หัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เป็นภาวะที่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจถึงความรุนแรง และมักมองข้ามสัญญาณเตือนสำคัญที่อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพหัวใจ ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ หากไม่เฝ้าระวังและรักษาอย่างถูกต้อง จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรง
บทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ สาเหตุ การวินิจฉัย และการรักษาหัวใจล้มเหลว เพื่อช่วยให้สามารถเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพหัวใจได้อย่างถูกต้อง
สารบัญบทความ
- หัวใจล้มเหลวคืออะไร?
- หัวใจล้มเหลวแบ่งออกเป็นกี่ประเภท?
- หัวใจล้มเหลว มีอาการอย่างไร?
- สาเหตุของหัวใจล้มเหลว
- หัวใจล้มเหลววินิจฉัยอย่างไร?
- การรักษาหัวใจล้มเหลว
- การป้องกันหัวใจล้มเหลว
- สรุป
หัวใจล้มเหลวคืออะไร?
หัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ภาวะนี้อาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงหรือสูญเสียความสามารถในการทำงานตามปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในขณะที่หัวใจบีบตัว (systolic heart failure) หรือหัวใจคลายตัว (diastolic heart failure)
หัวใจล้มเหลวแบ่งออกเป็นกี่ประเภท?
- หัวใจล้มเหลวด้านซ้าย (Left-sided Heart Failure)เกิดจากการที่หัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ ทำให้เลือดคั่งในปอด ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก น้ำท่วมปอด
- หัวใจล้มเหลวด้านขวา (Right-sided Heart Failure):เกิดจากการที่หัวใจห้องล่างขวาไม่สามารถส่งเลือดไปปอดได้เพียงพอ ส่งผลให้เกิดการคั่งของเลือดในส่วนล่างของร่างกาย เช่น ขาและหน้าท้อง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาบวม ท้องบวม
- หัวใจล้มเหลวทั้งสองด้าน (Biventricular Heart Failure):เกิดจากการที่หัวใจทั้งสองด้านสูบฉีดเลือดผิดปกติ ทำให้มีน้ำคั่งทั่วร่างกาย
หัวใจล้มเหลว มีอาการอย่างไร?
อาการของหัวใจล้มเหลวเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ ทำให้เกิดความผิดปกติในระบบไหลเวียนโลหิตและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยอาการที่พบได้บ่อยของหัวใจล้มเหลว ได้แก่
- เหนื่อยง่ายผิดปกติ
- รู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นหรือเหนื่อยมากกว่าปกติขณะทำกิจกรรมที่เคยทำได้ เช่น เดินขึ้นบันได หรือออกกำลังกายเบา ๆ
- หายใจลำบาก
- รู้สึกหายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือเมื่อนอนราบ
- อาจตื่นกลางดึกด้วยอาการหายใจติดขัด (Paroxysmal Nocturnal Dyspnea)
- บวมตามร่างกาย
- ข้อเท้าและขาบวมเนื่องจากการคั่งของของเหลวในร่างกาย
- หน้าท้องบวมจากการคั่งน้ำในช่องท้อง
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ซึ่งเกิดจากการสะสมของของเหลวในร่างกาย โดยไม่มีการเพิ่มของไขมันหรือกล้ามเนื้อ
- ใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดปกติ
- รู้สึกหัวใจเต้นเร็วหรือแรงผิดปกติ บางครั้งอาจเต้นไม่สม่ำเสมอ
- อ่อนเพลียและไม่มีแรง
- เนื่องจากเลือดและออกซิเจนที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ
- เบื่ออาหารและคลื่นไส้
- การคั่งของของเหลวในช่องท้องอาจส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ
สาเหตุของหัวใจล้มเหลว
หัวใจล้มเหลวเกิดจากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
จากโรคหัวใจโดยตรง
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease): หลอดเลือดหัวใจที่อุดตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มที่
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy): กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงหรือหนาผิดปกติ อาจเกิดจากพันธุกรรม การติดเชื้อ หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ (Valvular Heart Disease): ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วทำให้เลือดไหลย้อนกลับ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia): หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ ซึ่งทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ
โรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อหัวใจ
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension): ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นและการทำงานของหัวใจแย่ลง
- โรคเบาหวาน (Diabetes): ระดับน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลต่อหลอดเลือดและหัวใจ โดยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหัวใจล้มเหลว
- โรคปอดเรื้อรัง (Chronic Lung Diseases): เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ทำให้การไหลเวียนเลือดระหว่างหัวใจและปอดผิดปกติ
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease): การทำงานผิดปกติของไตทำให้ของเหลวคั่งในร่างกายเพิ่มภาระให้หัวใจ
พฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
- การสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดอักเสบ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ ลดการไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป: แอลกอฮอล์ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ (Alcoholic Cardiomyopathy) และส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ
- การใช้สารเสพติด: สารเสพติดส่งผลของการทำงานของหัวใจ และทำให้เกิดปัญหาการไหลเวียนเลือด
- ความเครียดเรื้อรัง: ความเครียดมีผลต่อระบบประสาทและฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ
หัวใจล้มเหลววินิจฉัยอย่างไร?
การวินิจฉัยหัวใจล้มเหลวต้องอาศัยการประเมินอาการจากผู้ป่วย การตรวจร่างกาย และการทดสอบต่าง ๆ เช่น
- ประเมินอาการและประวัติการเจ็บป่วย: โดยผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม หรืออาการผิดปกติที่หัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก
- การตรวจร่างกาย: การฟังเสียงหัวใจเพื่อหาสัญญาณผิดปกติ เช่น เสียงน้ำในปอด หรือตรวจหาอาการบวมตามแขนขา
- การตรวจเลือด: เช่น การตรวจระดับ BNP หรือ N-terminal proBNP ที่สูงสามารถบ่งบอกถึงภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- เอกซเรย์ปอด: เพื่อดูน้ำในปอดหรือขนาดหัวใจที่ขยายใหญ่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG): เพื่อหาความผิดปกติในการเต้นของหัวใจ
- การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram): เป็นการตรวจที่สำคัญในการประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ รวมถึงการไหลเวียนของเลือด
- การตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม: ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจ MRI หรือ CT Scan เพื่อภาพที่หัวใจและหลอดเลือดชัดเจนมากขึ้น หรืออาจพิจารณาให้ตรวจสมรรถภาพการออกกำลังกายเพื่อประเมินดูระดับความรุนแรงของโรค
การรักษาหัวใจล้มเหลว
การรักษาหัวใจล้มเหลวจะเน้นการควบคุมอาการ ลดภาระการทำงานของหัวใจ และรักษาสาเหตุของโรค วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสภาพของผู้ป่วย ซึ่งแนวทางการรักษามีดังนี้
- การใช้ยา เช่น
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics): เพื่อลดภาวะน้ำคั่งในร่างกายและลดอาการบวม
- ยาควบคุมความดันโลหิต (ACE inhibitors, ARB, Beta-blockers): ช่วยลดความดันโลหิตและลดภาระการทำงานของหัวใจ
- ยารักษาการเต้นผิดจังหวะ (Anti-arrhythmic drugs): ใช้เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ
- ยาลดภาระการทำงานของหัวใจ (Aldosterone antagonists): ช่วยลดการกักเก็บน้ำและเกลือในร่างกาย
อย่างไรก็ตามการใช้ยาในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้นผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวไม่ควรปรับยาเอง
- การปรับพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต:
- ควบคุมอาหาร: ลดการบริโภคเกลือและไขมันสูง ซึ่งช่วยลดภาระของหัวใจ
- การออกกำลังกาย: ออกกำลังกายเบา ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย
- การเลิกสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์: การหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวที่รุนแรงขึ้น
- การใช้เครื่องช่วยการทำงานของหัวใจ เช่น
- เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker): ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า
- เครื่องกระตุ้นหัวใจ (CRT): ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวประสานกันดีขึ้น
- เครื่องช่วยการทำงานของหัวใจ (ICD): สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือหัวใจหยุดเต้น
- หัวใจเทียม (VADs): ใช้ในกรณีที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอ
- การผ่าตัดและปลูกถ่ายหัวใจ
- การผ่าตัดลิ้นหัวใจ: ใช้ในกรณีที่มีภาวะลิ้นหัวใจรั่วหรือลิ้นหัวใจตีบ
- การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (CABG): ใช้ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ
- การปลูกถ่ายหัวใจ (Heart Transplantation): ใช้ในกรณีที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและไม่ได้ผลจากการรักษาอื่น ๆ
การรักษาหัวใจล้มเหลวจำเป็นต้องมีการประเมินและการจัดการอย่างรอบคอบ เพื่อให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรคและสภาพของผู้ป่วย เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
การป้องกันหัวใจล้มเหลว
การป้องกันหัวใจล้มเหลวสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและส่งเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง ซึ่งสามารถทำได้โดย
- ดูแลสุขภาพหัวใจ
- ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- รักษาระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่ส่งผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือด
- ลดการบริโภคแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์
- ปรับปรุงการรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียม (เกลือ) สูง
- เพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ ธัญพืช และโปรตีนไขมันต่ำ
- การออกกำลังกาย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็วหรือว่ายน้ำ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
- ตรวจหัวใจและตรวจสุขภาพทั่วไปตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- จัดการความเครียด
- ฝึกการผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิหรือโยคะ เพื่อควบคุมความดันโลหิตและส่งเสริมสุขภาพหัวใจ
สรุป
หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และเบาหวาน การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
การป้องกันหัวใจล้มเหลวทำได้โดยปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ควบคุมอาหาร ลดเกลือ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และเลิกสูบบุหรี่ หากคุณมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่ามีอาการที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการดูแลที่เหมาะสม และเป็นการส่งเสริมสุขภาพหัวใจและคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง
- แพ็กเกจตรวจคัดกรองอาการใจสั่น พร้อมติดเครื่อง Holter Monitoring
- แพ็กเกจตรวจคัดกรองอาการใจสั่น พร้อมติดเครื่อง EVENT Recorder
- โปรแกรมตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test)
- โปรแกรมตรวจคัดกรองหลอดเลือดหัวใจและตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ (Calcium Score & Exercise Stress Test)
- โปรแกรมตรวจสุขภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiogram)
- โปรแกรมตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Score)
- แพ็กเกจตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง