บทความสุขภาพ

Knowledge

ไซนัสอักเสบ ปัญหากวนใจที่รักษาได้

ใคร ๆ ก็เคยเป็นหวัด น้ำมูกไหลกันทั้งนั้น ซึ่งไข้หวัดจะป่วยอยู่ไม่กี่วันก็หายได้เอง แต่ในบางครั้ง บางคนอาจเป็นหวัดยาวนานเป็นอาทิตย์ ๆ หรืออาจนานจนเป็นเดือน ๆ คัดจมูกน้ำมูกไหลอยู่ตลอดไม่หายสักที ซึ่งนี่อาจไม่ใช่อาการของไข้หวัดธรรมดา แต่อาจเป็นอาการของไซนัสอักเสบ


ไซนัสคืออะไร?


ก่อนที่จะทำความเข้าใจเรื่องไซนัสอักเสบ เราต้องทราบก่อนว่าไซนัสคืออะไร?


ไซนัส คือ โพรงอากาศขนาดเล็กในกระดูกกะโหลกศีรษะ โพรงอากาศเหล่านี้มีอยู่ด้วยกัน 4 ตำแหน่ง โดยวางตัวเป็นคู่ในฝั่งซ้ายและขวาของกะโหลกศีรษะ ดังนี้


  1. หน้าผาก
  2. ระหว่างหัวตาและสันจมูก
  3. หน้าแก้ม
  4. ด้านหลังโพรงจมูก

ไซนัสเหล่านี้จะมีเยื่อบุภายในที่คอยผลิตมูก และมีรูเปิดเชื่อมต่อถึงกันกับโพรงจมูก ทำให้สามารถระบายมูกออกจากภายในไซนัส และช่องว่างเหล่านี้จะมีอากาศไหลเวียนภายใน โดยในทางวิวัฒนาการ ไซนัสมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ ช่วยให้กะโหลกศีรษะมีน้ำหนักเบาลง ช่วยเพิ่มความก้องของเสียงที่เปล่งออกมา ช่วยป้องกันการกระแทกไม่ให้ถึงส่วนลึกของใบหน้า เป็นฉนวนป้องกันฐานสมองจากความร้อนเย็นภายนอก ช่วยเพิ่มอุณหภูมิและความชื้นให้กับลมหายใจเข้า นอกจากนั้น มูกที่เยื่อบุไซนัสผลิตออกมายังช่วยป้องกันการติดเชื้ออีกด้วย


ไซนัสอักเสบคืออะไร?


ไซนัสอักเสบ คือ การอักเสบของเยื่อบุภายในโพรงไซนัส ทำให้เยื่อบุบวมขึ้น และเกิดการคั่งของมูกภายในไซนัส โดยสาเหตุมักมาจากการติดเชื้อ และ/หรือภูมิแพ้


ไซนัสอักเสบแบ่งได้เป็น 3 ชนิดตามระยะเวลาและสาเหตุของการติดเชื้อ ดังนี้


  1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือ มีอาการมาไม่เกิน 4 สัปดาห์ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
  2. ไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน คือ มีอาการมานาน 1 ถึง 3 เดือน

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ มีอาการมานานกว่า 3 เดือน สาเหตุอาจเกิดจากแบคทีเรีย มีติดเชื้อราซ้ำซ้อน หรืออาจเป็นการอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้โดยไม่มีการติดเชื้อใด ๆ ก็ได้


อาการไซนัสอักเสบ


ไซนัสอักเสบมักเกิดหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ที่อาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงหลังจากเป็นมาแล้ว 7-10 วัน โดยอาการที่พบบ่อยของไซนัสอักเสบ มีดังนี้


  • ปวด บวม และกดเจ็บบริเวณของไซนัส (แก้ม หัวตา หรือหน้าผาก)
  • คัดจมูก รู้สึกตื้อแน่นในจมูก
  • มีน้ำมูกสีเขียวหรือเหลือง
  • ได้กลิ่นลดลง
  • มีไข้

โดยอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย:


  • ปวดหัว ปวดขมับ ปวดท้ายทอย หรือรู้สึกหนักไปทั้งหัว
  • ปวดฟัน
  • มีกลิ่นปาก หรือลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
  • ไอ
  • รู้สึกหูอื้อ
  • กรนขณะหลับ
  • เสียงพูดขึ้นจมูก
  • ในเด็กเล็กอาจมีอาการหงุดหงิด งอแง กินได้น้อยลง และหายใจทางปาก

ไซนัสอักเสบ เกิดจากอะไร?


ไซนัสอักเสบมักเกิดตามหลังการเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากการติดเชื้อในช่วงแรกทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและบวม เมื่อการติดเชื้อลุกลาม จนทำให้เยื่อบุรูเปิดไซนัสอักเสบและบวมไปด้วย จึงทำให้รูเปิดไซนัสตีบแคบลง แต่การอักเสบทำให้เยื่อบุภายในไซนัสกลับผลิตมูกเพิ่มมากขึ้น จึงมีการคั่งของมูก เชื้อโรคไม่ถูกระบายออก จึงเกิดการติดเชื้อภายในและไซนัสอักเสบตามมา นอกจากการเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดไซนัสอักเสบ ดังนี้


  • ขนเส้นเล็ก ๆ (cilia) ภายในโพรงไซนัสซึ่งอยู่ส่วนบนสุดของเยื่อบุโพรงไซนัส ไม่สามารถทำหน้าที่พัดโบกขับมูกออกมาระบายสู่ภายนอกไซนัสได้
  • ไข้หวัดและภูมิแพ้ส่งผลให้มีการหลั่งน้ำมูกมากเกินไป และรูเปิดไซนัสตีบแคบหรืออุดตัน
  • มีความผิดปกติในโพรงจมูกที่เบียดบังรูเปิดไซนัส เช่น ภาวะผนังกั้นจมูกคด (deviated nasal septum) กระดูกงอกในโพรงจมูก (nasal bone spur) หรือริดสีดวงจมูก (nasal polyp) เป็นต้น โดยมีจุดสังเกตคือผู้ป่วยมักเป็นไซนัสอักเสบในฝั่งที่มีความผิดปกติเพียงข้างเดียว
  • การติดเชื้อที่ยาวนานเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุบวมและอักเสบมาก มูกข้นเหนียว

การวินิจฉัยไซนัสอักเสบ


แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบได้จากการซักประวัติ การตรวจร่างกายด้วยการกดที่ตำแหน่งไซนัส การส่องดูภายในโพรงจมูก และ นอกจากนั้นยังมีการส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT sinus screening) ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าการส่งตรวจเอกซเรย์ธรรมดาเป็นอย่างมาก


ไซนัสอักเสบรักษาอย่างไร?


ด้วยความที่กายวิภาคของไซนัสเป็นโพรงอากาศในกระดูกที่มีรูเปิดเพียงรูเดียว เปรียบเหมือนถ้ำที่มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว เมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในนั้น การระบายเอาเชื้อโรคออกจึงทำได้ยาก ทำให้มีแนวโนมที่จะติดเชื้อเรื้อรัง หายยาก ไซนัสอักเสบจึงต้องอาศัยการรักษาที่มากกว่าไข้หวัดธรรมดาทั่วไป โดยแพทย์เฉพาะทางสำหรับโรคนี้ คือ แพทย์หู คอ จมูก (Ear Nose Throat; ENT) ซึ่งแนวทางการรักษาโรคไซนัสอักเสบมีดังนี้


การล้างจมูก


การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยระบายมูกข้นเหนียวที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกและไซนัสออกมา เชื้อโรคและ/หรือสารก่อภูมิแพ้ก็จะถูกชะล้างไปด้วย จึงเป็นการรักษาทางกายภาพที่ตรงจุดและทำได้ง่าย ทำให้การอักเสบลดลง ผู้ป่วยรู้สึกโล่งสบายจมูกขึ้น แต่มีข้อควรระวังคือ


  • ต้องใช้อุปกรณ์ล้างจมูกและน้ำเกลือสำหรับทำความสะอาดที่ปลอดเชื้อ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • ใช้อุปกรณ์ที่ล้างสะอาด และแห้งสนิทแล้วเท่านั้น เพื่อไม่ให้มีการสะสมของเชื้อโรค
  • ไม่ใช้อุปกรณ์ล้างจมูกร่วมกับผู้อื่น แยกใช้ของใครของมันเท่านั้น
  • ควรล้างจมูกเฉพาะเมื่อมีอาการ เพราะการล้างจมูกบ่อยเกินไปอาจรบกวนการสร้างมูกที่ดีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

การรักษาด้วยยา


  1. ยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดน้ำมูก (antihistamines) ยาหดหลอดเลือด (decongestant) เพื่อลดการคัดจมูก เป็นต้น
  2. ยาปฏิชีวนะ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
  3. ยาลดการอักเสบ ในผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือยากิน
  4. หากมีการติดเชื้อราหรือมีความผิดปกติในโพรงจมูก การใช้ยาเพียงอย่างเดียวมักไม่ได้ผล จะต้องมีการรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย

การรักษาด้วยการผ่าตัด


ไซนัสอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา กลับเป็นซ้ำบ่อยครั้ง มีการติดเชื้อรา หรือมีสาเหตุจากภาวะผิดปกติในโพรงจมูก จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อแก้ไข โดยในปัจจุบันการผ่าตัดไซนัสด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีการผ่าตัดที่ได้ผลดี ปลอดภัย และใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก


การรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง


การผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอนโดสโคป (functional endoscopic sinus surgery; FESS) เป็นการส่องกล้องเข้าไปทางรูจมูก เพื่อผ่าตัดขยายรูเปิดไซนัสให้กว้างขึ้น ทำให้ระบายมูกออกไปได้ดี นอกจากนั้นยังสามารถผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ และแก้ไขความผิดปกติในโพรงจมูกที่เป็นสาเหตุของโรคได้ในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนี้จำเป็นต้องมีการวางยาสลบ แต่มีข้อดี คือ ไม่มีแผลผ่าตัดภายนอกให้เห็น เพราะเป็นการส่องกล้องเข้าไปทางรูจมูก


การป้องกัน


การป้องกันไซนัสอักเสบที่ดีที่สุด คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ หรือหากป่วยแล้วก็ให้พักผ่อนเพื่อดูแลรักษาให้หายเร็วที่สุด ไม่ฝืนร่างกาย หรือหักโหมทำงานจนปล่อยให้เป็นหวัดอยู่นาน โดยมีแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไซนัสอักเสบ ดังนี้


  1. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
  2. ล้างมือด้วยสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ
  3. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่
  4. หากเป็นภูมิแพ้ ควรพบแพทย์เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้และควบคุมอาการให้สงบโดยเร็วที่สุด
  5. เลี่ยงควันบุหรี่ มลภาวะ และฝุ่น PM2.5
  6. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เพื่อการขับมูกในโพรงไซนัสที่เป็นปกติ
  7. ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
  8. หากเป็นหวัดและมีอาการคัดจมูก ควรใช้ยาหดหลอดเลือด (decongestant) เพื่อลดการคัดจมูกแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดโอกาสการตีบตับของรูเปิดไซนัส
  9. หากอยู่ในห้องแอร์ทั้งวันทั้งคืน ควรระวังไม่ให้อากาศแห้งจนเกินไป

สรุป


ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย และหายช้ากว่าไข้หวัดทั่วไปอย่างมาก ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเฉียบพลันอาจเป็น ๆ หาย ๆ อยู่หลายครั้งในหนึ่งปี ในขณะที่ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรัง แม้ว่ามักจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า แต่ผู้ป่วยจะต้องทนกับอาการเช่นนั้นอยู่เป็นเดือน ๆ ไม่หายสักที การรักษาไซนัสอักเสบจึงต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ถูกต้อง และนำไปสู่การรักษาให้หายขาดได้ในที่สุด


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)


บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ รักษาใจเต้นผิดจังหวะ ให้กลับสู่ภาวะปกติ

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation) จะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่องจะช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับระดับปกติอีกครั้ง

รู้จัก ASD คืออะไร? ผนังหัวใจรั่วอาการเป็นแบบไหน รักษายังไงดี

ชวนรู้จัก ASD หรือ ภาวะผนังกั้นหัวใจรั่วคืออะไร ผนังหัวใจรั่ว อันตรายไหม? มาเช็กต้นตอสาเหตุ อาการของ ASD แนวทางการรักษา พร้อมวิธีดูแลให้หัวใจห้องบนแข็งแรง!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital