โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease; CAD) เป็นภาวะที่หลอดเลือดมีการสะสมไขมัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่หัวใจวาย การรักษาด้วย การทำบอลลูนหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention – PCI) เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ เป็นวิธีที่ช่วยเปิดหลอดเลือดที่ตีบโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหัวใจ ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับวิธีการทำบอลลูนหัวใจ กระบวนการต่าง ๆ รวมถึงข้อดีและข้อควรระวังที่ผู้ป่วยควรรู้ เพื่อให้การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สารบัญบทความ
- บอลลูนหัวใจ คืออะไร?
- ขั้นตอนการทำบอลลูนหัวใจ
- ข้อบ่งชี้ของการทำบอลลูนหัวใจมีอะไรบ้าง?
- ข้อดีของการทำบอลลูนหัวใจ
- ความแตกต่างระหว่างการทำบอลลูนหัวใจกับการผ่าตัดบายพาส (CABG)
- ใครบ้างที่เหมาะกับการทำบอลลูนหัวใจ?
- ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- การดูแลตัวเองหลังการทำบอลลูนหัวใจ
- การเปรียบเทียบระหว่างบอลลูนหัวใจกับการใช้ขดลวด (Stent)
- สรุป
บอลลูนหัวใจ คืออะไร?
บอลลูนหัวใจ (Balloon Angioplasty หรือ Percutaneous Coronary Intervention; PCI) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยเป็นกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีบอลลูนขยายหลอดเลือดที่ตีบเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น ทำให้ลดอาการเจ็บหน้าอกและป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดได้ โดยการทำบอลลูนจะถูกใช้เมื่อหลอดเลือดหัวใจมีการตีบหรืออุดตันแต่ยังไม่ถึงขั้นต้องผ่าตัดบายพาส ซึ่งทำให้วิธีนี้มีความปลอดภัยและฟื้นตัวได้เร็วกว่า
ขั้นตอนการทำบอลลูนหัวใจ
- การเตรียมตัวก่อนการทำบอลลูน: ก่อนการทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ แพทย์จะให้คำแนะนำในการหยุดยาบางชนิด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด รวมถึงการงดอาหารหรือเครื่องดื่มในช่วง 6-8 ชั่วโมงก่อนการรักษา เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการทำหัตถการ
- การสอดสายสวน: เมื่อเข้าสู่ห้องสวนหัวใจแล้ว แพทย์จะทำการสอดสายสวนบอลลูนเข้าไปในหลอดเลือด ผ่านทางข้อมือหรือขา แล้วนำสายสวนไปบริเวณที่มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจ โดยในขณะที่ใส่สายสวน แพทย์จะใช้เครื่องเอกซเรย์ (fluoroscopy) ถ่ายภาพ เพื่อให้แพทย์เห็นภาพตำแหน่งของสายสวนได้ชัดเจน
- การขยายหลอดเลือด: เมื่อสายสวนบอลลูนถึงตำแหน่งที่ตีบแล้ว แพทย์จะทำการพองบอลลูนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อขยายหลอดเลือดที่ตีบให้กว้างขึ้น ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- การใส่ขดลวด (Stent): หากจำมีความจำเป็นและเพื่อการป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือด แพทย์อาจใส่ขดลวด (stent) ซึ่งเป็นอุปกรณ์โลหะสังเคราะห์ทางการแพทย์ที่ไม่ทำปฏิกิริยากับร่างกาย ที่ตำแหน่งที่มีการตีบและขยายด้วยบอลลูนแล้ว โดยขดลวดจะถูกปล่อยออกมาหลังจากขยายด้วยบอลลูนแล้ว
ข้อบ่งชี้ของการทำบอลลูนหัวใจมีอะไรบ้าง?
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการทำบอลลูนหัวใจมีข้อบ่งชี้ดังนี้
1. มีอาการเจ็บหน้าอกเรื้อรังที่ควบคุมด้วยยาไม่ได้
หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกเรื้อรังจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอาการไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการรักษาด้วยยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทำบอลลูนหัวใจอาจช่วยบรรเทาอาการได้
2. มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่คงที่ (Unstable Angina) หรือหัวใจขาดเลือดบางส่วน (NSTEMI)
ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรง หรือมีอาการหัวใจขาดเลือดบางส่วน การทำบอลลูนหัวใจจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดหัวใจวายได้
3. หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI)
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) การทำบอลลูนหัวใจจะเป็นวิธีการรักษามาตรฐาน หากสามารถทำได้ภายในเวลาที่เหมาะสม (ภายใน 90 นาทีหลังจากมีอาการ) จะซึ่งช่วยเปิดหลอดเลือดที่อุดตันและลดความเสียหายที่เกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจได้
4. หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเส้นหลักด้านซ้ายตีบ (Left Main Coronary Artery Disease)
หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจเส้นหลักด้านซ้าย (Left coronary artery) เป็นหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปยังหัวใจส่วนใหญ่ หากมีการตีบมากและไม่สามารถทำการรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาสได้ การทำบอลลูนหัวใจจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวได้
5. โรคหลอดเลือดหัวใจที่รุนแรงในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง
ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจรุนแรงและมีความเสี่ยงสูงในการทำการผ่าตัดบายพาส ผู้ป่วยอาจได้รับการพิจารณาให้ทำบอลลูนหัวใจแทน
6. ไม่สามารถทำการผ่าตัดบายพาสได้
หากผู้ป่วยเหมาะสมที่จะได้รับการผ่าตัดบายพาส แต่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้เนื่องจากมีภาวะสุขภาพที่ไม่เอื้อต่อการผ่าตัด การทำบอลลูนหัวใจก็จะเป็นทางเลือกในการรักษา
7. มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจที่ทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ
หากการตีบของหลอดเลือดหัวใจส่งผลให้หัวใจทำงานไม่ปกติ การทำบอลลูนหัวใจอาจช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจให้ดีขึ้นด้วย
8. มีความเสี่ยงของหัวใจขาดเลือดสูงในอนาคต
หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจขาดเลือดที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวายในอนาคต การทำบอลลูนหัวใจจะช่วยลดความเสี่ยงและช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
9. เคยผ่าตัดบายพาสหรือทำบอลลูนหัวใจแล้วเกิดปัญหาหรือไม่สำเร็จ
แพทย์อาจพิจารณาการทำบอลลูนหัวใจในผู้ป่วยที่เคยได้รับการทำผ่าตัดบายพาสหรือทำบอลลูนหัวใจมาก่อน แต่หลอดเลือดยังตีบซ้ำ หรือการรักษาก่อนหน้านี้ไม่ได้ผล
โดยปัจจัยที่แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการบอลลูนหัวใจขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการรักษาเทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามการทำบอลลูนหัวใจเป็นการรักษาด้วยวิธีการเฉพาะ ซึ่งต้องทำโดยอายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจที่มีความชำนาญเท่านั้น
ข้อดีของการทำบอลลูนหัวใจ
- ลดอาการเจ็บหน้าอก: การขยายหลอดเลือดจะทำให้เลือดสามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น เป็นผลให้อาการเจ็บแน่นหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดลดลง หรือหายไป
- เพิ่มการไหลเวียนเลือด: การทำบอลลูนช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนและสารอาหารอย่างเพียงพอ
- ลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย: การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากการขาดเลือดในกล้ามเนื้อหัวใจ
- ฟื้นตัวเร็ว: การทำบอลลูนหัวใจไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก ทำให้การฟื้นตัวเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดบายพาส
ความแตกต่างระหว่างการทำบอลลูนหัวใจกับการผ่าตัดบายพาส (CABG)
บอลลูนหัวใจ และ การผ่าตัดบายพาส (CABG) ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่มีข้อแตกต่างกันทั้งในเรื่องของวิธีการและระยะเวลาในการฟื้นตัวดังนี้
- บอลลูนหัวใจ: เป็นการขยายหลอดเลือดที่ตีบโดยใช้บอลลูน ซึ่งไม่ต้องผ่าตัดเปิดอก และมักจะใช้ในกรณีที่หลอดเลือดตีบเพียง 1-2 จุด
- บายพาสหัวใจ (CABG): เป็นการผ่าตัดเพื่อสร้างเส้นทางการไหลเวียนเลือดใหม่ โดยการนำหลอดเลือดจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมาใช้สร้างเส้นทางใหม่เพื่อข้ามตำแหน่งที่มีการตีบของหลอดเลือดเดิม โดยการผ่าตัดบายพาสจะต้องผ่าเปิดหน้าอก จึงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า
ใครบ้างที่เหมาะกับการทำบอลลูนหัวใจ?
- ผู้ป่วยที่มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจไม่เกินสองเส้นหรือมีการตีบที่ไม่ซับซ้อนเกินไป
- ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากการตีบของหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ป่วยที่มีการตีบเพียงจุดเดียวหรือสองจุด
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดบายพาสได้เนื่องจากสภาพร่างกายไม่เหมาะสม
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
แม้ว่าการทำบอลลูนหัวใจจะค่อนข้างปลอดภัย แต่ยังคงมีความเสี่ยงบางประการ ได้แก่
- การเกิดลิ่มเลือด: หลังการทำบอลลูน อาจเกิดลิ่มเลือดที่บริเวณที่ขยายหลอดเลือดได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดสมองตีบหรือสโตรกได้
- ภาวะหลอดเลือดตีบซ้ำ: แม้จะขยายหลอดเลือดออกแล้ว แต่ก็มีโอกาสที่หลอดเลือดอาจตีบซ้ำได้
- ภาวะเลือดออก: การใส่สายสวนเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดเลือดออกในบางกรณี
- ภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ขดลวด: ในบางกรณีอาจมีการติดเชื้อ หรือขดลวดอาจกางตัวออกไม่สุด
อย่างไรก็ตาม ก่อนทำการรักษาด้วยวิธีการบอลลูนหัวใจ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายผู้ป่วย และตรวจค่าเลือดต่าง ๆ อย่างละเอียด รวมถึงพิจารณาถึงความเสี่ยงอื่น ๆ เพื่อใช้วางแผนการรักษาให้ผู้ป่วยปลอดภัย และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด
การดูแลตัวเองหลังการทำบอลลูนหัวใจ
การดูแลตัวเองหลังการทำบอลลูนหัวใจเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อการฟื้นตัวที่เร็ว และสามารถกลับไปทำงานและทำกิจวัตรประจำวันได้
- การรับประทานยาตามคำแนะนำ: ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามที่แพทย์ส่งอย่างเคร่งครัด เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดลิ่มเลือด
- การปรับพฤติกรรมการกิน: ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและเค็ม เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
- การออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป: หลังจากการทำบอลลูนหัวใจ ควรออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพหัวใจ
- ควบคุมน้ำหนัก: การมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- เลิกสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและตีบ ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหากไม่เลิกอาจทำให้มีหลอดเลือดมีการตีบซ้ำ หรือตีบที่บริเวณอื่นได้
การเปรียบเทียบระหว่างบอลลูนหัวใจกับการใช้ขดลวด (Stent)
การใช้ขดลวดร่วมกับบอลลูนหัวใจมีข้อดีคือ จะช่วยให้หลอดเลือดที่ตีบสามารถเปิดได้มากขึ้นและคงรูปร่างไว้ได้ นอกจากนี้ขดลวดยังช่วยลดโอกาสในการตีบซ้ำ โดยขดลวดที่ใช้ในปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่ดีกว่าเดิม เช่น ขดลวดที่ปล่อยยาหรือที่เรียกว่า drug-eluting stents (DES) ซึ่งช่วยลดการเกิดการตีบซ้ำหลังการทำบอลลูนได้มาก
สรุป
การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นวิธีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย การรักษานี้เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว