กุมารเวช: เมื่อมีลูกแฝด
เมื่อมีลูกแฝด
(HAVING TWINS)
พ.ญ.พรรณพิศ สุพรหมจักร
พ.ญ.สุภาพร ปิตวิวัฒนานนท์
ลูกช่วยเติมความสมบูรณ์ให้กับครอบครัว ขณะเดียวกันภาระการเลี้ยงดูบุตร ก็เป็นสิ่งที่คุณแม่มักจะกังวลว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร ยิ่งถ้าเป็นเด็กแฝด ความกังวลจะเป็นทวีคูณ แต่การเลี้ยงลูกแฝดก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการเลี้ยงดูเด็กโดยทั่ว ๆ ไป และไม่ได้ยากลำบากอย่างที่คิด เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ ก็คงจะต้องเตรียมสิ่งของเครื่องใช้สำหรับเด็กอ่อนซึ่งในกรณีที่มีเด็กแฝดคงจะต้องเตรียมทุกอย่างเป็น 2 เท่าของปกติ และที่สำคัญคือเตรียมคนที่จะมาช่วยคุณแม่หลังคลอด ในระยะแรกแม่ควรได้รับความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อของลูก
หลักในการเลี้ยงดูเด็กก็คงจะประกอบไปด้วยการดูแลเรื่องอาหาร การดูแลความเป็นอยู่โดยทั่ว ๆ ไป และการดูแลยามเมื่อลูกเจ็บป่วย
อาหารสำหรับทารกได้แก่นม นมที่ดีที่สุดก็คือนมแม่ ซึ่งง่ายในการให้ ไม่ยุ่งยากที่จะต้องเตรียม และมีประโยชน์มากที่สุดทั้งในแง่การเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก นอกจากนี้ยังได้รับภูมิต้านทานโรคผ่านทางนมแม่อีกด้วย ตอนนี้คงจะเกิดปัญหาว่าจะให้นมแม่อย่างไร ในกรณีลูกแฝด เราสามารถให้นมแม่ พร้อม ๆ กันทั้ง 2 คน ด้วยวิธีต่อไปนี้
วิธีที่ 1 แม่นั่งให้สบายวางหมอนข้างลำตัวแม่ทั้ง 2 ข้าง อุ้มลุกคนแรกโดยใช้ฝ่ามือแม่ข้างเดียวกับเต้านมที่จะให้ลูกดูดช้อนใต้คอ และส่วนบนของลำตัวลูก ให้ปากอยู่ระดับเดียวกับหัวนมแม่ ปลายเท้าลูกยื่นไปด้านหลังของแม่ เมื่อลูกอมหัวนมได้กระชับแล้ว ปรับหมอนของแขนแม่ให้แม่วางแขนให้สบาย ทำเช่นเดียวกันนี้กับลูกคนที่สอง (ภาพที่ 1)
วิธีที่ 2 แม่นั่งขัดสมาธิ มีหมอนหรือเบาะวางบนตักอุ้มลูกคนแรกให้ดูดนมในท่าปกติ โดยให้ลำตัวของลูกขนานไปกับแขนของแม่ หัวลูกจะพาดอยู่ตรงข้อพับแขนของแม่ให้ลำตัวลูกเบนออกจากตัวแม่เล็กน้อย เพื่อเว้นที่ให้ลูกคนที่สองซึ่งต้องมีคนช่วยเอามาดูดนมข้างที่เหลือ ลำตัวและปลายเท้าของลูกคนที่สอง จะยื่นไปด้านหลังของแม่ โดยแม่ใช้ฝ่ามือข้างเดียวกับเต้านมที่จะให้ลูกดูด ช้อนใต้คอและส่วนของลำตัวลูก ปรับให้ลูกอมหัวนมให้กระชับทั้งสองคน (ภาพที่ 2)
โดยทั้ง 2 วิธีดังกล่าว แม่ก็สามารถให้นมลูกพร้อมกันทั้ง 2 คน คุณแม่อาจจะให้นมลูกทีละคนได้เช่นกันโดยที่ให้นมลูกคนที่หิวก่อน หรือตื่นก่อนเป็นคนแรก ในกรณีที่แม่ ไม่สามารถให้นมลูกได้ เช่น เจ็บป่วย หรือได้ยาบางอย่างจำเป็นต้องให้นมผสมแทน ซึ่งต้องเน้นที่ความสะอาด เมื่อผสมนมแล้ว ควรให้เด็กทันที ไม่ควรเก็บไว้ใช้หลายมื้อและการเลี้ยงด้วยนมผสม คงจะต้องการผู้ช่วยเพื่อที่จะได้ป้อนนมให้ทีละคน (ภาพที่ 3)
เมื่อลูกน้อยถึงวัยที่จะต้องให้อาหารเสริมสำหรับเด็กอาจจะต้องอาศัยเก้าอี้นั่งสำหรับเด็กอ่อน โดยที่แม่นั่งกลางระหว่างเด็กทั้ง 2 คน และป้อนโดยใช้สำรับเพียงชุดเดียว หรือคุณแม่จะให้นั่งเก้าอี้คนหนึ่งและอีกคนหนึ่งแม่อุ้มไว้ แล้วป้อนทั้ง 2 คน ในเวลาเดียวกันก็ได้ เด็กแฝดอาจจะชอบอาหารต่างกัน และอาจจะแพ้อาหารบางอย่างต่างกันได้ (ภาพที่ 4)
การนอนของเด็ก .
ให้เด็กนอนด้วยกันได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเด็กจะอยู่ด้วยกันได้ดีมากกว่าที่จะกวนกัน หรืออาจจะให้เด็กนอนกับคุณแม่ โดยให้ลูกอยู่คนละข้าง เด็กจะหลับได้นานกว่าและได้รับความอบอุ่นอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับตอนที่อยู่ในครรภ์มารดา (ภาพที่ 5 , 6)
การดูแลทั่วๆ ไป
การอาบน้ำเด็กแฝด คงไม่ต่างจากการอาบน้ำเด็กโดยทั่วๆ ไป ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยเป็นหลัก เริ่มต้นตั้งแต่การล้างมือให้สะอาดก่อน เช็ดตาเด็กด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว และใช้ผ้าชุบน้ำในอ่างบิดหมาด ๆ เช็ดหน้าและซอกหู แล้วจึงอุ้มเด็กลงน้ำอุ่นที่เตรียมไว้ โดยจับศีรษะเด็กและหัวไหล่ด้วยฝ่ามือ ใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วกลางปิดใบหูทั้ง 2 ข้าง ระวังอย่าให้น้ำเข้าหน้า เข้าตาเด็ก ใช้มือที่เหลือในการอาบน้ำถูตัวเด็ก หลังจากนั้นจะมาถึงการแต่งตัวให้เด็กซึ่งปกติเสื้อผ้าที่คุณแม่เตรียมหรือได้รับจากผู้อื่นมักจะเป็นชุดที่เหมือนกัน จึงแต่งตัวให้เหมือนกัน ซึ่งในช่วงต้น ๆ ที่ลูกยังเลือกเองไม่ได้ คงไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อถึงวัยที่ลูกโตพอที่จะเลือกสิ่งที่ชอบเองได้ ควรจะให้โอกาสเด็กเลือกเอง ไม่จำเป็นต้องแต่งเหมือนกัน
เมื่อลูกโตขึ้นเข้าสู่วัยที่ชอบซุกซนและค้นหาไปทั่ว ๆ กรณีของลูกแฝด คุณพ่อคุณแม่คงจะต้องเหนื่อยกว่าการเลี้ยงลูกคนเดียวเป็นแน่ เพราะเด็ก 2 คนจะช่วยกันทำความวุ่นวายได้มากกว่าที่เด็กคนเดียวจะทำได้ การเตรียมรับมือคือการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น บันได หรือประตูทางออกควรจะจัดให้มีแผงกั้นไม่ให้เด็กออก ปลั๊กไฟควรมี Safety cap ปิด หรือย้ายให้พ้นมือเด็ก , ยาและสารเคมีต่าง ๆ ในบ้านควรจะเก็บให้มิดชิด และปิดกุญแจให้เรียบร้อย
การดูแลสุขภาพ
การดูแลสุขภาพลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรจะเอาใจใส่พาลูกไปตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนตามกำหนดและเมื่อลูกคนหนึ่งคนใดเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ควรจะต้องแยกเด็กแฝดออกจากกันจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค เช่น โรคหวัด เป็นต้น
จะเห็นว่าการเลี้ยงลูกแฝด ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดและคุณพ่อคุณแม่คงพอจะมีแนวทางในการเลี้ยงดูลูกแฝด ต่อไป
นอกจากการดูแลทางด้านร่างกายที่กล่าวมาแล้ว พ่อแม่หลายๆ คนคงมีความกังวลใจไม่น้อย กับเรื่องพัฒนาการด้านจิตใจของลูกแฝด หลายคนคงห่วงไปล่วงหน้าว่าอาจให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกได้ไม่เท่ากับการเลี้ยงดูลูกคนเดียว แต่จริง ๆ แล้วเรื่องความรักไม่ใช่สิ่งของที่ลูกแฝดจะได้รับเพียงครึ่งหรือหนึ่งในสามของลูกคนเดียว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบริหารเวลากับลูกให้เป็นเวลาที่มีคุณภาพกับเขาได้เพียงไร
เด็กแต่ละคนเมื่อคลอดจากท้องแม่ก็จะมีสิ่งที่ติดตัวมาแต่แรกคือพื้นฐานอารมณ์เฉพาะตัว เช่น เด็กเลี้ยงง่าย เด็กเลี้ยงยาก หรือเด็กที่เลี้ยงไม่ยากนักแต่ต้องอาศัยเวลาปรับตัวบ้างกับสิ่งใหม่ ๆ เคยมีคุณพ่อคุณแม่แฝดคู่หนึ่งเล่าว่าลูกแฝดคู่แรกของเขา เลี้ยงง่ายกว่าลูกคนที่ 3 ที่เป็นครรภ์เดี่ยวเสียอีก เพราะแฝดคู่นั้นเป็นเด็กเลี้ยงง่ายทั้งคู่ วงจรการกินการนอนเป็นจังหวะที่คาดเดาได้ แต่คนที่ 3 กลับเป็นเด็กเลี้ยงยากกว่า โดยรวมแล้วเหนื่อยกว่าการเลี้ยงลูกคู่แรกเสียอีก เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จงอย่ากังวลไปล่วงหน้ามากนัก เพียงแค่เตรียมใจไว้ว่าอาจเหนื่อยกว่าปรกติบ้าง เพราะความกังวลจนเกินเหตุจะทำให้เราทำอะไรไม่ถูก ยิ่งพะว้าพะวงในการดูแลลูกมากขึ้น และยิ่งกว่านั้น อารมณ์ ความวิตกกังวลของผู้เลี้ยงดู ก็ยังสามารถถ่ายทอดไปสู่เด็กได้ผ่านสัมผัสที่เราปฏิบัติกับลูก จนเด็กเลี้ยงง่ายก็อาจเกิดอาการกระสับกระส่ายได้ หากพ่อแม่ปฏิบัติต่อเขาด้วยความกังวลตลอดเวลา
ส่วนเรื่องการแบ่งเวลาที่ให้แก่ลูก การมีลูกแฝดก็ไม่แตกต่างจากการเลี้ยงดูลูก 2 คน ที่มีอายุใกล้เคียงกัน บางครั้งเราอาจเหนื่อยมาก เพราะต้องใช้เวลากับคนนั้นทีคนนี้ที แต่บางคราวคุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่าสบายกว่าการมีลูกคนเดียวเสียอีก เพราะเขาสามารถที่จะเป็นเพื่อนเล่นกันเองได้ เพียงแต่เมื่อใดที่มีปัญหา คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องให้การตอบสนองอย่างเหมาะสมกับลูกแต่ละคนได้ ปัญหาพี่อิจฉาน้อง น้องอิจฉาพี่ แฝดพี่อิจฉาแฝดน้อง เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดกับทุกๆ ครอบครัว เพียงแต่การตอบสนองที่เหมาะสมของพ่อแม่ จะช่วยให้ปัญหานี้อยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ และพี่น้องหรือแฝดก็ตามแม้เขาจะเล่นกันไปทะเลาะกันไป เขาก็ยังคงรักที่จะเล่นด้วยกันมากกว่าที่จะถูกแยกจากกัน แต่หากพ่อแม่เข้าไปตัดสินเขาไม่เหมาะสม เปรียบเทียบเขาอีกคน ทำให้คนหนึ่งน้อยเนื้อต่ำใจ อีกคนรู้สึกได้ใจ ปัญหาก็จะลุกลามมากขึ้น
นอกจากนี้ ก็เช่นเดียวกับเรื่องทางกายที่เด็กแฝดอาจไม่จำเป็นต้องชอบอาหารอย่างเดียวกัน แพ้อาหารชนิดเดียวกัน อุปนิสัยของเด็กแฝดก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนคนหนึ่งอาจมีลักษณะนิสัยที่พ่อแม่คาดหวังไว้ เช่น เรียบร้อย ว่าง่าย ชอบที่จะทำอะไรให้พ่อแม่พอใจ ในขณะที่อีกคน อาจจะซุกซน สั่งอย่างขอทำอีกอย่างก่อน จนพ่อแม่รู้สึกไม่ได้ดังใจจนอดที่จะเปรียบเทียบกับอีกคนไม่ได้ ฉะนั้น พ่อแม่คงจะต้องมองดูเขา ทำความรู้จักเขาและตอบสนองเขาให้เหมาะกับลักษณะเขาที่เป็นอยู่ อย่าเปรียบเทียบลูกคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นขัดกับธรรมชาติของเขามาก ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า จะให้พ่อแม่ปล่อยลูกไปตามที่เขาเป็นทั้งหมด เพราะเด็กยิ่งเติบโตขึ้น การเลี้ยงดูของเราก็จะมีผลต่ออุปนิสัยของเขามากขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป ฉะนั้น ในการเลี้ยงดูลูกทุกคนไม่ว่าจะเป็นแฝดหรือไม่เราก็ต้องมีกรอบมีกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับให้เขารับทราบ พ่อแม่ต้องเข้าใจลักษณะพื้นฐานของเขาชี้แนะและช่วยเหลือให้เขาปรับตัวให้ดำรงชีวิตที่อยู่ในกรอบนั้นได้ โดยที่ภายในกรอบนั้นเขาสามารถมีอิสระที่จะทำตามสิ่งที่ตนต้องการได้ โดยที่ตนเองมีความสุขและไม่รบกวนผู้อื่น