การผ่าตัดลิ้นหัวใจเทียม เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ กลุ่มที่มีปัญหาของลิ้นหัวใจ การผ่าตัดนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ ลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่วสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง
ภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจรั่วมาก ๆ หรือตีบมาก ๆ มักจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการทดแทนลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพด้วยลิ้นหัวใจเทียมที่มีความทนทานและทำงานได้ใกล้เคียงลิ้นหัวใจธรรมชาติ
ในบทความนี้ จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนของการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ทั้งในด้านการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ขั้นตอนการผ่าตัด และการดูแลหลังผ่าตัด รวมถึงคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดชนิดนี้
สารบัญบทความ
- ลิ้นหัวใจคืออะไร?
- ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร?
- สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- อาการแบบไหนต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ?
- ลิ้นหัวใจแต่ละชนิดเหมาะกับผู้ป่วยแบบไหน
- ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- การดูแลหลังผ่าตัด
- การป้องกันภาวะแทรกซ้อน
- สรุป
ลิ้นหัวใจคืออะไร?
ลิ้นหัวใจ (Heart Valve) คือ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อยู่ในหัวใจ ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดในแต่ละห้องของหัวใจ โดยมีทั้งหมด 4 ลิ้น ได้แก่ ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic Valve) ลิ้นหัวใจพัลโมนิก (Pulmonary Valve) ลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral Valve) และลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid Valve) ลิ้นหัวใจแต่ละลิ้นจะเปิดและปิดตามจังหวะการเต้นของหัวใจ
ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร?
ลิ้นหัวใจเทียม (Prosthesic Valve) คืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ออกแบบมาเพื่อทดแทนลิ้นหัวใจที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้เลือดในหัวใจไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยลิ้นหัวใจเทียมมี 2 ประเภทหลัก ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะและข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ (Mechanical Valve)
- ผลิตจากวัสดุที่มีความทนทาน เช่น ไทเทเนียม หรือคาร์บอน
- อายุการใช้งานนานกว่าลิ้นหัวใจเทียมชนิดเนื้อเยื่อ
- ผู้ป่วยต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดบริเวณลิ้นหัวใจเทียม ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลืออย่างสม่ำเสมอ (ซึ่งในบางกรณีอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการลืมรับประทานยา หรือผู้ป่วยที่อาจมีความเสี่ยงจากการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด)
- เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการอายุการใช้งานยาวนานโดยไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย
- ลิ้นหัวใจเทียมชนิดเนื้อเยื่อ (Bioprosthetic Valve)
- ผลิตจากเนื้อเยื่อของสัตว์ เช่น วัวหรือหมู หรือจากผู้บริจาค
- ไม่ต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นประจำ จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่ต้องใช้ยาประจำ
- อายุการใช้งานสั้นกว่า โดยปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 10-20 ปี
- เหมาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงของการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
ลิ้นหัวใจสามารถเกิดการเสื่อมหรือมีปัญหาได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งทำให้ต้องมีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเพื่อฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้ปกติ โดยโรคที่อาจทำให้ต้องมีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เช่น
- โรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด: ลิ้นหัวใจที่มีความผิดปกติตั้งแต่เกิด เช่น ลิ้นหัวใจตีบ
- ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ: การเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ
- การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ (Infective Endocarditis; IE): การติดเชื้อแบคทีเรียที่ลิ้นหัวใจ ซึ่งทำให้ลิ้นหัวใจเสียหาย
- ภาวะลิ้นหัวใจตีบ (Stenosis): ภาวะที่ลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดได้เต็มที่ ทำให้เลือดไหลผ่านลิ้นหัวใจได้ยากขึ้น
- ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว (Regurgitation): ภาวะที่ลิ้นหัวใจไม่สามารถปิดได้สมบูรณ์ ทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังห้องหัวใจเดิม
อาการแบบไหนต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ?
- อาการเหนื่อยง่ายเรื้อรัง
- รู้สึกเหนื่อยทั้งในขณะทำกิจกรรมเบา ๆ หรือแม้แต่ในขณะพักผ่อน ซึ่งอาจเกิดจากลิ้นหัวใจที่ทำงานผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมาก ๆ ซึ่งจะทำให้เลือดไหลออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายต้องปรับให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
- หายใจลำบาก โดยเฉพาะขณะนอนราบหรือขณะออกแรง
- เริ่มจากเหนื่อยง่ายเวลาทำกิจกรรม และพัฒนาไปจนกระทั่งหายใจลำบากแม้ในขณะพักผ่อน และอาจเกิดอาการแน่นหน้าอกหรือหายใจเหนื่อยร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นอาการของน้ำท่วมปอด ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
- รู้สึกเจ็บแน่นบริเวณกลางหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่ใช้แรง เช่น เดินขึ้นบันไดหรือทำงานหนัก อาการนี้พบได้ในผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจตีบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ
- หน้ามืด วิงเวียน หรือหมดสติ
- เกิดจากหัวใจส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจ หากไม่ได้รับการรักษา อาจเสี่ยงต่อการหมดสติหรือการ วูบ ล้ม บาดเจ็บได้
- บวมที่ขา ข้อเท้า หรือหน้าท้อง
- เป็นสัญญาณของการมีของเหลวคั่งในร่างกาย โดยเฉพาะส่วนล่างของร่างกาย ซึ่งอาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคของลิ้นหัวใจ หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือใจสั่น
- รู้สึกใจเต้นเร็วหรือแรงผิดปกติ โดยเฉพาะในช่วงพักผ่อนหรือขณะนอนหลับ มักเกิดจากลิ้นหัวใจที่เสียหาย ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นหัวใจที่ผิดปกติ
- อ่อนเพลียเรื้อรังจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้ เช่น การเดินขึ้นบันไดหรือการออกกำลังกายเบา ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหัวใจที่ทำงานหนักเกินไป
- ภาวะแทรกซ้อนที่ทำลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ
- เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ (Infective Endocarditis) หรือโรคหลอดเลือดตีบที่ทำให้การบีบตัวของหัวใจเสียไป หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้
ลิ้นหัวใจแต่ละชนิดเหมาะกับผู้ป่วยแบบไหน
การเลือกชนิดของลิ้นหัวใจเทียมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น อายุของผู้ป่วย ภาวะสุขภาพพื้นฐาน และความสะดวกในการติดตามผลการรักษาหลังผ่าตัด ซึ่งลิ้นหัวใจเทียมมี 2 ชนิดหลักดังที่กล่าวไปแล้ว ได้แก่ ลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ (Mechanical Valve) และ ลิ้นหัวใจเทียมชนิดเนื้อเยื่อ (Bioprosthetic Valve) ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละประเภทดังนี้
1. ลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ (Mechanical Valve)
เหมาะสำหรับ:
- ผู้ป่วยอายุน้อย
เนื่องจากลิ้นหัวใจชนิดนี้มีความทนทานสูงและใช้งานได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่บ่อยครั้ง - ผู้ป่วยที่สามารถควบคุมการใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้ดีหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด จึงเหมาะกับผู้ที่สามารถตรวจติดตามระดับเลือด และรับประทานยาาร์ฟารินได้อย่างสม่ำเสมอ
- ผู้ป่วยที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาละลายลิ่มเลือด
เช่น ผู้ที่ไม่มีประวัติเลือดออกง่ายหรือมีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก
ข้อดี:
- อายุการใช้งานนาน (20-30 ปี หรือมากกว่า)
- ไม่ต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจบ่อย
ข้อจำกัด:
- ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิต
- เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด เช่น เลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ
2. ลิ้นหัวใจเทียมชนิดเนื้อเยื่อ (Bioprosthetic Valve)
เหมาะสำหรับ:
- ผู้ป่วยสูงอายุ
เนื่องจากไม่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดในระยะยาว เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป - ผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้
เช่น ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะเลือดออก หรือมีโรคประจำตัวที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
ข้อดี:
- ไม่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดในระยะยาว
- ลดความเสี่ยงจากภาวะเลือดออก
ข้อจำกัด:
- อายุการใช้งานสั้นกว่าลิ้นหัวใจชนิดโลหะ (ประมาณ 10-20 ปี)
- ต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่เมื่อหมดอายุการใช้งาน ซึ่งในการผ่าตัดลิ้นหัวใจซ้ำจะเพิ่มความเสี่ยงของการผ่าตัดมากขึ้น
ปัจจัยเพิ่มเติมในการเลือกชนิดของลิ้นหัวใจ
- โรคประจำตัว: เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคตับหรือเลือดออกง่าย อาจไม่เหมาะกับลิ้นหัวใจชนิดโลหะ
- แผนการตั้งครรภ์ในอนาคต: ผู้หญิงที่วางแผนมีบุตรอาจเหมาะกับชนิดเนื้อเยื่อชีวภาพเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด
อย่างไรก็ตามแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและให้คำแนะนำตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
การเตรียมตัวอย่างเหมาะสมช่วยเพิ่มความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังนี้
- การตรวจร่างกายอย่างละเอียด
- ตรวจเลือดเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย
- เอกซเรย์ทรวงอกและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
- ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiogram) เพื่อประเมินดูลักษณะการทำงาน รวมถึงความรุนแรงของลิ้นหัวใจที่มีปัญหา ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ศัลยแพทย์โรคหัวใจสามารถวางแผนการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
- การปรับยาก่อนผ่าตัด
- หยุดยาบางชนิด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ตามคำแนะนำของแพทย์
- ปรับยาควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวานหรือความดันโลหิต ตามคำแนะนำของแพทย์
- การเตรียมตัวทางจิตใจและร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
- พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด
- เตรียมความพร้อมสำหรับการพักฟื้นหลังผ่าตัด เช่น จัดที่พักให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหว
- การปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
- แพทย์จะอธิบายขั้นตอนการผ่าตัดและตอบคำถามเพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจ และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการผ่าตัด สามารถปรึกษาแพทย์ได้ ไม่ควรปล่อยไว้ เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัด
- แจ้งประวัติการแพ้ยาและโรคประจำตัวอย่างละเอียด
ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจสามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ขึ้นอยู่กับลิ้นหัวใจที่ต้องได้รับการผ่าตัด และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน
- การผ่าตัดเปิดหน้าอก (Open-heart Surgery)
- วิธีการ: แพทย์จะเปิดหน้าอกเพื่อเข้าถึงหัวใจ และหยุดการเต้นของหัวใจชั่วคราวโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Heart-lung Machine) จากนั้นจึงทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- ระยะเวลา: ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของโรค ตำแหน่งของลิ้นที่ต้องผ่าตัด รวมถึงสภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน
- การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (Transcatheter Aortic Valve Implantation; TAVI/TAVR)
- ใช้เฉพาะการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก (ยังไม่สามารถใช้วิธีนี้กับลิ้นหัวใจอื่นได้)
- วิธีการ: การรักษาด้วยวิธีนี้ ไม่ต้องเปิดหน้าอก แต่จะทำการรักษาโดยอายุรแพทย์โรคหัวใจ โดยแพทยจะใช้สายสวนใส่ลิ้นหัวใจใหม่ผ่านหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่บริเวณขาหนีบ
- เหมาะสำหรับ: ผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดใหญ่
การดูแลหลังผ่าตัด
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วและป้องกันภาวะแทรกซ้อน:
- ระยะแรก (2-4 สัปดาห์แรก)
- พักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-10 วันขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน
- ดูแลแผลผ่าตัดให้สะอาดและอย่าให้แผลติดเชื้อ
- ทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลด้วยมือที่ไม่สะอาด
- สังเกตอาการบวม แดง หรือหนองที่แผล ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หากพบต้องรีบพบแพทย์ทันที
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือออกแรงมาก
- การปรับตัวในระยะยาว
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน โยคะ โดยควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ลดอาหารที่มีรสเค็ม ลดไขมัน ลดแป้งและน้ำตาล
- ติดตามผลกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ลิ้นหัวใจชนิดโลหะซึ่งต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อยืดอายุการทำงานของลิ้นหัวใจ และป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดที่ลิ้นหัวใจที่จะทำให้การทำงาานของลิ้นหัวใจเสียไป
การป้องกันภาวะแทรกซ้อน
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างราบรื่นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
- รับประทานยาละลายลิ่มเลือดตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดินเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
- หลีกเลี่ยงการนั่งนิ่ง ๆ หรือยืนเป็นเวลานานเกินไป
- ป้องกันการติดเชื้อที่หัวใจ (Endocarditis)
- รับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการทำหัตถการ เช่น การถอนฟันหรือทำฟัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่หัวใจ
- รักษาสุขอนามัยในช่องปาก เช่น แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- เฝ้าระวังอาการผิดปกติ
- อาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอก อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลว
- อาการขาบวม เท้าบวม หรือข้อเท้าบวม ซึ่งอาจเกิดจากมีน้ำเกินในร่างกาย ซึ่งเป็นสัญญาณการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ
- มีไข้หรืออาการคล้ายไข้หวัด ซึ่งอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ
- การดูแลด้านอาหารและโภชนาการ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และโปรตีนไร้ไขมัน
- ลดการบริโภคเกลือและไขมันอิ่มตัว เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีวิตามินเคสูง เช่น ผักใบเขียวเข้ม หากใช้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยา
- ติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- เข้าพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจเช็กลิ้นหัวใจเทียมและประเมินการทำงานของหัวใจ
- แจ้งแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออ่อนเพลียผิดปกติ
- ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับ INR (ค่าที่ประเมินการเกิดลิ่มเลือด) อย่างสม่ำเสมอในผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด
- ออกกำลังกายเบา ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ เช่น เดิน ปั่นจักรยานเบา ๆ
- การรับวัคซีนป้องกันโรค
- รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำ
- รับวัคซีนป้องกันปอดอักเสบตามคำแนะนำของแพทย์
- ป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหัวใจ
การป้องกันภาวะแทรกซ้อนต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้ป่วยและครอบครัว โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และใส่ใจการดูแลตัวเองในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
สรุป
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม นอกจากนี้การดูแลตัวเองทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดก็มีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน และฟื้นตัวช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว เพื่อการกลับไปใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติ
แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง
- โปรแกรมตรวจสุขภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiogram)
- โปรแกรมตรวจคัดกรองหลอดเลือดหัวใจและตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ (Calcium Score & Exercise Stress Test)
- โปรแกรมตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Score)
- โปรแกรมตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test)
- แพ็กเกจตรวจคัดกรองอาการใจสั่น พร้อมติดเครื่อง EVENT Recorder
- แพ็กเกจตรวจคัดกรองอาการใจสั่น พร้อมติดเครื่อง Holter Monitoring