ทุกวันนี้โรคหัวใจกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว เชื่อว่าเราคงเคยได้ยินข่าวของคนป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีญาติพี่น้อง คนรู้จัก แม้กระทั่ง ดาราหรือคนมีชื่อเสียงที่เป็นโรคหัวใจ หรือบางคนโชคร้าย เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ
การรักษาโรคหัวใจวิธีหนึ่งก็คือ การผ่าตัดหัวใจ และการผ่าตัดหัวใจที่หลายท่านอาจเคยได้ยินคือ “บายพาสหัวใจ” หรือ “CABG surgery” ซึ่งเราอาจจะยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่า การผ่าตัดบายพาสหรือ CABG คืออะไร? และมีขั้นตอนอย่างไร ?
บทความนี้ได้รับโอกาสที่ดีจาก นายแพทย์วิสุทธิ์ เกตุแก้ว แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า ซึ่งท่านมีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ และดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจมานับไม่ถ้วน มาให้ความรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ การเตรียมตัว รวมไปถึงความกังวลต่าง ๆ ของผู้ป่วย คุณหมอได้กล่าวไว้ว่า “หนึ่งในการตัดสินใจที่สำคัญของผมในฐานะแพทย์ คือการตัดสินใจที่จะส่งผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ โดยเฉพาะการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ หรือที่ทางแพทย์ชอบเรียกชื่อย่อว่า CABG”
การผ่าตัดบายพาส หรือ CABG คืออะไร?
คำว่า CABG ถ้าเป็นแพทย์ไทย จะอ่านออกเสียงว่า ซี-เอ-บี-จี ตามตัวอักษรเป๊ะ ๆ แต่ถ้าเราดูหนังฝรั่งบ่อย ๆ หมอที่โน่นเค้าจะชอบเรียกว่า Cabbage ซึ่งเป็นการเล่นคำ ดังนั้นอย่างงนะครับว่าในซีรีย์หมอจะผ่ากะหล่ำปลีหรือเปล่า (ฮา)
คุณหมออธิบายต่อว่า Coronary Artery Bypass Grafting (CABG) คือ การนำหลอดเลือดส่วนอื่นมาเชื่อมต่อข้ามหลอดเลือดหัวใจเดิมที่ตีบ เพื่อให้เลือดสามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนปลายได้ (เปรียบเทียบเหมือนการตัดถนน bypass เลี่ยงเมืองที่รถติด เราก็จะไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น)
ประเมินอะไรบ้างก่อนทำ CABG ?
ทีนี้ก่อนที่ผมจะส่งผู้ป่วยไปพบศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อทำ CABG ผมจะต้องมีการประเมินหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น
- ผมจะต้องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) หรือที่เรียกสั้นๆว่า Echo เพื่อที่จะดูว่าค่าการบีบตัวของหัวใจมีมากน้อยแค่ไหน และดูว่าลิ้นหัวใจมีความผิดปกติ จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจร่วมด้วยหรือไม่
- ผมจะต้องประเมินสภาพหลอดเลือดหัวใจ จากผลการฉีดสีสวนหัวใจ (coronary angiography) หรือที่เรียกว่า CAG เพื่อที่จะวางแผนเบื้องต้นว่าน่าจะต่อหลอดเลือดตรงไหนบ้าง ก่อนที่จะส่งไปพบศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อวางแผนการผ่าตัดขั้นสุดท้าย
- ผมจะต้องประเมินสภาพร่างกายของคนไข้ว่าระบบอื่น ๆ เป็นอย่างไร เช่น คุมเบาหวานได้ดีหรือไม่ (ถ้าคุมน้ำตาลไม่ดี อาจจะมีผลเกี่ยวข้องกับแผลผ่าตัดและการติดเชื้อหลังผ่าตัด) หรือระบบการทำงานของไตเป็นอย่างไร รวมถึงอาจจะต้องมีการหยุดยาบางชนิด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด และจะต้องมีการจองเลือดเพื่อที่จะให้ระหว่างผ่าตัดด้วย
อย่างไรก็ตามที่ผมเล่าขั้นตอนการประเมินให้ฟังนั้น ไม่ได้จะให้กังวลไปล่วงหน้า แต่อยากจะให้เห็นว่าต้องมีเตรียมความพร้อมอย่างละเอียดในการดูแลคนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด เพื่อที่จะให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและต้องไม่ประมาทเท่านั้นเอง
เทคนิคในการผ่าตัด CABG มีแบบไหนบ้าง?
สำหรับรายละเอียดและวิธีการผ่าตัดนั้น มีหลากหลายเทคนิคมาก ตั้งแต่การผ่าตัดโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (off-pump CABG) รวมไปถึงการเลือกชนิดของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงเสริม (หลอดเลือดแดงบริเวณหน้าอก; LIMA หรือ หลอดเลือดแดงที่แขน; radial artery) และหลอดเลือดดำเสริม (หลอดเลือดดำที่ขา; saphenous vein) ซึ่งศัลยแพทย์ทรวงอกจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละท่าน
การผ่าตัด CABG ใช้ระยะเวลาผ่าตัด และพักฟื้นนานแค่ไหน?
การผ่าตัด CABG นั้นจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 3-6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายตอนผ่าตัด อาจจะต้องมีการให้เลือดหรือสารประกอบของเลือดด้วย หลังจากผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยจะถูกย้ายมาที่หอผู้ป่วยวิกฤตหัวใจ (Cardiac Care Unit) หรือที่เรียกว่า CCU ต่ออีกประมาณ 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย โรคประจำตัว และการฟื้นตัวของผู้ป่วย โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยจะอยู่ที่ รพ.พระรามเก้าประมาณ 7-10 วันหลังผ่าตัด
อ่านเพิ่มเติมการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดบายพาสหัวใจ: https://www.praram9.com/coronary-artery-bypass-grafting/
คำแนะนำจากนายแพทย์วิสุทธิ์ เกตุแก้ว
สิ่งที่ผมสังเกตเห็น คือคนไข้ส่วนมากจะกลัวเนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งผมเองก็ยอมรับว่าการผ่าตัดทุกชนิดแม้เราจะวางแผนมาอย่างดีแค่ไหนก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุสุดวิสัยได้
แต่ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า ทีมแพทย์เราได้ทำการผ่าตัด CABG มาแล้วเป็นเวลากว่า 25 ปี และเรามีประสบการณ์ในการดูแลเคสซับซ้อนที่มีโรคร่วมหลายอย่าง อาทิเช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต (DDKT) ก็เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด CABG ไปเมื่อเดือนก่อนนี่เอง ส่วนตัวผมมั่นใจในทีมงานของเราทุกคน ว่าสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพแน่นอนครับ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคหัวใจ
ท้ายนี้คุณหมอยังได้ฝากข้อความไว้ให้กับผู้อ่านทุกท่านไว้ว่า