคู่สามีภรรยาที่มีบุตรยาก ช่วยเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์

อ่านเพิ่มเติม
ลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุการปวดท้องเรื้อรัง อืดแน่นท้อง ขับถ่ายผิดปกติ

ภาวะผิดปกติเรื้อรังของลำไส้ หรือโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) อาจมีอาการคล้ายโรคมะเร็งลำไส้ สามารถตรวจสอบเพื่อแยกโรค และรักษาให้เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด

แพ็กเกจยอดนิยม

แพ็กเกจตรวจสุขภาพน้องใหม่วัยชิลล์

รายละเอียด

แพ็กเกจตรวจสุขภาพรุ่นพี่วัยชิค

รายละเอียด

แพ็กเกจตรวจสุขภาพรุ่นใหญ่วัยเก๋า

รายละเอียด

ดูแพ็กเกจทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2021 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา