ซีสต์เป็นสิ่งที่มีมากกว่า 100 ชนิด บางชนิดก็สามารถหายได้เอง แต่บางชนิดก็ต้องอาศัยวิธีรักษาทางการแพทย์ เพื่อให้ร่างกายกลับมาทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มสุภาพสตรีที่มีโอกาสเกิดซีสต์รังไข่ได้บ่อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน บทความนี้จึงจะพาไปเจาะลึกเรื่องราวเกี่ยวกับซีสต์ให้มากขึ้น เพื่อช่วยสังเกตอาการเบื้องต้น และรับมือได้ถูกวิธี
Key Takeaways
- ซีสต์ (Cyst) คือ ลักษณะของถุงน้ำที่ภายในมีอากาศ ของเหลว หรือของแข็งกึ่งเหลวเอาไว้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ทั้งบนผิวหนัง ใต้ผิวหนัง และอวัยวะภายใน
- อาการที่แสดงออกจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนซีสต์และบริเวณที่เป็น หากเป็นก้อนเล็กมักไม่เกิดปัญหา แต่ซีสต์ก้อนใหญ่ที่เกิดบนอวัยวะภายใน จะทำให้เกิดอาการผิดปกติและเจ็บปวดร่วมด้วย
- ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นซีสต์รังไข่ ควรหมั่นสังเกตตัวเอง พร้อมเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำ เพื่อให้สามารถดูแลร่างกายได้อย่างทันท่วงที
สารบัญบทความ
- ทำความรู้จัก “ซีสต์” คืออะไร?
- ซีสต์ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?
- ซีสต์ มีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร?
- สัญญาณเตือนซีสต์รังไข่ อาการแบบไหนที่ควรไปหาหมอ?
- วิธีการตรวจวินิจฉัยซีสต์
- เมื่อตรวจพบก้อนซีสต์ ต้องรักษาอย่างไร?
- แนวทางป้องกันการเกิดซีสต์ ลดผลเสียต่อสุขภาพ
- ข้อควรปฏิบัติหลังผ่าตัดซีสต์ ให้แผลฟื้นตัวไว
- ซีสต์ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าดูแลเป็น รักษาไว
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับซีสต์
ทำความรู้จัก “ซีสต์” คืออะไร?
ซีสต์ หรือ Cyst คือ ถุงน้ำที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ภายในประกอบไปด้วยของเหลวอย่างไขมัน น้ำเหลือง สารคัดหลั่งอื่น ๆ รวมถึงมีเนื้อเยื่อหรือเส้นผมผสมอยู่ โดยลักษณะของก้อนซีสต์มักแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิด และขนาดค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นอย่างช้า ๆ
หากเป็นซีสต์บนผิวหนัง จะเห็นเป็นตุ่มนูนออกมา ส่วนซีสต์ใต้ผิวหนังจะเห็นสารสีขาวคล้ายชีสหรือไขมันอัดแน่นอยู่ เมื่อคลำแล้วพบก้อนกลมใต้ผิวหนัง ขอบเรียบ สามารถขยับได้เล็กน้อย และซีสต์ที่อวัยวะภายใน มักไม่ค่อยแสดงอาการ ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวว่ามีซีสต์อยู่ในร่างกาย ยกเว้นกรณีที่มีขนาดใหญ่มาก ทั้งนี้ซีสต์ส่วนใหญ่มักไม่อันตราย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับก้อนไขมันใต้ผิวหนัง ได้ที่ : ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง
ซีสต์ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

ซีสต์เกิดจากอะไรนั้นมักขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยตามประเภทของซีสต์ แต่โดยหลักแล้ว ซีสต์ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงานผิดปกติของร่างกาย เช่น เกิดการอุดตันของต่อมต่าง ๆ อย่างต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ หรือรูขุมขน ทำให้เกิดการพองตัวกลายเป็นถุงน้ำ คอยสะสมของเหลวจนมีขนาดใหญ่ขึ้น
บางครั้งอาจเกิดหลังจากผิวได้รับบาดเจ็บ ถูกทิ่ม แทง เป็นแผล ทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกไปขึ้นที่ผิวหนังแท้ แล้วมีเคราติน (Keratin) ไหลเข้าไป จนเกิดเป็นซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst) หรือซีสต์รังไข่ธรรมดาที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนของผู้หญิง เป็นต้น
ซีสต์ มีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร?
เนื่องจากซีสต์มีอยู่หลายชนิดมาก เกิน 100 ประเภท แต่ที่พบได้บ่อยคร่าว ๆ จะมีซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังหรือเรียกอีกชื่อว่า Epidermoid Cysts, ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst), ก้อนที่เปลือกตา (Chalazion), สิวซีสต์ (Cystic Acne) และซีสต์ที่บริเวณร่องก้น (Pilonidal Cyst) ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดได้ในทุกเพศ
แต่สำหรับประเภทของซีสต์ที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนควรระวัง ได้แก่ ซีสต์รังไข่หรือถุงน้ำรังไข่ ซึ่งสามารถแบ่งได้อีกหลายประเภท แต่ที่ควรรู้จักหลัก ๆ มีดังนี้
- ฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ (Functional Cyst) ถือเป็นชนิดที่พบได้บ่อย เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่ สามารถยุบลงได้เองโดยไม่ต้องรักษา
- ถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก (Tumor like condition) คือการที่เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยไปขึ้นที่รังไข่จนกลายเป็นถุงน้ำ ภายในมีเลือดเก่า ๆ ข้น ๆ สะสมอยู่ สีคล้ายช็อกโกแลต ทำให้ถูกเรียกว่าช็อกโกแลตซีต (Chocolate Cyst)
- เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Tumor หรือ Ovarian Cyst) แบ่งเป็นเนื้องอกธรรมดา เช่น Dermoid Cyst หรือ Benign teratoma โดยภายในถุงน้ำเหล่านี้มักประกอบด้วยไขมัน น้ำ ผม และฟัน ส่วนเนื้องอกชนิดมะเร็งจะมีข้อสังเกตเช่น ผิวขรุขระ ขอบไม่เรียบ เนื้อตัน ตรวจพบสาร CA-125 ในปริมาณสูง และก้อนโตเร็ว เป็นต้น
สัญญาณเตือนซีสต์รังไข่ อาการแบบไหนที่ควรไปหาหมอ?

ถ้าซีสต์ก้อนไม่ใหญ่ ส่วนมากมักไม่แสดงอาการ แต่ถ้าโตขึ้นเรื่อย ๆ มักมีอาการดังนี้
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากซีสต์โตเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ปวดท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานเรื้อรัง โดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือน
- ประจำเดือนผิดปกติ
- เจ็บท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์
- ท้องบวมหรือคลำเจอก้อนที่ท้องน้อย
- ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน รุนแรง เป็นสัญญาณของภาวะถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว (torsion) แตกหรือรั่ว (rupture or leakage) และติดเชื้อ (infection) กรณีนี้ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากมีอันตรายถึงชีวิต
วิธีการตรวจวินิจฉัยซีสต์
ซีสต์ที่ขึ้นบนผิวหนังหรือจับคลำได้ แพทย์จะสามารถวินิจฉัยเบื้องต้นได้ทันที แต่กรณีที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ซีสต์รังไข่ แพทย์จะมีขั้นตอนการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- ซักประวัติ พร้อมตรวจหน้าท้องและตรวจภายใน
- ทำการอัลตราซาวด์ เพื่อดูลักษณะก้อนซีสต์
- ตรวจซีทีสแกน (CT Scan) เพิ่มหากเห็นได้ไม่ชัด หรือพบก้อนคล้ายมะเร็ง
- ตรวจด้วยเครื่อง MRI ในเคสที่คาดว่าเป็นมะเร็ง และมีการลุกลามไปอวัยวะอื่น
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจระดับฮอร์โมน ตรวจเลือด CA-125 หรือตรวจชิ้นเนื้อ ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ประเภท และความรุนแรงของซีสต์ เพื่อให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำมากขึ้น
เมื่อตรวจพบก้อนซีสต์ ต้องรักษาอย่างไร?
การรักษาซีสต์แตกต่างกันไปตามประเภทและความรุนแรงของโรค โดยอาจรักษาด้วยยา การเจาะเอาของเหลวในก้อนซีสต์ออก หรือการผ่าตัด ซึ่งซีสต์รังไข่ก็สามารถรักษาด้วยวิธีเหล่านี้เช่นกัน โดยแพทย์อาจจ่ายยาฮอร์โมนเพศหญิงเพื่อลดขนาดถุงน้ำ ยับยั้งการเจริญเติบโต หรือผ่าตัดเลาะถุงน้ำรังไข่ออก (Ovarian cystectomy) ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยกับคนที่ยังต้องการมีบุตร ส่วนการผ่าตัดเอารังไข่ออก (Unilateral Oophorectomy) จะทำในกรณีที่รังไข่เน่าหรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน และสงสัยว่ามีเซลล์มะเร็ง
อยากผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ต้องห้ามพลาดสาระดี ๆ ที่นี่ : ผ่าตัดส่องกล้อง
แนวทางป้องกันการเกิดซีสต์ ลดผลเสียต่อสุขภาพ

ซีสต์บางประเภทก็ยังไม่มีวิธีป้องกันอย่างแน่ชัด แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงให้น้อยลงได้ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเสมอ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันกับระบบน้ำเหลือทำงานเต็มประสิทธิภาพ จะช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ดี นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปีกับตรวจภายในเป็นประจำ จะช่วยให้พบความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกายได้รวดเร็ว ป้องกันการเกิดก้อนซีสต์ขนาดใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
ข้อควรปฏิบัติหลังผ่าตัดซีสต์ ให้แผลฟื้นตัวไว
หลังผ่าตัดซีสต์รังไข่ หากต้องการให้แผลหายไว ฟื้นฟูได้ดี ควรปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้
- หลังผ่าตัด ควรนอนศีรษะสูง งอเข่าเล็กน้อย เพื่อลดการดึงรั้งของแผล
- ทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
- งดมีเพศสัมพันธ์ 1 เดือน
- ห้ามให้แผลโดนน้ำอย่างน้อย 7 วัน เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ
- ไม่สวนล้างช่องคลอด
- งดออกกำลังกายหนักหรือยกของเกิน 4 กิโลกรัม เป็นเวลา 1 เดือน
- มาตามนัดแพทย์เสมอ แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูง แผลบวมแดงมาก ปวดท้องแต่กินยาแก้ปวดแล้วไม่หาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ซีสต์ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าดูแลเป็น รักษาไว
ซีสต์ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย แต่สิ่งที่ผู้หญิงควรใส่ใจให้มากคือซีสต์รังไข่ ซึ่งหากมีขนาดเล็กมักไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเป็นก้อนใหญ่จะส่งผลให้รู้สึกปวดหน่วงท้องน้อย ประจำเดือนผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย หากมีอาการรุนแรงอย่างภาวะถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรหมั่นตรวจร่างกายประจำปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดูแลก้อนซีสต์ที่เกิดขึ้นในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันไม่ให้ก้อนซีสต์โตมาก ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงการเกิดมะเร็งอีกด้วย
สำหรับผู้ที่อยากตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ โรงพยาบาลพระรามเก้ามีบริการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตรวจร่างกายสำหรับคนรักสุขภาพ หากสนใจสามารถติดต่อโรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ที่
- Facebook: Praram 9 hospital
- Line @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับซีสต์
ซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ ใช่มะเร็งไหม?
ซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ธรรมดาที่บรรจุของเหลวไว้ภายใน มีโอกาสน้อยมากที่จะกลายเป็นมะเร็ง ยกเว้นถุงน้ำรังไข่ที่เป็นเนื้องอกชนิดร้าย ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อตัน เช่น serous หรือ mucinous cystadenocarcinoma เป็นต้น หากมีสัญญาณอันตราย ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็งเพิ่มเติม
ซีสต์สามารถหายเองได้หรือไม่?
ซีสต์หายเองได้ไหม? หากมีขนาดเล็ก ไม่มีอาการอักเสบหรือติดเชื้อ กดแล้วไม่เจ็บ จะสามารถหายได้เองหรือไม่จำเป็นต้องเข้ารักษา แต่ควรสังเกตถุงน้ำเป็นประจำ หากซีสต์ใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว รู้สึกเจ็บ ควรรีบพบแพทย์ทันที
References
Alex Novakovic. (2023, February 15). Ovarian cysts: What you need to know. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/179031
Cecilia Bottomley and Tom Bourne. (2009, March 18). Diagnosis and management of ovarian cyst accidents. ScienceDirect. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S152169340900042X
Sadia Mobeen and Radu Apostol. (2023, June 5). Ovarian Cyst. National Library of Medicine. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560541/