เอ็นไขว้หน้าเข่ามีความสำคัญมากโดยเฉพาะนักกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวรวดเร็ว แต่หากมีการเคลื่อนไหวบิดเข่าที่รุนแรงเกินไปอาจทำให้เอ็นไขว้หน้าขาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวโดยตรง ข้อเข่าจะเสียความมั่นคง และมีความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นจากการไม่มีเอ็นไขว้หน้า
Key Takeaways
- เอ็นไขว้หน้ามีหน้าที่เพิ่มความมั่นคงให้กับข้อเข่า และช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวข้อเข่าไม่ให้เกิดการเคลื่อนผิดตำแหน่ง
- เอ็นไขว้หน้าขาดจะทำให้ข้อเข่าสูญเสียความมั่นคง เกิดภาวะข้อเข่าหลวม ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว และอาจเพิ่มความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมในอนาคต
- การรักษาเอ็นไขว้หน้าขาดสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัด หรือรักษาแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้งานข้อเข่าหนัก ๆ
สารบัญบทความ
- ความสำคัญของเอ็นไขว้หน้า
- เอ็นไขว้หน้าขาด มีอาการอย่างไร?
- เอ็นไขว้หน้าขาดเกิดจากสาเหตุใดบ้าง?
- ใครที่มีโอกาสเกิดเอ็นไขว้หน้าขาด
- การตรวจวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าขาด
- วิธีการรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด
- การปฐมพยาบาลและดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเอ็นไขว้หน้าขาด
- รักษาเอ็นไขว้หน้าขาด เพื่อกลับไปเคลื่อนไหวได้ดีอีกครั้ง ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะเอ็นไขว้หน้าขาด
ความสำคัญของเอ็นไขว้หน้า
เอ็นไขว้หน้าเข่า (Anterior Cruciate Ligament – ACL) คือ เอ็นสำคัญในข้อเข่าที่เชื่อมระหว่างปลายกระดูกต้นขาด้านหลัง พาดไขว้มายังต้นกระดูกหน้าแข้งด้านหน้า มีหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหว ให้ข้อเข่ามีความมั่นคง ไม่ให้หลวมเคลื่อนผิดตำแหน่ง และป้องกันการบาดเจ็บของผิวข้อเข่าจากการเคลื่อนไหวในลักษณะบิดหมุนข้อเข่า
ซึ่งเอ็นไขว้หน้ามักจะถูกใช้งานมาก ๆ ในนักกีฬาที่ต้องการความว่องไวในการเคลื่อนไหว เช่น แบดมินตัน เทนนิส ฟุตบอล บาสเกตบอล ฯลฯ หากมีการเคลื่อนไหวบิดเข่าที่รุนแรงและรวดเร็วเกินไปอาจทำให้เอ็นไขว้หน้าฉีกขาดได้
เอ็นไขว้หน้าขาด มีอาการอย่างไร?

การเคลื่อนไหวที่รุนแรงอาจทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวข้อเข่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
1. อาการเอ็นไขว้หน้าขาดเฉียบพลัน
หลังจากเอ็นไขว้หน้าขาดทันที ผู้ป่วยจะได้ยินหัวเข่ามีเสียงหรือรู้สึกมีอะไรดีดอยู่ในข้อเข่า และมีอาการปวดเข่ารุนแรงจนไม่สามารถเหยียดงอหรือลงน้ำหนักได้เลย รวมถึงมีอาการบวมจากเลือดคั่งในข้อเข่าด้วย
2. อาการเอ็นไขว้หน้าขาดในระยะยาว
เอ็นไขว้หน้าขาดมักจะไม่สามารถฟื้นฟูด้วยตนเองได้ ในระยะยาวจึงมักพบอาการข้อเข่าหลวม ข้อเข่าเกิดการเคลื่อนไหวผิดตำแหน่ง ไม่สามารถวิ่งหรือเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม และมีอาการปวดเข่าเรื้อรัง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม จนต้องเข้ารับการผ่าตัดเข่าเสื่อมในอนาคต เนื่องจากข้อเข่าหลวมทำให้ผิวข้อเข่าเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
เอ็นไขว้หน้าขาดเกิดจากสาเหตุใดบ้าง?
เอ็นไขว้หน้าขาดสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลักดังต่อไปนี้
การเล่นกีฬา
สาเหตุที่พบบ่อยในผู้ที่เอ็นไขว้หน้าขาดคือการเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เคลื่อนไหวรุนแรง หรือมีการเปลี่ยนทิศทางการหมุนข้อเข่าอย่างรวดเร็วจนเกิดการฉีกขาดขึ้น
การเกิดอุบัติเหตุ
เอ็นไขว้หน้าขาดไม่ได้เกิดเฉพาะแค่กับนักกีฬาเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่ารุนแรง ทำให้เข่าบิดผิดรูป เช่น ตกบันได อุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าอาจเกิดขึ้นแบบทันทีทันใดหรือเกิดจากการบาดเจ็บสะสมของเอ็นไขว้หน้าก็ได้
ใครที่มีโอกาสเกิดเอ็นไขว้หน้าขาด

- นักกีฬาหรือผู้ที่ชอบเล่นกีฬา เนื่องจากการเล่นกีฬาจะต้องมีการเคลื่อนไหวข้อเข่าที่รวดเร็วและรุนแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการบิดเข่าเพื่อเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว การหยุดกะทันหัน การกระโดด กระแทก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่เพิ่มโอกาสให้เอ็นไขว้หน้าได้รับบาดเจ็บและฉีกขาดได้
- ผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงมักมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบเข่าน้อยกว่าผู้ชาย หากมีการบาดเจ็บที่บริเวณข้อเข่าจึงมีโอกาสที่เอ็นไขว้หน้าขาดมากกว่า
การตรวจวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าขาด
การตรวจวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าขาดสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ : แพทย์จะมีการสอบถามสาเหตุการบาดเจ็บข้อเข่า เจ็บปวดบริเวณไหน ระดับความเจ็บปวดเท่าไหร่ และสังเกตถึงลักษณะการบาดเจ็บข้อเข่าด้วยตาเปล่า เช่น ข้อเข่าบวมมากไหม มีการบิดผิดรูปหรือไม่
- การเอกซเรย์ : เพื่อดูว่าอาการบาดเจ็บที่ข้อเข่าเกิดจากการแตกหักของกระดูกหรือไม่
- การทำ MRI : เพื่อตรวจประเมินโครงสร้างภายในข้อเข่าอย่างละเอียด โดยแพทย์จะสามารถมองเห็นการบาดเจ็บของเอ็น กล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกเข่าและผิวกระดูกอย่างชัดเจน ซึ่งในการตรวจ MRI จะทำให้ทราบว่าการบาดเจ็บข้อเข่าเกิดขึ้นจากเอ็นไขว้หน้าขาดจริงหรือไม่
วิธีการรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด
เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าอาการปวดเข่าเกิดจากเอ็นไขว้หน้าขาด จะมีแนวทางการรักษาอยู่ 2 รูปแบบคือการรักษาแบบประคับประคอง และการรักษาด้วยการผ่าตัด
- การรักษาแบบประคับประคอง
หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นจากเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพียงเส้นเดียว ไม่มีการบาดเจ็บจากเอ็นเส้นอื่นหรือการบาดเจ็บที่หมอนรองกระดูกร่วมด้วย ข้อเข่ายังไม่หลวมมาก และไม่ใช่ผู้ที่ต้องใช้งานข้อเข่าที่ต้องมีการบิดหมุนบ่อย ๆ อย่างผู้สูงอายุ ก็สามารถเลือกการรักษาแบบประคับประคอง ด้วยการใช้ยาบรรเทาอาการปวด ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบเข่าสามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ช่วยทำหน้าที่ทดแทนเอ็นไขว้หน้าที่ขาดไปได้
- การรักษาด้วยการผ่าตัด
หากเอ็นไขว้หน้าขาดร่วมกับการบาดเจ็บตำแหน่งอื่นในข้อเข่า เช่น หมอนรองกระดูกฉีกขาด เอ็นอื่น ๆ ฉีกขาด ผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าหลวมไม่มั่นคง หรือผู้ป่วยอายุน้อย และยังต้องการใช้งานข้อเข่าได้เต็มประสิทธิภาพ อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้า ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าสามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องแผลเล็ก ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อใกล้เคียง ใช้เวลาพักฟื้นน้อย ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าได้เร็วยิ่งขึ้น
การปฐมพยาบาลและดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเอ็นไขว้หน้าขาด
หากมีการบาดเจ็บที่ข้อเข่า สามารถปฐมพยาบาลและดูแลตนเองเบื้องต้นได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หยุดการเคลื่อนไหวข้อเข่าทันที และยกขาให้อยู่ในท่าทางเหยียดตรง
- ประคบเย็นบริเวณข้อเข่า
- ให้ลองขยับข้อเข่าอย่างช้า ๆ ว่ายังมีอาการเจ็บปวดอยู่หรือไม่ หากเจ็บปวดจนไม่สามารถขยับข้อเข่าได้เลยให้ทำการดามข้อเข่าและพบแพทย์ทันที
แต่ในกรณีที่ข้อเข่าบิดผิดรูป ให้รีบพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องกด หรือจัดให้กลับเข้าที่ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ
รักษาเอ็นไขว้หน้าขาด เพื่อกลับไปเคลื่อนไหวได้ดีอีกครั้ง ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า
เอ็นไขว้หน้าขาด อาจไม่ได้พบบ่อยในบุคคลทั่วไป แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาจต้องเข้ารับการรักษาโดยเร็วเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตได้อีกครั้ง และป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวในอนาคต
ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า เราใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ด้วยการประเมิน วินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล โดยทีมแพทย์เฉพาะทางประจำศูนย์รักษ์ข้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับมาก้าวเดินได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะเอ็นไขว้หน้าขาด
เอ็นไขว้หน้าขาด ไม่ผ่าตัดได้ไหม?
เอ็นไขว้หน้าขาดอาจไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการบาดเจ็บจากเอ็นไขว้หน้าขาดเส้นเดียว และไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้งานข้อเข่าบ่อย ๆ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ
เอ็นไขว้หน้าขาด จะกลับมาเดินและเล่นกีฬาได้ไหม?
หลังรับการผ่าตัดแก้ไขเอ็นไขว้หน้าขาด และทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาเดินและเล่นกีฬาได้อีกครั้ง
References
Anterior Cruciate Ligament (ACL) Injuries. (n.d.). orthoinfo. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases–conditions/anterior-cruciate-ligament-acl-injuries/
Benjamin, C. (2024, June 17). Anterior cruciate ligament (ACL) injury. MedlinePlus. https://medlineplus.gov/ency/article/001074.htm
Evans, J., Mabrouk, A., & Nielson, J. L. (2023, November 17). Anterior cruciate ligament knee injury. In StatPearls. StatPearls Publishing. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK499848/