บทความสุขภาพ

Knowledge

“ภูมิแพ้ผิวหนัง” จัดการได้

หลายท่านคงเคยได้ยินถึงโรคภูมิแพ้ที่ทำให้มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล จากการแพ้ไรฝุ่น แพ้เกสรดอกไม้ หรือบางคนแพ้อาหาร แพ้ยา แต่นอกจากโรคภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารแล้ว อีกส่วนหนึ่งของร่างกายที่สามารถเกิดภูมิแพ้ได้เช่นกัน คือ ผิวหนัง


สมัยเด็ก ๆ บางคนคงมีบ้างที่เคยรู้สึกคัน ๆ ตามข้อพับเข่า หรือข้อพับศอก เป็น ๆ หาย ๆ บางครั้งเกาจนผิวเป็นผื่นนูนแดง เกาจนถลอกเป็นแผล หรือบางทีก็เผลอเกาอีกจนเป็นแผลติดเชื้อ ขึ้นตุ่มหนอง บางคนอาจเรียกว่า “น้ำเหลืองไม่ดี” และเมื่อแผลหายก็อาจกลายเป็นรอยคล้ำที่ผิว ทำให้ผิวไม่เนียนสวย แต่ทราบหรือไม่ว่า อาการโรคผิวหนังที่กล่าวมานี้คือ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง



ภูมิแพ้ผิวหนังคืออะไร?


โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือที่เรียกว่า atopic dermatitis หรือ eczema เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เกิดที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ โดยโรคภูมิแพ้ผิวหนังมีการเรียกกันในภาษาไทยอยู่หลายชื่อ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบไวเกิน โรคผิวไว ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนหมายถึงโรคเดียวกัน คือ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง


โรคภูมิแพ้ผิวหนังพบได้บ่อยที่สุดในเด็ก เป็นโรคที่ไม่ใช่โรคติดต่อ อยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ หรือร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้ สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความไวและตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มากเกินปกติ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ผิวหนังจึงมักมีความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคไข้ละอองฟาง



ภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากอะไร?


ภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้จากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังนี้


  • ปัจจัยภายใน คือ ลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ หากมีคนในครอบครัว เช่น พ่อหรือแม่เป็นภูมิแพ้ ก็มักจะพบว่าลูกก็จะมีแนวโน้มเป็นภูมิแพ้ด้วยเช่นกัน แต่สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนอาจจะมีอาการ ความรุนแรง ความไว และสารก่อภูมิแพ้ที่แตกต่างกันไป
  • ปัจจัยภายนอก คือ สารใด ๆ ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบได้ เรียกโดยรวมว่า สารก่อภูมิแพ้ เช่น แมลง ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ สารเคมีที่ก่อความระคายเคือง เป็นต้น หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อากาศมีอุณหภูมิร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป อากาศแห้งหรือชื้นเกินไป ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสามารถกระตุ้นให้ภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบได้เช่นกัน


อาการของภูมิแพ้ผิวหนัง และบริเวณที่พบได้บ่อย


โรคภูมิแพ้ผิวหนังโดยทั่วไปจะทำให้มีอาการคัน ผิวแห้ง มีผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดง แต่จะมีลักษณะเฉพาะและบริเวณของร่างกายที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ ดังต่อไปนี้


  1. ช่วงวัยทารกอายุ 2 เดือนจนถึง 2 ปี มักจะมีอาการเริ่มจากผื่นแดงคันบริเวณแก้ม หน้าผาก และบริเวณที่มีการถูไถ เสียดสี หรือสัมผัสกับที่นอน เช่น แก้มและหน้าผากในช่วงที่เด็กคว่ำ หรือ ข้อศอกและเข่าในช่วงที่เด็กเริ่มคลาน โดยผื่นแดงคันนั้นอาจมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำเล็ก ๆ ร่วมด้วย ถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มแล้วตกสะเก็ด อาจพบรอยเกา ในทารกที่มีอาการรุนแรง ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า จนถึงขั้นลุกลามไปทั่วร่างกายได้
  2. ช่วงวัยเด็ก ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กมักมีลักษณะเป็นผื่นบวมแดง คันยุบยิบ และลอกเป็นขุย ตำแหน่งที่พบบ่อยคือตามข้อพับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณข้อพับด้านในศอก ข้อพับเข่าที่ขา รอบคอ ข้อมือหรือข้อเท้า โดยมักเป็นซ้ำ ๆ ในบริเวณเดิมที่เคยเป็นมาก่อน หากอาการรุนแรงก็อาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นได้เช่นกัน ผื่นคันมักมีตุ่มนูนแดงแห้ง ๆ มีขุยเล็กน้อย แต่มักจะไม่พบตุ่มน้ำแตกน้ำเหลืองไหลเหมือนที่พบในทารก ในผู้ป่วยที่มีอาการอยู่นานอาจทำให้ผื่นแดงหนาตัวขึ้นกลายเป็นสีน้ำตาลคล้ำ อาการคันมักทำให้ผู้ป่วยเกาจนเกิดแผลถลอก และทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
  3. ช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ อาการส่วนใหญ่มักจะดีขึ้นจนเหมือนหายไป แต่อาการที่อาจจะยังมีเหลืออยู่ คือ ผิวแห้ง คันบริเวณหลังเท้า ขึ้นผื่นที่รอบคอ ผิวหนังที่ฝ่ามืออักเสบและแพ้สารต่าง ๆ ได้ง่าย อาจมีผิวแห้งมากในบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า แห้งจนผิวแตก และอาจมีเลือดออกซิบ ๆ ได้


การดำเนินโรคของภูมิแพ้ผิวหนัง


ภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบมากในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการครั้งแรกตั้งแต่วัยทารกก่อนจะอายุครบ 1 ปี หรืออาจเริ่มเป็นในช่วงวัยอนุบาล แต่อาการของโรคจะเป็น ๆ หาย ๆ มีระยะเวลาที่โรคสงบทิ้งช่วง สลับกับอาการกำเริบขึ้นมาเป็นพัก ๆ โดยอาการมักจะดีขึ้นจนเหมือนหายไปได้เองในช่วงก่อนวัยรุ่น อย่างไรก็ตามจะยังมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะยังคงมีอาการจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรืออาจจะกำเริบขึ้นได้หากมีปัจจัยกระตุ้น ด้วยลักษณะการดำเนินโรคเช่นนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจจะพอเบาใจได้ว่าอาการป่วยของลูกจะดีขึ้นได้เมื่อโตขึ้น ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลจนเกินไป หากมีปัญหาอาการคันควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาและข้อแนะนำที่ถูกต้อง



ปัจจัยกระตุ้นอาการภูมิแพ้ผิวหนัง


  • สารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม เช่น ละอองเกสร แมลง ขนสัตว์ ไรฝุ่น เป็นต้น
  • เสื้อผ้า ผ้าห่ม หรือเครื่องประดับที่มีขน ไม่ว่าจะเป็นขนสังเคราะห์หรือขนสัตว์
  • ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ
  • การเปิดแอร์เย็นจัด
  • ฝุ่นละออง PM2.5
  • การแพ้อาหารบางชนิด


เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?


หากภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น คันจนนอนไม่หลับ คันจนต้องเกาตลอดเวลา เสียบุคลิกภาพ ผิวหนังบวมแดงมากจนเจ็บ มีขึ้นตุ่มหนอง ผิวหลุดลอก น้ำเหลืองไหล ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการก่อนที่จะเป็นรอยแผลเป็นหรือรอยดำซึ่งจะเป็นผลเสียในระยะยาว



การวินิจฉัยภูมิแพ้ผิวหนัง


โรคภูมิแพ้ผิวหนังสามารถวินิจฉัยได้จาก


  • การซักประวัติ โดยเฉพาะประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกายบริเวณผิวหนังที่มีอาการคัน
  • การซักประวัติการเป็นภูมิแพ้ไม่ว่าชนิดใด ๆ ทั้งผู้ป่วยเองและสมาชิกในครอบครัว
  • อาจมีการทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้เพิ่มเติมเพื่อประกอบการวางแผนในการดูแลรักษาต่อไป


การดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง


เนื่องจากภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากปัจจัยภายในคือพันธุกรรมของตัวผู้ป่วยเอง การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้อาการคันลุกลาม เกิดการถลอก ติดเชื้อ หรือเกิดรอยแผลเป็นตามมาได้ และรวมไปถึงการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบหรืออาการแย่ลง เช่น


  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ
  • ไม่เกา เพราะการเกาจะทำให้ผื่นเห่อมากขึ้น และสามารถใช้ยาเพื่อลดอาการคันได้
  • ใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง โดยควรทาหลังจากอาบน้ำทันที และทาซ้ำหากยังรู้สึกผิวแห้งอยู่
  • แพทย์อาจสั่งยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์และกลุ่มยากดภูมิให้ผู้ป่วย เนื่องจากภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป การใช้ยาทาที่มีฤทธิ์ยับยั้งภูมิคุ้มกันจึงช่วยควบคุมโรคและลดการอักเสบของผิวหนังได้ดี อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • หากมีตุ่มหนองขึ้น แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย


การป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนัง


  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดหรือกดดันจนเกินไป
  • หมั่นทามอยส์เจอไรเซอร์บำรุงผิวหนัง
  • ไม่อาบน้ำอุ่นนาน
  • หลีกเลี่ยงสบู่ และสารทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นด่าง หรือระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมอาการในช่วงที่ภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ต้องทำอย่างต่อเนื่องและเป็นระยะยาว ดังนั้นในเด็ก ผู้ปกครองจึงควรหมั่นดูแล และสังเกตอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง เพื่อป้องการอาการกำเริบ และการติดเชื้อแทรกซ้อน



สรุป


ภูมิแพ้ผิวหนัง แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถบรรเทาอาการและจัดการควบคุมโรคให้สงบจนไม่มีอาการได้ ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของโรค การหลีกเลี่ยง และป้องการปัจจัยกระตุ้นอาการต่าง ๆ ซึ่งหากมีอาการกำเริบก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม



ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ รักษาใจเต้นผิดจังหวะ ให้กลับสู่ภาวะปกติ

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation) จะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่องจะช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับระดับปกติอีกครั้ง

รู้จัก ASD คืออะไร? ผนังหัวใจรั่วอาการเป็นแบบไหน รักษายังไงดี

ชวนรู้จัก ASD หรือ ภาวะผนังกั้นหัวใจรั่วคืออะไร ผนังหัวใจรั่ว อันตรายไหม? มาเช็กต้นตอสาเหตุ อาการของ ASD แนวทางการรักษา พร้อมวิธีดูแลให้หัวใจห้องบนแข็งแรง!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital