เลือดออกในสมอง ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดมักขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาณเตือนของภาวะดังกล่าว
การตระหนักรู้และทำความเข้าใจถึงอาการและปัจจัยเสี่ยงของภาวะเลือดออกในสมองอย่างถูกต้อง จะช่วยให้สามารถเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อโอกาสในการฟื้นตัว และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างใกล้เคียงปกติอีกครั้ง
Key Takeaways
- เลือดออกในสมองจัดอยู่ในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง ที่เกิดขึ้นจากหลอดเลือดในสมองแตกและมีเลือดซึมในสมอง
- เลือดออกในสมองทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น สมองบวม ความดันในกะโหลกสูง และเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทขึ้น
- อาการเลือดคั่งในสมองที่ปรากฏขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณเลือดที่คั่งในสมอง โดยอาการทั่วไปที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง อ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว มองเห็นผิดปกติ สับสน หมดสติ ฯลฯ
- เลือดออกในสมองจำเป็นต้องรับการรักษาโดยเร็ว เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินที่สามารถก่อให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น
สารบัญบทความ
- เลือดออกในสมองคืออะไร?
- สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองเกิดจากอะไร
- อาการเลือดออกในสมอง สังเกตได้ไว รับการรักษาได้ทันท่วงที
- การวินิจฉัยเลือดออกในสมอง
- แนวทางการรักษาเลือดออกในสมอง
- แนวทางการฟื้นฟูหลังรับการรักษาเลือดออกในสมอง
- เราสามารถป้องกันเลือดออกในสมองได้หรือไม่?
- เลือดออกในสมองป้องกันและรักษาได้ หากเข้าใจและรับการรักษาทันท่วงที
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลือดออกในสมอง
เลือดออกในสมองคืออะไร?
เลือดออกในสมอง (Intracerebral Hemorrhage; ICH) คือภาวะที่หลอดเลือดภายในสมองแตก ส่งผลให้เลือดรั่วไหลออกจากหลอดเลือดและคั่งอยู่ภายในเนื้อสมอง เลือดที่คั่งอยู่นี้จะกดทับเนื้อสมองโดยรอบ ทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และอาจเกิดความเสียหายถาวรต่อสมอง
เลือดออกในสมองจัดอยู่ในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าโรคหลอดเลือดสมองแบบขาดเลือด เนื่องจากเลือดที่คั่งในสมองทำให้เกิดแรงดันในสมองเพิ่มขึ้นจนทำให้การทำงานของสมองส่วนนั้นล้มเหลว
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองเกิดจากอะไร
ภาวะเลือดออกในสมองสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากอุบัติเหตุที่ทำให้ศีรษะเกิดการกระแทก และจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดสมอง ซึ่งสามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดเลือดคั่งในสมองได้อีกเป็นสองประเภท ดังนี้
Primary Intracerebral Hemorrhage
เป็นสาเหตุที่พบได้มากถึง 85% ของภาวะเลือดออกในสมองทั้งหมด ซึ่งสาเหตุนี้มักจะไม่พบความผิดปกติทางพยาธิวิทยา และพบบ่อยในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง หรืออายุมาก
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงเป็นเวลานานทำให้หลอดเลือดเสื่อม หนา และเปราะ หรืออาจเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองเล็ก ๆ ขึ้นได้
- ผนังหลอดเลือดในสมองเปราะ (Cerebral amyloid angiopathy) เกิดจากการสะสมของโปรตีนอะไมลอนด์ภายในผนังหลอดเลือดสมอง พบมากในผู้สูงอายุ
ปัจจัยดังกล่าวนั้นทำให้หลอดเลือดในสมองเปราะ เมื่อความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน หรือเกิดการกระทบกระเทือนจากภายนอก หลอดเลือดที่เปราะไม่สามารถทนแรงดันจากเลือดได้จึงทำให้เลือดออกในสมอง
Secondary Intracerebral Hemorrhage
เป็นภาวะเลือดออกในสมองที่มีสาเหตุชัดเจน สามารถพบความผิดปกติทางพยาธิวิทยา โดยสาเหตุที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่
- โรคหลอดเลือดผิดปกติ (Vascular malformations) เช่น AVM (Arteriovenous malformation) หรือ Cavernous malformations เป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงกับหลอดเลือดดำเชื่อมกันโดยไม่มีเส้นเลือดฝอย ซึ่งหลอดเลือดดำมีผนังที่บางกว่าจึงไม่สามารถทนแรงดันเลือดที่พบได้ในหลอดเลือดเเดงปกติ ทำให้มีโอกาสแตกง่าย พบมากในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการเลือดออกในสมอง
- หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysms) เกิดจากผนังหลอดเลือดเสื่อมสภาพ ทำให้เส้นเลือดโป่งพองและแตกออก
- เนื้องอกในสมอง (Brain tumor) สามารถก่อให้เกิดเลือดออกในสมองได้จากการที่เนื้องอกเจริญเติบโตไปทำลายหลอดเลือด หรือหลอดเลือดใหม่ที่ถูกสร้างเพื่อหล่อเลี้ยงเนื้องอกเกิดแตกตัว
- ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด โดยอาจเกิดขึ้นจากโรคทางพันธุกรรม (Hemophilia, Thrombocytopenia) หรือจากผลข้างเคียงของยารักษาโรค (Warfarin, Aspirin) ซึ่งทำให้เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก
- การใช้สารเสพติด เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ โคเคน ซึ่งสารเหล่านี้ทำให้ความดันโลหิตสูง และยังทำลายหลอดเลือด ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ โป่งพอง
อาการเลือดออกในสมอง สังเกตได้ไว รับการรักษาได้ทันท่วงที

เลือดออกในสมอง อาการรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่หลอดเลือดแตก และปริมาณที่เลือดคั่งในสมอง แต่โดยทั่วไปมักจะพบอาการดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน (Thunderclap Headache) อาจพบอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
- มีอาการอ่อนแรง หรือชาด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
- สูญเสียการทรงตัวและการเคลื่อนไหว
- การมองเห็นผิดปกติ หรือสูญเสียการมองเห็นบางส่วน
- พูดไม่ชัด หรือโต้ตอบกลับไม่ได้
- มีอาการชักหรือเกร็ง
- เกิดอาการสับสน ซึม หมดสติ
ภาวะเลือดออกในสมองสามารถสังเกตได้ หากพบเร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสที่จะรอดชีวิตและกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้สูงขึ้น
การวินิจฉัยเลือดออกในสมอง
โอกาสรอดชีวิตและการฟื้นตัวของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำในช่วงเวลาทอง (Golden time) เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล จะมีขั้นตอนการวินิจฉัยคัดกรองโรคดังนี้
- แพทย์ซักประวัติ สอบถามอาการผู้ป่วย และตรวจระบบประสาท เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น
- ส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาตำแหน่งเลือดออกในสมอง โดยเฉพาะ CT Scan ซึ่งเป็นการส่งตรวจขั้นต้นสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยโรคดังกล่าว
- แพทย์อาจขอตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ เช่น MRI Brain เหมาะกับการหาสาเหตุซ่อนเร้นที่อาจไม่เร่งด่วนมาก CT Angiography เพื่อดูสภาพหลอดเลือดสมอง การตรวจเลือด เพื่อดูความสามารถในการแข็งตัวของเลือด ค่าเกล็ดเลือด การอักเสบ เป็นต้น
แนวทางการรักษาเลือดออกในสมอง

การได้รับการรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็วช่วยลดความเสียหายจากเลือดออกในสมอง และยังช่วยให้สมองสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เร็วขึ้น ซึ่งจะใช้วิธีรักษาแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเลือดที่ออกในสมอง และปริมาณเลือดที่ไหลออก
การผ่าตัด
เป็นวิธีรักษาเลือดคั่งในสมองระดับรุนแรง คือ มีเลือดออกปริมาณมาก มีการกดทับเนื้อสมองจนบวม ซึ่งแพทย์อาจจะเลือกวิธีผ่าตัดสมองที่เหมาะสมกับอาการ เช่น
- การใส่ท่อระบายน้ำไขสันหลังหรือเลือดในโพรงสมอง (External Ventricular Drainage – EVD) เพื่อระบายน้ำไขสันหลังหรือเลือดที่คั่งในสมอง
- การผ่าตัดระบายก้อนเลือด (Craniotomy with Hematoma Evacuation) เปิดกะโหลกศีรษะเพื่อนำเลือดหรือลิ่มเลือดอุดตันออกจากเนื้อสมองที่เป็นสาเหตุของสมองบวม
- การผ่าตัดผ่านกล้องขนาดเล็ก (Minimally Invasive Surgery / Endoscopic Evacuation) โดยการส่องกล้องและดูดเอาก้อนเลือดผ่านรูเจาะขนาดเล็ก วิธีนี้ลดความเสียหายของเนื้อสมองและลดการบาดเจ็บจากการเปิดกะโหลกได้
- การผ่าตัดรักษาความผิดปกติของหลอดเลือด (Aneurysm Clipping / AVM Resection) ใช้รักษาหลอดเลือดในสมองแตกจากหลอดเลือดโป่งพองหรือหลอดเลือดผิดปกติ
การใช้ยา
เป็นวิธีรักษาเลือดออกในสมองที่ไม่รุนแรง เลือดออกเล็กน้อย ไม่มีอาการวิกฤติ โดยแพทย์จะจ่ายยาลดบวมในสมอง เพื่อลดความเสียหายของสมอง รวมถึงการจ่ายยาที่ช่วยลดโอกาสเกิดหลอดเลือดในสมองแตก เช่น ยาลดความดัน ยาห้ามเลือด ฯลฯ
แนวทางการฟื้นฟูหลังรับการรักษาเลือดออกในสมอง
หลังได้รับการรักษาเลือดออกในสมองแล้วผู้ป่วยอาจต้องทำการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติอีกครั้ง โดยอาจมีการทำกายภาพบำบัด การฝึกพูด และการฟื้นฟูการทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงการแนะนำแนวทางปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำ ซึ่งระยะเวลาในการฟื้นฟูขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น
เราสามารถป้องกันเลือดออกในสมองได้หรือไม่?
เลือดออกในสมองสามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะสาเหตุที่ควบคุมได้ ดังนี้
- ป้องกันศีรษะกระทบกระเทือนการเกิดอุบัติเหตุด้วยการใส่หมวกกันน็อค หรือคาดเข็มขัดนิรภัยกรณีขับขี่หรือเล่นกีฬาผาดโผน
- ป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตสูง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกายและหลอดเลือด
- ควบคุมอาหารและน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงไขมันในเลือดสูง
- ไม่ใช่สารเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดเสื่อม
- กรณีที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือมีโรคประจำตัวใด ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยหลอดเลือดในสมองแตก ควรเข้ารับการติดตามกับแพทย์อยู่เสมอ
เลือดออกในสมองป้องกันและรักษาได้ หากเข้าใจและรับการรักษาทันท่วงที
เลือดออกในสมอง เป็นภาวะฉุกเฉินที่รุนแรงและอาจก่อให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้เลย ดังนั้น เวลา จึงเป็นกุญแจสำคัญที่มีผลต่อโอกาสการรอดชีวิตและการฟื้นตัวของผู้ป่วยในระยะยาว หากมีความรู้และความเข้าใจถึงอาการหรือสัญญาณเตือนภาวะเลือดออกในสมอง ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีและกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติอีกครั้ง
เพราะทุกนาทีคือโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระรามเก้า เรามุ่งมั่นที่จะวินิจฉัยและรักษาอย่างแม่นยำ รวดเร็ว โดยแพทย์เฉพาะทางโรคสมองและระบบประสาท นอกจากนี้ เรายังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการรักษาด้วยการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคซ้ำในระยะยาว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลือดออกในสมอง
1. เลือดออกในสมองอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?
เลือดออกในสมองอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น สมองบวม สมองเคลื่อนตัว เลือดออกซ้ำ อาการชัก อัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้
2. เลือดออกในสมองมีโอกาสรอดเท่าไหร่?
โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยเลือดออกในสมองจะมีโอกาสรอดรอดชีวิตในระยะเวลา 5 ปีจะอยู่ที่ 26.7% นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 4 คนจะมีชีวิตอยู่เกิน 5 ปี หลังจากมีเลือดคั่งในสมอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เลือดออก ความรุนแรง การได้รับการรักษาที่รวดเร็วและแม่นยำ
References
Liebeskind, DS. (2018, December 7). Intracranial Hemorrhage. Medscape. https://emedicine.medscape.com/article/1163977-overview?form=fpf#a4
Memon, N. (n.d.). What Are the Chances of Surviving Bleeding in the Brain?. MedicineNet. https://www.medicinenet.com/chances_of_surviving_bleeding_in_the_brain/article.htm
Rajashekar, D & Liang, JW. (2023, February 6). Intracerebral Hemorrhage. [Updated 2023 Feb 6]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2025 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK553103/