“กินอาหารเช่นไร ได้สุขภาพเช่นนั้น” ยิ่งถ้าเป็นในกลุ่มของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังแล้ว การเลือกวัตถุดิบมาทำอาหารให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้อาการป่วยแย่ลง ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ
เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังเป็นภาวะที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ เพราะไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้เหมือนเดิม หากมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมแล้ว ก็อาจส่งผลให้ไตต้องทำงานหนักแล้วมีอาการทรุดลงได้ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจึงควรเรียนรู้ว่าอาหารชนิดไหนทานได้ อาหารชนิดไหนควรหลีกเลี่ยง
ในบทความนี้เราจะมากล่าวถึงอาหารผู้ป่วยโรคไต เพื่อที่จะได้เลือกรับประทานอาหารในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม และถือเป็นการบำบัดโรคด้วยอาหาร ช่วยชะลอความเสื่อมของไตลงได้
ปรึกษาอาการเบื้องต้นได้เลย เพื่อสุขภาพของคุณ
อาหารผู้ป่วยโรคไต แบบไหนควรกิน แบบไหนควรหลีกเลี่ยง
ผู้ป่วยโรคไตควรพบแพทย์และใช้หลักการของอาหารบำบัดที่เหมาะสม โดยในแต่ละมื้อควรมีอาหารที่หลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดการสะสมของเสียในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้ไตต้องทำงานหนักและอาจเร่งให้ไตเสื่อมเร็วมากขึ้นกว่าเดิม
การพิจารณาอาหาร ว่าอาหารชนิดใดเป็นอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง และอาหารชนิดใดเป็นอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรรับประทาน สามารถพิจารณาจากหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้
- อาหารผู้ป่วยโรคไตทั้ง 3 มื้อ ควรประกอบไปด้วยสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ ข้าว / แป้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ น้ำมัน และต้องได้รับพลังงานเพียงพอ
- ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้เหมาะสม เพื่อควบคุมโรคแทรกซ้อนที่มีผลกระทบต่อไต ได้แก่ การลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม
- โปรตีน
แนะนำ : ปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมในอาหารผู้ป่วยโรคไตนั้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรคไต ดังนี้
นอกจากนี้ ควรเลือกใช้วัตถุดิบที่มีโปรตีนคุณภาพสูงในการประกอบอาหารผู้ป่วยโรคไต เช่น เนื้อปลา (เนื่องจากมีไขมันต่ำ และมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง) ไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อไก่ (ไม่ติดหนัง) นมไขมันต่ำ เป็นต้น
หลีกเลี่ยง : การรับประทานโปรตีนมากเกินไป ควรควบคุมปริมาณเนื้อสัตว์ในอาหารผู้ป่วยโรคไตให้เหมาะสม เนื่องจากเนื้อสัตว์มีปริมาณโปรตีนสูง จะทำให้ไตทำงานหนักและเกิดปริมาณของเสียสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
- คาร์โบไฮเดรต
แนะนำ : อาหารผู้ป่วยโรคไต ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องการจำกัดโปรตีนมาก ๆ อาจต้องใช้แป้งปลอดโปรตีน เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ เพิ่มเติมจากข้าวได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย ควรเลือกใช้น้ำตาลเทียมแทน
หลีกเลี่ยง : ข้าวเจ้า ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี ถึงแม้จะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย แต่ในแป้งเหล่านี้ยังมีโปรตีนอยู่บ้าง ทำให้อาจจะได้รับโปรตีนมากเกินไปได้
- ไขมัน
แนะนำ : น้ำมันชนิดที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันถั่วเหลือง
หลีกเลี่ยง : อาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารทะเล อาหารฟาสต์ฟู้ด ไข่แดง เครื่องในสัตว์ และไขมันอิ่มตัวจากพืชและสัตว์ เช่น กะทิ น้ำมันปาล์ม มันหมู รวมถึงไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียม เนยขาว ที่อยู่ในในเบเกอรี่ต่าง ๆ
- โซเดียม
แนะนำ : ในอาหารผู้ป่วยโรคไตทุกระยะ ควรจำกัดปริมาณโซเดียมที่ใช้คือ ประมาณ 2-3 กรัม/วัน โดยควรลดปริมาณซีอิ๊วปรุงอาหารลงให้เหลือประมาณ 3 ช้อนชาต่อวัน
หลีกเลี่ยง : อาหารรสเค็มจัด รวมถึงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารตากแห้งต่าง ๆ และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ไส้กรอก แฮม เบคอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เป็นต้น
เนื่องจากการกะปริมาณความเค็มตามความรู้สึก อาจทำให้เราได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว ก่อนหาซื้อหรือเริ่มปรุงอาหารผู้ป่วยโรคไต จึงควรศึกษาข้อมูลปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทต่าง ๆ เพิ่มเติม หากเป็นอาหารที่มีฉลาก ควรตรวจสอบปริมาณโซเดียมจากฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง
** ชอบกินเค็ม จะเป็นโรคไตหรือไม่? >> แนะนำแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต
- โพแทสเซียม
ในผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 4-5 มักเกิดปัญหาโพแทสเซียมในเลือดเกิน จึงควรจำกัดการบริโภคโพแทสเซียม ส่วนผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ทำการบำบัดทดแทนไตแล้ว การจำกัดปริมาณโพแทสเซียมขึ้นกับชนิดของการบำบัดทดแทนไต ให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเป็นราย ๆ ไป
แนะนำ : ผักที่มีปริมาณโพแทสเซียมไม่สูงนัก ได้แก่ ฟักเขียว บวบ แตงกวา มะเขือยาว เป็นต้น
หลีกเลี่ยง : อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผักสีเขียวเข้มหรือสีเหลืองเข้ม ได้แก่ บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง
นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้โพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบในสารปรุงแต่งอาหารหลายชนิด เช่น ด่างที่ใช้ใส่ในแป้งบะหมี่และแป้งเกี๊ยว เพื่อให้แป้งมีลักษณะเหนียว รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบรรจุซองด้วย
- ฟอสฟอรัส
ในผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 4-5 รวมถึงผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกไต ควรจำกัดปริมาณการบริโภคฟอสฟอรัส
แนะนำ : อาหารที่ฟอสฟอรัสต่ำ เช่นไข่ขาว
หลีกเลี่ยง : อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ไข่แดง นมทุกรูปแบบรวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง เมล็ดพืช (เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน) อาหารที่ใช้ยีสต์และใช้ผงฟูเพราะมีฟอสเฟตสูง เช่น ขนมปังปอนด์ ซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท เค้ก คุ้กกี้
- กรดยูริก
แนะนำ : ควรรับประทานอาหารไขมันต่ำ เพราะอาหารที่มีไขมันสูงทำให้กรดยูริกนั้นขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะได้ไม่ดี
หลีกเลี่ยง : อาหารที่มีพิวรีนมาก เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ปีกสัตว์ น้ำสกัดจากเนื้อสัตว์ ยอดผักอ่อน (เช่นยอดตำลึง ยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง)
- เครื่องเทศ
แนะนำ : ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องจำกัดปริมาณโซเดียมต่ำมาก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง แนะนำให้ใช้เครื่องเทศ และสมุนไพร เป็นตัวแต่งกลิ่นอาหารเพื่อให้อาหารมีกลิ่น และรสชาติที่น่ารับประทานมากขึ้น เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ใบโหระพา ข่า ใบแมงลัก ตะไคร้ เป็นต้น
หลีกเลี่ยง : การใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูง
- น้ำ
แนะนำ : น้ำเปล่า ถือเป็นสิ่งที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด หรือหากต้องการดื่มน้ำสมุนไพร ต้องเป็นน้ำที่ไม่หวานจัด เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น
หลีกเลี่ยง : หากเป็นไตวายระยะสุดท้ายที่มีปัสสาวะออกลดลงหรือมีอาการบวม ต้องจำกัดน้ำดื่ม ไม่ให้เกิน 700 – 1,000 ซีซี ต่อวัน เพราะความสามารถในการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคไตในระยะท้ายนั้นจะลดลง อาจกระตุ้นอาการบวมน้ำและน้ำท่วมปอดได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้อาหารเหล่านี้จะเป็นอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังควรรับประทาน แต่ก็ไม่ควรที่จะทานในปริมาณที่มากจนเกินไป ควรรักษาสมดุลของอาหารในแต่ละมื้อ รับประทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารที่หลากหลายมากขึ้น
7 ตัวอย่างเมนู อาหารผู้ป่วยโรคไต
สำหรับมือใหม่ที่ต้องดูแลผู้ป่วย (หรืออาจจะทำให้ตัวเองรับประทานเอง) อาจจะรู้สึกยุ่งยากในช่วงเริ่มต้นใหม่ ๆ เพราะดูเหมือนจะมีข้อจำกัดมากมายเต็มไปหมด แต่ที่จริงแล้ว เราสามารถสร้างสรรค์เมนูอาหารผู้ป่วยโรคไต กินได้ได้หลากหลาย แต่อาจจะนำมาอธิบายได้ไม่หมดในคราวเดียว จึงขอยกตัวอย่างแนวทางง่าย ๆ ในการสร้างสรรค์เมนูอาหารผู้ป่วยโรคไต ดังนี้
1. ต้มฟักน่องไก่: เหตุผลที่ใช้น่องไก่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหารผู้ป่วยโรคไต เพราะเราต้องหลีกเลี่ยงส่วนของเนื้อสัตว์ที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในและส่วนปีกสัตว์ปีก นอกจากนี้ยังต้องเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมันอีกด้วย
2. ผัดบวบใส่ไข่: เป็นอีกเมนูอาหารผู้ป่วยโรคไตที่ทำง่าย รสชาติอร่อย (อะไรใส่ไข่ก็อร่อย) เหตุผลที่เลือกใช้บวบ เพราะเป็นผักที่มีโพแทสเซี่ยมต่ำ มีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ใช้น้ำมันน้อย ๆ อาจปรุงรสได้บ้าง แต่ให้จำกัดปริมาณเครื่องปรุงแต่พอดี
3. มะระผัดไข่: มะระจีน คนเป็นโรคไตสามารถรับประทานได้ แต่ตอนผัดอย่าเผลอใส่น้ำมันและเครื่องปรุงรสมากเกินไป
4. แกงส้ม: หลายคนอาจกังวลว่าแกงส้มไม่เหมาะจะเป็นอาหารผู้ป่วยโรคไต เพราะน่าจะมีรสจัด กลัวว่าจะมีโซเดียมสูงเกินไปหรือไม่? แต่แน่นอนว่าเมนูนี้ เราแนะนำให้ปรุงรสให้กลมกล่อมก็พอ ไม่ต้องหนักมือมาก ที่สำคัญ ต้องงดใส่กะปิ และผงชูรสโดยเด็ดขาด และเลือกใช้เฉพาะผักที่มีสีขาวหรือสีอ่อน (โพแทสเซี่ยมต่ำ) อย่างเช่น ผักกาดขาว ฟัก ข้าวโพดอ่อน เป็นต้น
5. ต้มจืดตำลึงหมูสับ: เป็นเมนูอาหารผู้ป่วยโรคไตที่ตัดเลี่ยนได้ดี เหมาะกับหลายโอกาส หากต้องการให้อยู่ท้องหน่อย อาจใส่วุ้นเส้นเข้าไปในต้มจืด หรือผสมวุ้นเส้นกับหมูสับที่ปั้นเป็นก้อนก็ได้ มีข้อแม้ว่าห้ามใส่ผักชี (เพราะมีโพแทสเซียมสูง) และผงชูรส
6. ถั่วงอกผัดเต้าหู้และเห็ดหูหนู: ถั่วงอกเป็นผักสีขาวที่มีโพแทสเซียมต่ำ ส่วนเต้าหู้ ให้เลือกใช้เต้าหู้แข็งขาว ในปริมาณ ½ ก้อน จะให้ปริมาณฟอสฟอรัสไม่สูงเกินไป ส่วนเห็ดหูหนูนั้น มีค่าโพแทสเซียมต่ำมากในบรรดาเห็ดต่าง ๆ แถมยังมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย เหมาะกับใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารผู้ป่วยโรคไตจริง ๆ
7. ผัดกะเพราไก่: พยายามปรุงรสให้เบามือ และห้ามใส่ถั่วฝักยาว เนื่องจากเป็นผักที่มีโพแทสเซียมสูง นอกจากนี้ ให้ระวังการใช้ส่วนอกไก่ที่มีโปรตีนสูง และส่วนปีกไก่ที่มีพิวรีนสูง
ให้พิจารณาจากเมนูอาหารและแนวทางต่าง ๆ ที่นำเสนอมานี้ เพื่อความเข้าใจในการเลือกวัตถุดิบและการปรุงอาหารผู้ป่วยโรคไต
ผู้ป่วยโรคไตควรงดอาหารเค็มจริงหรือไม่ ?
“กินเค็มมาก! เดี๋ยวก็เป็นโรคไตหรอก”… เป็นสิ่งที่เรามักจะได้ยินมาโดยตลอด
โดยปกติแล้วไตจะสามารถทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ให้สมดุลได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าหากเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงไม่สามารถควบคุมปริมาณเกลือแร่ให้สมดุลได้
ผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องปรุงอาหารที่มีรสเค็ม อย่างเกลือและน้ำปลา แต่นั่นอาจจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะจริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้ไตต้องทำงานหนักนั้นคือ โซเดียม ซึ่งเป็นเกลือแร่ที่แฝงอยู่ในอาหารต่าง ๆ มากมายในชีวิตประจำวัน
เนื่องจากอาหารรสเค็มส่วนใหญ่มักจะมีโซเดียมในปริมาณที่สูง จึงอาจพอสรุปได้ว่า ถ้าต้องการลดโซเดียมในอาหาร การลดเค็ม ถือเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดในทางปฏิบัติ แต่การเตรียมอาหารผู้ป่วยโรคไต ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องระวัง เพราะโซเดียมไม่ได้มีอยู่แต่ในอาหารที่มีรสเค็มเท่านั้น
โซเดียม ไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติเค็ม
ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนั้น ไตจะไม่สามารถควบคุมปริมาณเกลือแร่ให้สมดุลได้ ทำให้ไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้ จึงเกิดโซเดียมสะสมในเลือดสูง ทำให้มีอาการบวม เป็นความดันโลหิตสูงและโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ส่งผลให้เนื้อไตถูกทำลายมากขึ้นกว่าเดิม เราจึงต้องควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารผู้ป่วยโรคไต ไม่ให้สูงเกินมาตรฐานที่กำหนด
นอกจากนี้ เครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหาร ก็เป็นอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณที่สูง เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในซอสปรุงรส ซีอิ้วขาว ผงชูรส ซุปก้อน น้ำจิ้มต่าง ๆ ขนมถุง อาหารแปรรูป เช่น แฮม เบคอน อาหารหมักดอง รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกด้วย
เมื่อพูดถึงในอาหารผู้ป่วยโรคไต หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงกันแต่อาหารที่มีรสเค็มเพียงอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้ว อาหารที่ไม่มีรสเค็มหลาย ๆ อย่างก็มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบในสัดส่วนที่สูง อย่างเช่น ขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ และแพนเค้ก ก็ใช้ผงฟู ซึ่งใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) เป็นองค์ประกอบ เมื่อกินเข้าไปแล้ว ทำให้ได้รับโซเดียมไม่ต่างจากการกินเค็มเลยทีเดียว
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของอาหารผู้ป่วยโรคไตเท่านั้น ที่เราควรเอาใจใส่ใจเป็นอย่างดี เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก ที่อาจส่งผลให้ไตทำงานหนักได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- การขาดการออกกำลังกาย เพราะว่าการขาดการออกกำลังกายนั้นอาจจะเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ ซึ่งโรคเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบต่อไตให้เสื่อมเร็วขึ้นได้เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมออกกำลังกายหนักเกินไปอีกด้วย
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อร่างกายทำงานหนักจนเกิดความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อไตเช่นกัน
จะเห็นว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง ซึ่งถ้าผู้ป่วยโรคไตนั้นสามารถทำควบคู่ไปกับการเลือกอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย ก็จะทำให้ส่งผลดีต่อไตมากขึ้น
ผู้ป่วยโรคไต ควรเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่าง แถมยังต้องอยู่กับพฤติกรรมใหม่ไปอีกยาวนาน เราจึงแนะนำให้ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรม อย่าหักโหมหรือใช้วิธีหักดิบ เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัดเปล่า ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของอาหารผู้ป่วยโรคไต แม้จะมีสิ่งที่ควรเลี่ยงอยู่บ้าง แต่หลักสำคัญนั้นไม่ใช่ให้เลิกกินอาหารทุกประเภทที่เป็นข้อห้ามทั้งหมด แต่เป็นการจำกัดสารอาหารเหล่านั้นให้มีปริมาณน้อย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น เนื้ออกไก่ มีโปรตีนสูง ผู้ป่วยโรคไตอาจรับประทานได้ แต่ต้องกินแต่น้อย หรือเต้าหู้ ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ (เพราะทำมาจากถั่วเหลือง) ก็ให้เราจำกัดปริมาณเต้าหู้ที่กิน โดยศึกษาคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ เป็นต้น
ในช่วงแรกอาจจะทดลองปรุงอาหารผู้ป่วยไตตามเมนูแนะนำนี้ก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนหรือสร้างสรรค์โดยพิจารณาเกณฑ์ในการเลือกอาหารจากหัวข้อ “อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรรับประทาน และควรหลีกเลี่ยง” ร่วมด้วย
สรุป
การเลือกอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยต้องเริ่มปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ตั้งแต่ตรวจพบว่าเป็นโรค โดยอาจให้คนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการควบคุมอาหาร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อความต่อเนื่องในการวางแผนรักษา หรือการพบนักโภชนาการเพื่อช่วยกันวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อชะลอความเสื่อมของไตลงได้
โดยทางสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในแต่ละด้าน มีความพร้อมที่จะดูแลและรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องไตเป็นอย่างดี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโรคไต และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังนั้นดีขึ้นได้อีกด้วย
อ้างอิง